ข้ามไปเนื้อหา

หมึกฮัมโบลต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หมึกฮัมโบลด์)
หมึกฮัมโบลต์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
ชั้นย่อย: Coleoidea
อันดับ: Teuthida
วงศ์: Ommastrephidae
วงศ์ย่อย: Ommastrephinae
สกุล: Dosidicus
Steenstrup, 1857
สปีชีส์: D.  gigas
ชื่อทวินาม
Dosidicus gigas
(D'Orbigny, 1835 in 1834-1847)
ชื่อพ้อง[1]
  • Ommastrephes gigas D'Orbigny, 1835 in 1834-1847
  • Dosidicus eschrichtii Steenstrup, 1857
  • Ommastrephes giganteus D'Orbigny, 1839-1842 in Férussac and D'Orbigny, 1834-1848
  • Dosidicus steenstrupii Pfeffer, 1884
  • Sepia nigra Bosc, 1802
  • Sepia tunicata Molina, 1782
การจับหมึกฮัมโบลต์ที่ชิลี

หมึกฮัมโบลต์, หมึกจัมโบ หรือ หมึกบินจัมโบ (อังกฤษ: Humboldt squid, jumbo squid, flying jumbo squid) หรือ เดียโบลโรโฆ (สเปน: diablo rojo, "ปีศาจแดง")[2]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Dosidicus gigas) เป็นหมึกประเภทหมึกกล้วยชนิดหนึ่ง เป็นหมึกกล้วยที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดเป็นหมึกเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Dosidicus[1]

หมึกฮัมโบลต์มีความยาวได้ถึง 9 ฟุต มีน้ำหนักได้ถึง 150 ปอนด์ มีรูปร่างเพรียวยาว อ้วนป้อมออกด้านข้าง มีหนวดทั้งสิ้น 8 หนวด โดยมี 2 เส้นยาว ที่มีอวัยวะเหมือนฟันแหลมคมข้าง ๆ ปุ่มดูด ซึ่งมีไว้สำหรับจับและฉีกอาหาร มีดวงตากลมโตขนาดใหญ่

หมึกฮัมโบลต์กระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก ตั้งแต่อเมริกาเหนือ เช่น ออริกอน, วอชิงตัน, บริติชโคลัมเบีย และอะแลสกา จนถึงอเมริกากลาง เช่น ทะเลกอร์เตซ จนถึงอเมริกาใต้ เช่น เปรู ชิลี[3][4] [5]

หมึกฮัมโบลต์สามารถว่ายน้ำได้เร็ว 24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยวิธีการพ่นน้ำและใช้ครีบ สามารถเดินหน้าและถอยหลังได้ อีกทั้งสามารถเปลี่ยนสีลำตัวได้ตลอดเวลาตั้งแต่สีขาวจนถึงแดงเข้ม และดำน้ำได้ลึกถึง 1,000 ฟุต เพื่อพักผ่อน ย่อยอาหาร และหลบเลี่ยงสัตว์นักล่า[6]

มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ออกหากินบริเวณกลางน้ำทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ออกหากินตลอดเวลา จะกินอาหารทุกที่เมื่อสบโอกาส ถือเป็นสัตว์ที่ต้องการแคลอรีมากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเล มีพฤติกรรมแย่งอาหาร และกินแม้แต่พวกเดียวกันเอง เมื่อชาวประมงจับหมึกฮัมโบลต์ได้ ตัวแรกจะถูกหั่นออกเป็นชิ้น ๆ แล้วโยนลงทะเล เพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อหมึกตัวอื่น ๆ ให้ตามมา เมื่อหมึกตัวหนึ่งจับอาหารได้จะพ่นหมึกออกมา หมึกตัวอื่น ๆ ก็จะเข้ามารุมล้อมแย่งกิน และเมื่อจับอาหารได้ชิ้นใหญ่กว่าปากของตัวเอง จะใช้หนวดดูดและใช้ปากที่แหลมคมเหมือนปากนกแก้ว ฉีกอาหารเป็นชิ้น ๆ ให้พอกับคำ [6]

หมึกฮัมโบลต์เมื่อแรกเกิดมีความยาวเพียง 1.8 นิ้ว แต่สามารถโตได้ถึง 7 ฟุต ด้วยเวลาเพียง 2 ปี นับว่าเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมากชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์ทั้งหมด แต่อายุขัยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด คาดว่าประมาณ 1-2 ปี[6]

หมึกฮัมโบลต์นับว่าเป็นสัตว์นักล่าที่สมบูรณ์แบบมากชนิดหนึ่งในทะเล เป็นสัตว์ที่ฉลาดและคล่องแคล่วว่องไว อีกทั้งมีหนวดที่แข็งแรงและแหลมคมเป็นอาวุธ ถือเป็นสัตว์ทะเลอีกชนิดหนึ่งที่สามารถทำร้ายโจมตีมนุษย์ได้ สามารถใช้หนวดดึงบ่าของนักประดาน้ำให้หลุดและลากลงไปในที่ลึกได้ หากสวมชุดประดาน้ำแบบธรรมดาไม่มีเครื่องป้องกันแบบเดียวกับเครื่องป้องกันปลาฉลาม จะถูกทำอันตรายจากปากและหนวดได้เหมือนกับการกัดของสุนัขขนาดใหญ่อย่างเยอรมันเชเพิร์ด จนมีเรื่องเล่าขานกันในหมู่ชาวประมงแถบทะเลกอร์เตซว่าหมึกฮัมโบลต์ทำร้ายและกินมนุษย์เป็นอาหาร[6] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009 มีนักประดาน้ำ 3 คน เสียชีวิตในทะเลกอร์เตซ โดยศพถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งพบว่าชุดประดาน้ำฉีกขาด และเปื้อนไปด้วยหมึก และภายหลังพิสูจน์ว่าเป็นหมึกจากหมึกฮัมโบลต์[7]

หมึกฮัมโบลต์จัดเป็นหมึกอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานและบริโภคกันอย่างมากเช่นเดียวกับหมึกและมอลลัสคาชนิดอื่น ๆ มีมูลค่าในการตลาดสูงมาก โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย มีอัตราการส่งออกสูงถึง 500,000 ตัน ในแต่ละปี[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 จาก itis.gov
  2. Floyd, Mark (June 13, 2008). "Scientists See Squid Attack Squid". LiveScience. สืบค้นเมื่อ October 25, 2011.
  3. "Humboldt squid Found in Pebble Beach (2003)". Sanctuary Integrated Monitoring Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-07. สืบค้นเมื่อ 2011-10-25.
  4. Zeidberg, L. & B.H. Robinson 2007. Invasive range expansion by the Humboldt squid, Dosidicus gigas, in the eastern North Pacific เก็บถาวร 2008-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. PNAS 104(31): 12948–12950.
  5. Blumenthal, Les (April 27, 2008). "Aggressive eating machines spotted on our coast (2008)". The News Tribune. สืบค้นเมื่อ 2011-10-25.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Squid, "Rouge Nature With Dave Salmoni" โดย อนิมอลพลาเน็ต สารคดีทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 25 ธันวาคม 2555
  7. ปลาหมึกยักษ์ฮัมโบลต์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Dosidicus gigas ที่วิกิสปีชีส์