ข้ามไปเนื้อหา

สุสานบ้านพรุ

พิกัด: 6°57′30″N 100°28′32″E / 6.9583506°N 100.475493°E / 6.9583506; 100.475493
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุสานบ้านพรุ
ศาลาขุนนิพัทธ์จีนนครอนุสรณ์ เป็นซุ้มศาลาเก่าแก่ที่ตั้งอยู่คู่กับสุสานมาอย่างยาวนาน
รายละเอียด
ก่อตั้ง
  • มูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา พ.ศ. 2482
  • มูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง พ.ศ. 2511
ที่ตั้ง
ประเทศประเทศไทย
ชนิดสุสานจีน
รูปแบบมูลนิธิ
เจ้าของ
  • มูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา
  • มูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง
ขนาด532,800 ตร.ม. (333 ไร่)
หมายเหตุสุสานจีนที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

สุสานบ้านพรุ หรือ สุสานจีนบ้านพรุ หรือ เปรวจีนบ้านพรุ ในชื่อท้องถิ่น เป็นสุสานจีนที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย[1] มีขนาดประมาณ 333 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งห่างจากตัวเมืองชั้นในเทศบาลนครหาดใหญ่ไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร สุสานแห่งนี้ประกอบด้วย 2 กรรมสิทธิ์แบ่งเป็นสุสานของมูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา จำนวน 211 ไร่ และสุสานของมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง (มูลนิธิมิตรภาพสามัคคี) จำนวน 122 ไร่ ซึ่งมีการใช้แนวรั้วและแนวถนนด้วยกัน แต่มีการจัดการสุสานแยกออกจากกัน

สุสานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกจากบริจาคที่ดินจำนวน 180 ไร่ โดยขุนนิพัทธ์จีนนคร เมื่อปี พ.ศ. 2482[2] เพื่อเป็นสถานที่ฌาปนกิจชาวจีนที่เป็นแรงงานสร้างทางรถไฟสายใต้ ซึ่งได้เข้ามาตั้งรกรากในอำเภอหาดใหญ่ โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 เป็นต้นมา มีการสร้างตัดถนนและชุมชนติดต่อกับสถานีชุมทางหาดใหญ่ ซึ่งขยายตัวไปทางทิศตะวันออก ทำให้ประชากรชาวไทยเชื้อสายจีนค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น[3] สุสานแห่งนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญที่รองรับการฌาปนกิจชาวจีนทั้งหมดในยุคนั้น โดยขุนนิพัทธ์ได้เลือกที่ตั้งในการทำสุสานที่ห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ไปทางใต้ คือบริเวณเทศบาลบ้านพรุในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นก็มีชุมชนของคนในพื้นที่เดิมอาศัยอยู่แล้ว กรรมสิทธิ์ที่ดินที่บริจาคโดยขุนนิพัทธ์ปัจจุบันดูแลโดยมูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา ในขณะที่มูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง ได้เข้ามาเปิดสุสานเมื่อปี พ.ศ. 2511 ต่อเนื่องกับสุสานเดิมทางทิศใต้

บริเวณหลุมศพเก่าในช่วงแรก ๆ ของการเปิดสุสานของมูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา ถือเป็นโซนหนึ่งที่มีรูปแบบของการตกแต่งป้ายหลุมหลากหลายมากที่สุดในภาคใต้ แตกต่างจากในปัจจุบันที่พบว่ามีการทำป้ายหลุมฮวงซุ้ยที่คล้าย ๆ กัน โดยภายในโซนหลุมเก่านี้ประกอบด้วยรูปแบบจีนมีสถูปพุทธ รูปแบบคริสตัง และรูปแบบหลุมหินเรียงก่อ ปัจจุบันหลุมศพเก่าจำนวนหลายหลุมได้ถูกทิ้งร้างและไม่ได้รับการเข้าไปดูแลรักษา

ในเวลาต่อมาเมื่อหาดใหญ่ได้ยกระดับเป็นเทศบาลนครหาดใหญ่และบ้านพรุได้ยกระดับเป็นเทศบาลเมืองบ้านพรุ ทำให้มีชุมชน โรงงาน และโกดังสินค้า เข้ามาตั้งใกล้กับสุสานมากขึ้นตลอดแนวถนนเพชรเกษม ซึ่งเชื่อมต่อไปยังด่านพรมแดนสะเดา ประเทศมาเลเซียได้ ทำให้สุสานกลายเป็นที่เปิดโล่งขนาดของเทศบาลเมืองบ้านพรุ ปัจจุบันทางมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊งจึงได้เปิดให้คนภายนอก โดยเฉพาะประชาชนในเทศบาลเมืองบ้านพรุ เข้ามาใช้งานในเชิงกิจกรรมนันทนาการ โดยมีการเปิดไฟในช่วงเย็นจนถึง 20.00 น.[4]

ที่ตั้ง

[แก้]

สุสานบ้านพรุตั้งอยู่ติดกับถนนสายหลักคือถนนเพชรเกษม การใช้งานที่ดินโดยรอบสุสานประกอบด้วยที่อยู่อาศัยปานกลางจนถึงหนาแน่นมาก สำนักเทศบาลเมืองบ้านพรุ ไปรษณีย์บ้านพรุ ตลาดสดบ้านพรุ โรงเรียน วัด โรงงาน โกดังเอกชน มีอาณาเขตโดยรอบโครงการดังต่อไปนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับโกดังสินค้าบริษัท ดีเอส หาดใหญ่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับสวนยางพาราและโรงเรียนสานฝันมูลนิธิ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับวัดป่าแสงธรรม ที่ดินเปล่า และโกดังบริษัทเอส-2000
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับถนนเพชรเกษม ฝั่งตรงข้ามถนนเป็นชุมชน

ภูมิลักษณะบริเวณที่ตั้งสุสาน

[แก้]

ลักษณะกายภาพบริเวณพื้นที่สุสานบ้านพรุ เป็นที่ราบเชิงเขาของแอ่งหาดใหญ่ โดยมีลักษณะค่อย ๆ ลาดต่ำจากทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นภูเขาเตี้ย ลงไปทางทิศตะวันตกที่เป็นที่ต่ำกว่า จนจดคลองอู่ตะเภา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 13.00 เมตร และสูงสุดประมาณ 56.00 เมตร ด้วยเหตุนี้ทางฝั่งทิศตะวันตกของสุสานจึงเป็นจุดที่สามารถเห็นทัศนียภาพแนวเทือกเขาฝั่งตรงข้ามได้อย่างชัดเจนตามภูมิลักษณะในรูปแบบแอ่ง นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นอาคารสูงจากตัวเมืองหาดใหญ่ชั้นในทางทิศเหนือได้อีกด้วย

ด้วยระยะทางจากสุสานที่ห่างจากคลองอู่ตะเภากว่า 1.85 กิโลเมตร รวมถึงความสูงของภูมิลักษณะบริเวณพื้นที่สุสาน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมหลากจากคลองอู่ตะเภา[5] สอดคล้องกับการวางสุสานตามหลักชัยภูมิฮวงจุ้ย ที่กล่าวว่าพื้นที่สุสานน้ำต้องไม่ท่วมถึง เนื่องจากจะทำให้ศพในโลงศพเน่าเปื่อยได้ ส่งผลกระทบต่อบรรพชน

ทัศนียภาพจากสุสานบ้านพรุ ในปี พ.ศ. 2563

ประวัติสุสาน

[แก้]
โซนป้ายหลุมศพรุ่นเก่าในช่วงยุคแรก ๆ ของสุสาน

ในอดีตบริเวณพื้นที่สุสานบ้านพรุปัจจุบัน เป็นสวนยางพาราเก่าซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านพรุ จนเมื่อขุนนิพัทธ์จีนนครได้เข้ามาซื้อที่ดิน แล้วบริจาคเป็นสถานที่สำหรับการฌาปนกิจชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในหาดใหญ่ ซึ่งมีมูลเหตุมาจากการสร้างทางรถไฟสายใต้จนเมื่อมาสิ้นสุดบริเวณสถานีชุมทางหาดใหญ่ ซึ่งเป็นชุมทางหลักของภาคใต้ แรงงานชาวจีนส่วนใหญ่จึงเลือกมาปักหลักตั้งถิ่นฐานที่อำเภอหาดใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นเป็นชุมชนขนาดเล็ก ในเวลานั้นขุนนิพัทธ์จีนนคร หัวหน้าแรงงานชาวจีน ได้เป็นผู้สร้างถนนนิพัทธ์อุทิศ 1,2,3 ในรูปแบบกริดตารางขนานไปกับสถานีชุมทางหาดใหญ่ทางทิศตะวันออก เมื่อปี พ.ศ. 2459 ทำให้เกิดการสร้างตึกแถวพาณิชยกรรมตลอดแนวถนนทั้ง 3 สายนี้ อันเป็นการบุกเบิกพัฒนาเมืองหาดใหญ่ที่สำคัญ ทำให้หาดใหญ่กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ในเวลาต่อมา[6][7]

ขุนนิพัทธ์จีนนครได้ทำการซื้อที่ดินในชุมชนบ้านพรุ เพื่อบริจาคสร้างสุสานแก่ชาวจีนที่เสียชีวิตในหาดใหญ่ จำนวน 180 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยให้มูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถาเป็นผู้ดูแลรักษา ภายในสุสานจึงประกอบด้วยศพชาวจีนทั้งศพไร้ญาติ และศพมีตระกูล โดยศพไร้ญาติจะเป็นการฌาปนกิจในลักษณะการกุศล ส่วนศพมีตระกูลจะเป็นรูปแบบของการขายฮวงซุ้ย ในเวลาต่อทางมูลนิธิก็ได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกประมาณ 31 ไร่ ทางทิศเหนือซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการขายฮวงซุ้ยเพิ่มเติม

ในส่วนกรรมสิทธิ์สุสานมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2511 ต่อเนื่องจากส่วนสุสานมูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถไปทางใต้ โดยมีการใช้แนวรั้วและแนวถนนเชื่อมต่อกัน ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นสุสานที่มีเจ้าของเพียงรายเดียว สุสานของมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง มีการจัดการที่ค่อนข้างเป็นระบบมากกว่าของมูลนิธิจงฮั่ว จากการวางแถวของฮวงซุ้ยที่มีขนาดกลาง ๆ และขนาดใหญ่วางเป็นแถวชัดเจน แสดงถึงสภาพเศรษฐกิจของสังคมหาดใหญ่ยุคนั้นที่ชาวจีนประกอบอาชีพจนมีฐานะร่ำรวย มากขึ้นกว่าชาวจีนในช่วงยุคแรก ๆ ที่จะทำฮวงซุ้ยขนาดเล็ก และไม่ตกแต่งป้ายหลุมมาก แม้ว่าภาพรวมมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊งจะเน้นขายฮวงซุ้ยเป็นหลัก แต่ก็มีการฮวงซุ้ยสำหรับศพไร้ญาติ รวมถึงหลุมบรรจุอัฐิไร้ญาติรวมขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าโครงการ

ในปี พ.ศ. 2558 ทางมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊งได้เปิดให้คนภายนอกเข้ามาใช้งานในเชิงกิจกรรมนันทนาการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย โดยทางมูลนิธิมีการจัดสรรเครื่องออกกำลังกาย เครื่องเล่น และลานแอโรบิกไว้รองรับ ซึ่งก็พบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเข้ามาใช้งานในช่วงและช่วงเย็น ทั้งการเล่นฟุตบอล เล่นเครื่องออกำลังกาย เลี้ยงปลา เต้นแอโรบิก และวิ่ง สุสานแห่งนี้มีการเปิดไฟในช่วงเย็นจนถึง 20.00 น. นอกจากนี้ในบางโอกาสสุสานแห่งนี้ก็เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเช่นวิ่งมาราธอน หรือปั่นจักรยาน เนื่องจากระบบสัญจรภายในสุสานมีระยะค่อนข้างไกล การเปิดสุสานให้คนภายนอกเข้ามาใช้นี้ มีรูปแบบคล้ายกับสวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว ในเขตสาทร กรุงเทพมหานคร

ชื่อ

[แก้]

เนื่องจากชื่อสถานที่อย่างเป็นทางการ คือสุสานและตามด้วยชื่อมูลนิธิ แต่สำหรับประชาชนในพื้นที่จะเข้าใจและนิยมเรียกว่า สุสานบ้านพรุ ตามสถานที่ตั้งในเทศบาลเมืองบ้านพรุ ด้วยเหตุนี้ทำให้ประชาชนรุ่นใหม่ ๆ ที่มาสุสาน จะเข้าใจว่าสุสานแห่งนี้มีเจ้าของเพียงรายเดียว นอกจากนี้ยังมีชื่อที่ท้องถิ่นที่เรียกว่า เปรวจีนบ้านพรุ[8] โดยเปรว ในภาษาใต้ แปลว่าสุสาน ที่ฝังศพ[9] คำว่าเปรวนี้ยังใช้เป็นคำสามัญทั่วไปเวลาเรียกชื่อ ป่าช้า หรือ สุสานที่อื่น ๆ ในภาคใต้อีกด้วย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

6°57′30″N 100°28′32″E / 6.9583506°N 100.475493°E / 6.9583506; 100.475493

อ้างอิง

[แก้]
  1. หาดใหญ่โฟกัส. (2561). ... รู้หรือไม่ ??. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2564.
  2. สงขลานิวส์. (2014). ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ต้นตระกูลจิระนคร ผู้สร้างเมืองหาดใหญ่. เก็บถาวร 2021-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2564.
  3. วงค์เดือน ภานุวัฒนากูล. (2552). อัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม. ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ detail
  5. ศูนย์วิจัยสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคใต้. (2559). ฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เก็บถาวร 2021-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้. (2555).ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองหาดใหญ่.[ลิงก์เสีย]
  7. ศิลปวัฒนธรรม. (2564). ขุนนิพัทธ์จีนนคร ผู้บุกเบิกหาดใหญ่ยุคแรกสุด อุทิศที่ดิน พัฒนาจากป่าสู่เมืองใหญ่.
  8. สุราหนึ่งป้าน. (2559). บ้านพรุ | สร้างแผงกั้นห้ามยูเทิร์นหวั่นลดอุบัติเหตุ !!. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564.
  9. ไปเที่ยวป่าช้า กันมั้ย? มั้ย มั้ย มั้ย. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564.