ข้ามไปเนื้อหา

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาเหม็ดที่ 1
احمد اول
เคาะลีฟะฮ์แห่งออตโตมัน
อะมีร์ อัล-มูมินิน
เกเซอร์ อีรุม
ผู้อารักขามัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง
พระสาทิสลักษณ์ของสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 วาดโดยคอนสแตนติน คาปิดากลี
สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน พระองค์ที่ 14 (ปาดิชาห์)
ครองราชย์22 ธันวาคม ค.ศ. 1603 – 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1617
พิธีคาดพระขรรค์23 ธันวาคม ค.ศ. 1603
ก่อนหน้าสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3
ถัดไปสุลต่านมุสตาฟาที่ 1
พระราชสมภพเมษายน ค.ศ. 1590(1590-04-00)
พระราชวังมานิสสา มานิสสา จักรวรรดิออตโตมัน
สวรรคต22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1617(1617-11-22) (27 ปี)
พระราชวังโทพคาปึ คอนสแตนติโนเปิล จักรวรรดิออตโตมัน
ฝังพระศพมัสยิดสีฟ้า อิสตันบูล
คู่อภิเษกโกเซม ซุลตัน
มาฟีรูซ ฮาตุน
พระราชบุตรดู ด้านล่าง
พระนามเต็ม
ชาห์ อาเหม็ด บินห์ เมห์เหม็ด ฮัน[1]
ราชวงศ์ออตโตมัน
พระราชบิดาสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3
พระราชมารดาฮาดัน ซุลตัน
ศาสนาซุนนี
ทูกรา

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 (ตุรกีออตโตมัน: احمد اول Aḥmed-i evvel; ตุรกี: I. Ahmed; เมษายน ค.ศ. 1590 – 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1617) ทรงเป็นสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ตั้งแต่ ค.ศ. 1603 จวบจนเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1617 รัชสมัยของพระองค์เป็นที่จดจำจากการยุติประเพณีปลงพระชนม์พระราชอนุชา นับแต่รัชสมัยของพระองค์เป็นต้นไป เหล่าสุลต่านออตโตมันจะไม่มีรับสั่งให้ประหารพระราชอนุชาของพระองค์เองในทันทีที่ขึ้นครองราชย์อีก[2] สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ยังทรงเป็นที่รู้จักจากการที่ทรงมีรับสั่งให้สร้างมัสยิดสีฟ้า หนึ่งในมัสยิดที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศตุรกีด้วย

พระราชประวัติ

[แก้]

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 อาจจะเสด็จพระราชสมภพในเดือนเมษายน ค.ศ. 1590[3][4] ณ พระราชวังมานิสสา ในเมืองชื่อเดียวกัน โดยทรงพระราชสมภพในขณะที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 พระราชบิดายังดำรงพระราชอิสยยศเป็นเจ้าชาย (เซชาห์เด) และผู้ว่าการเขตซันจักแห่งมานิสสา พระราชมารดาของพระองค์คือฮาดัน ซุลตัน หลังจากที่สุลต่านมูรัตที่ 3 พระราชอัยกาเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1595 พระราชบิดาของพระองค์ก็เสด็จเข้าสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิลและได้ขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่าน จากนั้นสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 ก็ทรงมีรับสั่งให้ประหารเหล่าพระราชอนุชาของพระองค์เอง ซึ่งร่วมไปถึงพระราชอนุชาต่างพระมารดาด้วย เซชาห์เดมาห์มุด ผู้เป็นพระเชษฐาของสุลต่านอาเหม็ดเองก็ทรงถูกพระราชบิดาสั่งประหารเช่นกันในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1603 ก่อนที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 จะเสด็จสวรรคตตามไปในวันที่ 22 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเอง พระศพของเซชาห์เดมาห์มุดถูกฝังเคียงข้างพระมารดาของพระองค์ในหลุมพระศพ (Mausoleum) แยกต่างหากในมัสยิดเซชาห์เด ภายในกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงสร้างขึ้น

การครองราชย์

[แก้]

พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ 13 พรรษาใน ค.ศ. 1603 ภายหลังจากการสวรรคตของพระราชบิดา โดยที่ซาฟิเยห์ ซุลตัน พระราชอัยกี (ย่า) ผู้ทรงอิทธิพลของพระองค์ยังคงทรงพระชนม์อยู่ เคานต์อเล็กซานเดอร์แห่งมอนเตเนโกร หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่ายะห์ยา (Yahya) ผู้อ้างตัวว่าเป็นพระปิตุลา (อา) ของพระองค์พยายามจะชิงบัลลังก์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและในท้ายที่สุดก็เสียชีวิตลงที่เมืองโครตอร์ (Kotor) บริเวณริมชายฝั่งของประเทศมอนเตเนโกรปัจจุบัน สุลต่านอาเหม็ดทรงยุติประเพณีปลงพระชนม์พระราชอนุชาที่ทำสืบต่อกันมาในรัชกาลก่อน ๆ เมื่อขึ้นครองราชย์ และไม่ได้มีรับสั่งให้ประหารมุสตาฟา ผู้เป็นพระราชอนุชา หากแต่ทรงส่งมุสตาฟาให้ไปประทับ ณ พระราชวังเก่าในเมืองบาเยซิด (Bayezit) พร้อมกับซาฟิเยห์ ซุลตัน ผู้เป็นพระราชอัยกี การที่ทรงทำเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะตัวพระองค์เองยังทรงพระเยาว์และไม่มีพระราชโอรส มุสตาฟาจึงทรงเป็นรัชทายาทเพียงพระองค์เดียวของราชบัลลังก์ออตโตมัน การมีรับสั่งให้ประหารพระราชอนุชาของพระองค์เองจะทำให้เกิดวิกฤติการสืบราชสันตติวงศ์ได้ ดังนั้นมุสตาฟาจึงได้รับการละเว้น[2]

ในช่วงแรกของการครองราชย์ สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงมีท่าที่แน่วแน่และมุ่งมั่น ซึ่งต่อมาถูกหักล้างโดยพฤติกรรมของพระองค์เองในภายหลัง[ต้องการอ้างอิง] สงครามในฮังการี และเปอร์เซีย ซึ่งดำเนินควบคู่ไปกับการขึ้นครองราชย์ของพระองค์จบลงด้วยผลที่ไม่สู้ดีนัก เกียรติภูมิของจักรวรรดิยิ่งเสื่อมลงหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาซิสวาตูรุค (Treaty of Zsitvatorok) เมื่อ ค.ศ. 1606 ซึ่งยุติการเรียกเก็บบรรณาการรายปีจากออสเตรียของจักรวรรดิลง ภายหลังจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามกับจักรวรรดิซาฟาวิด ผู้เป็นอริ ซึ่งนำโดยพระเจ้าชาห์อับบาสมหาราช ทำให้จักรวรรดิออตโตมันต้องยกจอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน และดินแดนกว้างใหญ่อื่นในบริเวณเทือกเขาคอเคซัสที่ยึดมาได้ในสงครามออตโตมัน–ซาฟาวิด (ค.ศ. 1578–90) คืนให้แก่เปอร์เซีย ตามสนธิสัญญานาชู พาชา ใน ค.ศ. 1612 เส้นพรมแดนใหม่ถูกวาดขึ้นตามแบบพรมแดนในสนธิสัญญาสันติภาพอามัสยาที่ตกลงกันไว้เมื่อ ค.ศ. 1555[5]

สงครามออตโตมัน-ซาฟาวิด (ค.ศ. 1604–06)

[แก้]

สงครามออตโตมัน-ซาฟาวิด เริ่มขึ้นก่อนที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 พระราชบิดาของพระองค์จะเสด็จสวรรคตเล็กน้อย เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงแต่งตั้งซิกาลาซาด ยูซุฟ ซินัน พาชา (Cigalazade Yusuf Sinan Pasha) เป็นแม่ทัพคุมกองทัพตะวันออก กองทัพดังกล่าวออกเดินทางจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1604 ซึ่งถือว่าไม่ทันการณ์แล้ว และเมื่อกองทัพดังกล่าวเดินทางมาถึงแนวรบตะวันออกในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1604 กองทัพซาฟาวิด สามารถยึดเยเรวานได้ และทำการบุกเข้าไปในเอยาเลต์คารส์แล้ว การบุกของฝ่ายซาฟาวิดถูกหยุดลงได้ที่อาคัลท์ชิกเค ซินัน พาชาตัดสินใจตั้งทัพอยู่ในเมืองวานในฤดูหนาว แม้สภาพอากาศจะเอี้ออำนวย แต่ต่อมาก็ออกเดินทัพไปยังแอร์ซูรุม เพื่อหยุดยั้งการโจมตีของซาฟาวิดที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นภายในกองทัพ นับว่าปีนั้นเป็นปีที่ไม่ประสบความสำเร็จนักสำหรับฝ่ายออตโตมัน[6]

ใน ค.ศ. 1605 ซินัน พาชาออกเดินทัพโดยตั้งเป้าว่าจะเข้ายึดเมืองแทบรีซ แต่กองทัพก็เสียกระบวนเมื่อโกเซ เซเฟอร์ พาชา (Köse Sefer Pasha) เบย์เลอเบย์แห่งแอร์ซูรุม ตัดสินใจเดินทัพแยกต่างหากจากขบวนของซินัน พาชา ส่งผลให้ถูกฝ่ายซาฟาวิดจับเป็นเชลย กองทัพออตโตมันถูกตีแตกพ่ายที่อูร์เมีย และจำต้องล่าถอยไปยังเมืองวานและต่อมาไปที่ดียาร์เบกีร์ ขณะที่ตั้งทัพอยู่ที่ดียาร์เบกีร์นี้เอง ซินัน พาชาก็ก่อการกบฏขึ้นด้วยการสั่งประหารแคนบูลาทูกลู ฮูเซยิน พาชา (Canbulatoğlu Hüseyin Pasha) เบย์เลอเบย์แห่งอะเลปโป ผู้เดินทางมาเป็นกำลังเสริม ด้วยข้ออ้างว่าเขาเดินทางมาถึงช้าเกินไป ซินัน พาชาเสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นาน และกองทัพซาฟาวิดก็สามารถเข้ายึดกันจา ชีร์วันและชาห์มากีในอาเซอร์ไบจานได้[6]

สงครามกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (ค.ศ. 1604–06)

[แก้]

สงครามสิบสามปี ระหว่างจักรวรรดิออตโตมันกับรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค ได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว ณ เวลาที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ มหาเสนาบดีมัลคอก อะลี พาชา (Malkoç Ali Pasha) เคลื่อนทัพออกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลไปยังแนวรบตะวันตกในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1604 เขาเดินทางไปถึงเบลเกรด แต่ต่อมาก็ล้มป่วยและเสียชีวิตลงที่นั้น จึงทำให้โซคูลูซาดาซ ลาลา เมห์เหม็ด พาชา (Sokolluzade Lala Mehmed Pasha) ได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดีและแม่ทัพของกองทัพตะวันตกแทนที่มัลคอก ภายใต้การบังคับบัญชาของโซคูลูซาดาซ ลาลา เมห์เหม็ด พาชา กองทัพตะวันตกสามารถยึดแป็ชต์และวาค (Vác) กลับคืนมาได้ แต่ล้มเหลวในการยึดเอซเตอร์กอม เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและมีการต่อต้านจากเหล่าทหารในกองทัพ การปิดล้อมเมืองจึงต้องยุติลง ในขณะเดียวกันอิชต์วาน บอซคาย เจ้าชายแห่งทรานซิลเวเนีย ผู้กำลังต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชจากการปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ซึ่งตัวพระองค์เคยให้การสนับสนุน ได้ส่งผู้เดินสาส์นมายังจักรวรรดิออตโตมันเพื่อขอความช่วยเหลือ เมื่อได้รับคำมั่นแล้วว่าจะได้รับการช่วยเหลือ กองกำลังของพระองค์จึงเดินทางไปรวมกับกองทัพออตโตมันที่ตั้งทัพอยู่ในเบลเกรด ด้วยความช่วยเหลือจากฝ่ายทรานซิลเวเนีย กองทัพออตโตมันจึงสามารถเข้าปิดล้อมและยึดเมืองเอซเตอร์กอมได้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 ฝ่ายเจ้าชายอิชต์วานเองก็สามารถยึดโนวีซามคี (Nové Zámky ภาษาตุรกีเรียกว่าอุรวาร์ [Uyvar]) ได้ด้วยความช่วยเหลือจากฝ่ายออตโตมัน ในขณะที่กองทัพภายใต้การนำของทรียาคี ฮะซัน พาชา (Tiryaki Hasan Pasha) สามารถยึดเวสปริม (Veszprém) และพาโลตา (Palota) ได้ ด้านซาร์ฮอร์ส อีบราฮิม พาชา (Sarhoş İbrahim Pasha) เบย์เลอเบย์แห่งนาซกอนิซา (Nagykanizsa ภาษาตรุกีเรียกคานิจี [Kanije]) ได้เข้าโจมตีภูมิภาคอิสเตรียของออสเตรีย[6]

พระสาทิสลักษณ์ของสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ศิลปะจุลจิตรกรรมออตโตมัน

กระนั้น ด้วยความที่กบฏเซลารี (Celali rebellions) ในอนาโตเลียทวีความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่าที่เป็นมา และการประสบความพ่ายแพ้ในแนวรบตะวันออก เมห์เหม็ด พาชาจึงถูกเรียกตัวมายังคอนสแตนติโนเปิล และเสียชีวิตลงในขณะที่กำลังเตรียมตัวออกเดินทางไปยังแนวรบตะวันออก คูยูคู มูรัด พาชา (Kuyucu Murad Pasha) จึงเป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาในสนธิสัญญาซิสวาตูรุค ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการยกเลิกการเก็บเงินบรรณาการจำนวน 30,000 ดูกัตจากออสเตรีย และการยอมรับว่าจักรพรรดิของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คมีสถานะเท่าเทียมกับสุลต่านออตโตมัน กบฏจาลารีถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายออตโตมันยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ สนธิสัญญานี้นับเป็นตัวบ่งบอกว่าการขยายตัวของจักรวรรดิออตโตมันในยุโรปได้สิ้นสุดลงแล้ว[6]

กบฏเซลารี

[แก้]

ความไม่พอใจในผลลัพธ์ของสงครามกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค การจัดเก็บภาษีอย่างหนัก กอปรกับความอ่อนแอในการปราบปรามของกองทัพออตโตมัน ทำให้รัชสมัยของพระองค์กลายเป็นจุดสูงสุดของการกบฏเซลารี ทาวิลี อาเหม็ด (Tavil Ahmed [tr]) ก่อกบฏขึ้นไม่นานหลังจากสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ และสามารถเอาชนะนาชู พาชา และเคเดฮันห์ อะลี พาชา (Kecdehan Ali Pasha) เบย์เลอเบย์แห่งอนาโตเลีย ใน ค.ศ. 1605 ทาวิลี อาเหม็ด ได้รับการเสนอตำแหน่งเบย์เลอเบย์แห่งชาห์ริซอร์ แลกกับการยุติการกบฏ แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เข้ายึดฮาร์พุต เมห์เหม็ด บุตรชายของเขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการแบกแดด ด้วยการปลอมแปลงฟิมาน (พระราชโองการ) และสามารถเอาชนะกองกำลังที่นาชู พาชาส่งมาเพื่อปราบปรามเขาได้[6]

ในขณะเดียวกัน แคนบูลาทูกลู อะลี พาชา ได้ทำการรวมกำลังกับเอมีร์มานุกกลู ฟารุดดิน (Ma'noğlu Fahreddin) แห่งลัทธิดรูเซ (Druze) เพื่อทำลายกองกำลังของเซฟุกกลู ยูซุฟ (Seyfoğlu Yusuf) เอมีร์แห่งตริโปลี ต่อมาอะลีได้เข้ายึดครองบริเวณอาดานา พร้อมตั้งกองทัพและออกเหรียญกษาปณ์ของตนเอง กองกำลังของเขาสามารถตีกองทัพของฮูเซยิน พาชา เบย์เลอเบย์แห่งอะเลปโปที่พึ่งได้รับการแต่งตั้งแตกพ่ายไปได้ ส่งผลให้มหาเสนาบดีบอสเนียก เดอร์วิช พาชา (Boşnak Dervish Mehmed Pasha) ถูกประหารชีวิตจากความอ่อนแอของเขาในการปราบปรามพวกเซลารี คูยูคู มูรัด พาชา ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดีต่อจากเขาสามารถปราบปรามกองทัพกบฏจำนวน 30,000 นายในซีเรียลงได้ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1607 ด้วยความยากลำบาก แต่ก็ได้ผลเด็ดขาด ขณะเดียวกัน เขาก็ทำทีให้อภัยพวกกบฏในอนาโตเลีย และทำการแต่งตั้งคาเลนเดโรกลู (Kalenderoğlu) ผู้นำการกบฏในบริเวณมานิสสาและบูร์ซา เป็นซันจักเบย์แห่งอังการา แบกแดดก็ถูกยึดคืนมาได้ใน ค.ศ. 1607 เช่นกัน แคนบูลาทูกลู อะลี พาชา ได้หลบหนีไปยังคอนสแตนติโนเปิลและขอพระราชทานอภัยโทษจากสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 พระองค์ทรงแต่งตั้งเขาไปปกครองตีมีชวารา และต่อมาไปปกครองเบลเกรด แต่ภายหลังเขาก็ถูกประหารโดยมีสาเหตุจากการปกครองที่ผิดพลาดของเขา ณ ที่นั้น ขณะเดียวกัน คาเลนเดโรกลูก็ไม่สามารถเดินทางเข้าเมืองอังการาได้เพราะชาวเมืองไม่ยินยอม เขาจึงก่อกบฏขึ้นอีกครั้ง ซึ่งถูกปราบปรามโดยกองกำลังของมูรัด พาชา ท้ายที่สุดคาเลนเดโรกลูได้หลบหนีไปยังเปอร์เซีย จากนั้นมูรัด พาชาจึงปราบปรามการกบฏขนาดเล็กในบริเวณอนาโตเลียตอนกลาง และกำราบผู้นำคนอื่น ๆ ของพวกเซลารีด้วยการเชิญให้พวกเขาให้มารับราชการในกองทัพ[6]

เนื่องจากความรุนแรงของกบฏเซลารีได้แพร่กระจายไปทั่ว ผู้คนจำนวนมากได้หนีออกจากหมู่บ้านของตน และมีหมู่บ้านหลายแห่งถูกทำลาย ผู้นำทหารบางรายได้อ้างสิทธิ์ว่าหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของตน ทำให้รัฐบาลขาดรายได้จากการเก็บภาษี ในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1609 สุลต่านอาเหม็ดทรงออกเอกสารรับรองสิทธิ์ของราษฎรผู้ลี้ภัยการกบฎมาจากภูมิลำเนาของตน จากนั้นพระองค์จึงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อนำผู้คนเหล่านี้กลับไปตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างอีกครั้ง[6]

สงครามออตโตมัน-ซาฟาวิด สันติภาพและสงครามครั้งใหม่

[แก้]
คำแปลสองภาษา (ฝรั่งเศสและตุรกี) ของข้อสรุปฝรั่งเศส-ออตโตมัน ที่ตกลงกันระหว่างสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 และพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ใน ค.ศ. 1604 ตีพิมพ์โดยฟร็องซัว ซาเวลี เดอ เบอรเวส เมื่อ ค.ศ. 1615[7]

นาชู พาชา ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดีคนใหม่ ไม่ต้องการที่จะทำสงครามกับฝ่ายซาฟาวิดต่อไป พระเจ้าชาห์อับบาสมหาราช เองก็ทรงส่งพระราชสาสน์มาว่าพระองค์ต้องการที่จะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อยุติสงครามเช่นกัน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 สนธิสัญญานาชู พาชา ได้รับการลงนาม โดยมีเงื่อนไขว่า พระเจ้าชาห์อับบาสจะต้องส่งผ้าไหมจำนวน 200 ทบ ไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นประจำทุกปี ดินแดนทั้งหมดที่จักรวรรดิออตโตมันได้มาระหว่างสงครามเมื่อคราว ค.ศ. 1578–1590 กลับไปเป็นของเปอร์เซีย และทำให้พรมแดนกลับไปมีขนาดเท่ากับพรมแดนใน ค.ศ. 1555[6]

ทว่าสันติภาพก็มาสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1615 เมื่อพระเจ้าชาห์อับบาสทรงไม่ส่งผ้าไหมจำนวน 200 ทบมาให้อย่างที่ตกลงไว้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1615 มหาเสนาบดีโอคูซ เมห์เหม็ด พาชา ได้รับมอบหมายให้เตรียมการโจมตีเปอร์เซีย เขาเลื่อนเวลาโจมตีออกไปเป็นปีถัดมา ทำให้ฝ่ายซาฟาวิดมีเวลาเตรียมตัวและเข้าโจมตีกันจาได้ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1616 โอคูซ พาชา ออกเดินทางจากอะเลปโปพร้อมกองทัพขนาดใหญ่และเดินทัพไปยังเยเรวาน แต่เขาก็ไม่สามารถยึดเมืองได้และต้องล่าถอยไปยังแอร์ซูรุม โอคูซ พาชาจึงถูกถอดออกจากตำแหน่ง และถูกแทนที่โดยดามัต ฮาลี พาชา (Damat Halil Pasha) ฮาลี พาชาเดินทางไปยังดียาร์เบกีร์ในฤดูหนาว ในขณะที่คานิเบ็ค กิเรย์ ข่านแห่งไครเมีย ทำการโจมตีบริเวณแกนแจ นากชิวาน และ จูลฟา[6]

การพระราชทานสิทธิพิเศษแก่ชาวต่างประเทศ และสนธิสัญญาทางการค้า

[แก้]

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงทำการต่อสนธิสัญญาการค้ากับอังกฤษ ฝรั่งเศส และเวนิส และทรงทำสนธิสัญญาทางการค้าฉบับแรกกับสาธารณรัฐดัตช์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1612 นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ขยายสิทธิพิเศษ ที่พระราชทานให้แก่ฝรั่งเศส ให้ครอบคลุมไปถึงพ่อค้าชาวสเปน รากูซา เจนัว อังโกนา และฟลอเรนซ์ด้วย โดยพ่อค้าจากชาติเหล่านี้สามารถเข้ามาทำการค้าขายได้โดยการใช้ธงฝรั่งเศส[6]

พระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรมและการศาสนา

[แก้]
แผ่นจารึกของสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ที่มัสยิดอันนะบะวี แสดงตำแหน่งของประตูบับ อัล-ทอว์บา (Bab al-Tawba)

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงเป็นผู้สร้างมัสยิดสีฟ้า ซึ่งถือกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมเอก (Magnum opus) ของสถาปัตยกรรมออตโตมัน[ต้องการอ้างอิง] โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับฮาเกียโซเฟีย สุลต่านอาเหม็ดเสด็จไปในพิธีเริ่มการก่อสร้างพร้อมกับอีเต้อ (Pickaxe) ทองคำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการเริ่มก่อสร้างมัสยิด เหตุวุ่นวายเกือบจะเกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงพบว่ามัสยิดสีฟ้ามีจำนวนหออะซาน (Minarets) เท่ากับจำนวนหออะซานของมัสยิดใหญ่ประจำมักกะฮ์ ทำให้พระองค์กริ้วและเสียพระทัยเป็นอันมาก จนกระทั่งชัยคุลอิสลาม (Shaykh al-Islām: ตำแหน่งเทียบเท่าจุฬาราชมนตรี) ถวายคำแนะนำให้พระองค์ทรงสร้างหออะซานที่มัสยิดใหญ่ประจำมักกะฮ์เพิ่มอีกหนึ่งหอ เหตุการณ์จึงคลี่คลายลง

มัสยิดสีฟ้า

สุลต่านอาเหม็ดทรงมีส่วนร่วมอย่างมากในการบรูณะใหญ่ครั้งที่สิบเอ็ดของกะอ์บะฮ์ซึ่งเสียหายจากการถูกน้ำท่วม พระองค์ทรงส่งช่างฝีมือจากคอนสแตนติโนเปิลไปทำการซ่อมแซมรางน้ำทองคำ ซึ่งช่วยไม่ให้น้ำฝนกักขังอยู่บนหลังคาของกะอ์บะฮ์ นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีการนำตะข่ายเหล็กไปติดไว้ในบ่อซัมซัมที่นครเมกกะ โดยติดตั้งไว้ลึกจากระดับผิวน้ำ 3 ฟุต การติดตั้งตะข่ายนี้เป็นผลมาจากที่มีเหล่าผู้สติไม่สมประกอบกระโดดลงไปในบ่อ โดยพวกเขาเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการตายเยี่ยงวีรบรุษ

ในเมดีนา นครของพระศาสดามุฮัมมัด แท่นเทศน์อันใหม่ซึ่งทำจากหินอ่อนสีขาวที่ทำในเมืองคอนสแตนติโนเปิลถูกนำมาตั้งในมัสยิดอันนะบะวีแทนที่แท่นเทศน์เดิมที่ทรุดโทรมลง นอกจากนี้ สุลต่านอาเหม็ดยังทรงสร้างมัสยิดเพิ่มอีกสองแห่งในย่านอึสคือดาร์ ในพื้นที่ฝั่งเอเชียของคอนสแตนติโนเปิล ทว่าไม่มีมัสยิดหลังใดเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันเลย

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงมีเครื่องยอด (Crest) ที่แกะสลักเป็นรูปรอยเท้าของนบีมุฮัมมัด ซึ่งพระองค์จะทรงฉลองเครื่องยอดนี้ทุกวันศุกร์และวันรื่นเริงต่าง ๆ การกระทำของพระองค์นับเป็นแบบอย่างของการแสดงความนอบน้อมต่อพระศาสดามากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ออตโตมัน ข้างในเครื่องยอดนั้นบรรจุบทกวีที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ความว่า:

"หากข้าสามารถสวมใส่เจ้าไว้ได้ตลอดเวลา ดั่งผ้าโพกหัว หากข้าสามารถพกพาเจ้าไว้บนศีรษะได้ตลอดเวลา ดั่งมงกุฎ รอยเท้าของพระศาสดามุฮัมมัด ซึ่งมีสัดส่วนที่งดงามหมดจดยิ่ง อาเหม็ดเอ๋ย ไปเถิด เชิญเจ้าไล้ใบหน้ากับฝ่าเท้าแห่งกุหลาบนั้นหนา"

พระอุปนิสัย

[แก้]

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงเป็นที่รู้จักจากพระปรีชาสามารถในกีฬาฟันดาบ การประพันธ์บทกวี การทรงม้า และสามารถตรัสหลายภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว

พระองค์ยังทรงเป็นนักกวี ทรงพระราชนิพันธ์โคลงสั้นและงานเขียนเกี่ยวกับการเมืองไว้หลายชิ้นด้วยกัน โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า "บาติ" (Bahti) ทรงอุปถัมภ์นักวิชาการ นักอักษรวิจิตร (Calligrapher) และคนเคร่งศาสนาหลายราย อีกทั้งยังทรงมีรับสั่งให้บรรดานักอักษรวิจิตรจัดทำหนังสือ แก่นสารประวัติศาสตร์ (The Quintessence of Histories) นอกจากนี้พระองค์ยังพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายอิสลามและธรรมเนียมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน ทรงนำกฎห้ามดื่มเครื่องดื่มมึนเมากลับมาใช้ใหม่ รวมถึงข้อบังคับว่าด้วยการเข้าร่วมละหมาดวันศุกร์ และการให้ทานแก่คนยากไร้อย่างถูกวิธี

สวรรคต

[แก้]
หลุมฝังพระศพตรุเบของสุลต่านอาเหม็ดที่ 1

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 เสด็จสวรรคตจากพระโรคไข้รากสาดใหญ่ และมีพระโลหิตออกในพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1617 ณ พระราชวังโทพคาปึ ในกรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า เซชาห์เดมุสตาฟา พระราชอนุชาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นสุลต่านมุสตาฟาที่ 1 พระราชโอรสสามพระองค์ของสุลต่านอาเหม็ดได้เสวยราชสมบัติในภายหลัง ได้แก่: สุลต่านออสมันที่ 2 (ครองราชย์ ค.ศ. 1618–22) สุลต่านมูรัดที่ 4 (ครองราชย์ ค.ศ. 1623–40) และสุลต่านอีบราฮิม (ครองราชย์ ค.ศ. 1640–48)

พระราชวงศ์

[แก้]
คู่อภิเษก
พระราชโอรส
  • สุลต่านออสมันที่ 2 สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (เสด็จพระราชสมภพ: 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1604 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1622 โดยเหล่าทหารจานิสซารี และคารา ดาวูด พาชา ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่มาฟีรูซ ฮาตุน[8][9]
  • เซชาห์เดเมห์เหม็ด (ประสูติ: ค.ศ. 1605 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 12 มกราคม ค.ศ. 1621 ตามพระราชบัญชาของสุลต่านออสมันที่ 2 พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[10]
  • สุลต่านมูรัดที่ 4 สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (เสด็จพระราชสมภพ: 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1612 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล สวรรคต: 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1640 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[8][11][12][13]
  • เซชาห์เดบาเยซิด (ประสูติ: พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 ถูกปลงพระชนม์: 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1635 ตามพระราชบัญชาของสุลต่านมูรัดที่ 4 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่มาฟีรูซ ฮาตุน[8][9]
  • เซชาห์เดสุลัยมาน (ประสูติ: ค.ศ. 1613 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1635 ตามพระราชบัญชาของสุลต่านมูรัดที่ 4 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[8][9][12]
  • เซชาห์เดเซลิม (ประสูติ: ค.ศ. 1613 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1635 ตามพระราชบัญชาของสุลต่านมูรัดที่ 4 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล[ต้องการอ้างอิง] พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[14]
  • เซชาห์เดฮูเซยิน (ประสูติ: พฤศจิกายน ค.ศ. 1614 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล สิ้นพระชนม์: หลัง ค.ศ. 1622 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 ในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) ประสูติแต่มาฟีรูซ ฮาตุน[8][9]
  • เซชาห์เดคาซิม (ประสูติ: ค.ศ. 1614 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1638 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 ในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[8][11][12][13]
  • สุลต่านอีบราฮิม สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (เสด็จพระราชสมภพ: 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1615 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 18 สิงหาคม ค.ศ. 1648 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านมุสตาฟาที่ 1 ในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[8][11][12][13]
พระราชธิดา
  • เกฟเฮอร์เฮน ซุลตัน (ประสูติ: ประมาณ ค.ศ. 1608 สิ้นพระชนม์: ค.ศ. 1660 พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[15][16]
  • ไอเช ซุลตัน (ประสูติ: ค.ศ. 1605 หรือ 1608 สิ้นพระชนม์: ค.ศ. 1657 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[15]
  • ฟัตมา ซุลตัน (ประสูติ: ประมาณ ค.ศ. 1607 สิ้นพระชนม์: ค.ศ. 1670 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน [12][16]
  • ฮันซาเด ซุลตัน (ประสูติ: ค.ศ. 1607 สิ้นพระชนม์: 23 กันยายน ค.ศ. 1650 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอีบราฮิมในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[16]
  • อทิเค ซุลตัน (ประสูติ: ค.ศ. 1613 สิ้นพระชนม์: ค.ศ. 1674 พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอีบราฮิมในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) [17][18]
  • อบิเด ซุลตัน (Abide Sultan [tr]) (ประสูติ: ค.ศ. 1618 ไม่ทราบปีที่สิ้นพระชนม์) อภิเษกสมรสใน ค.ศ. 1642 กับ โคคา มูซา พาชา

สิ่งสืบทอด

[แก้]

ทุกวันนี้ สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงเป็นที่รู้จักโดยส่วนใหญ่จากการที่เป็นผู้สร้างมัสยิดสีฟ้า (รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "มัสยิดสุลต่านอาเหม็ด") หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมอิสลาม ปัจจุบัน พื้นที่โดยรอบตัวมัสยิดในเขตฟาติฮ์ ถูกเรียกว่า "สุลต่านอาเหม็ด" (Sultanahmet) พระองค์เสด็จสวรรคตที่พระราชวังโทพคาปึในกรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพของพระองค์ได้รับการฝังอยู่ในหลุมพระศพที่อยู่ภายนอกมัสยิดอันโด่งดังแห่งนี้

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

เอคิน คอก นักแสดงชาวตุรกีรับบทเป็นสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ปี 2015 เรื่อง มูเตเซม ยูซึล:โกเซม

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Garo Kürkman, (1996), Ottoman Silver Marks, p. 31
  2. 2.0 2.1 Peirce, Leslie (1993). The Imperial Harem: Women and Sovereignty in the Ottoman Empire. Oxford University Press. pp. 99. ISBN 0-19-508677-5.
  3. Börekçi, Günhan. İnkırâzın Eşiğinde Bir Hanedan: III. Mehmed, I. Ahmed, I. Mustafa ve 17. Yüzyıl Osmanlı Siyasî Krizi - A Dynasty at the Threshold of Extinction: Mehmed III, Ahmed I, Mustafa I and the 17th-Century Ottoman Political Crisis. pp. 81 n. 75.
  4. Börekçi, Günhan (2010). Factions And Favorites At The Courts Of Sultan Ahmed I (r. 1603-17) And His Immediate Predexessors. pp. 85 n. 17.
  5. Ga ́bor A ́goston,Bruce Alan Masters Encyclopedia of the Ottoman Empire pp 23 Infobase Publishing, 1 jan. 2009 ISBN 1438110251
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 "Ahmed I" (PDF). İslam Ansiklopedisi. Vol. 1. Türk Diyanet Vakfı. 1989. pp. 30–33.
  7. Bosworth, Clifford Edmund (January 1989). The Encyclopaedia of Islam: Fascicules 111-112 : Masrah Mawlid by Clifford Edmund Bosworth p.799. ISBN 9004092390. สืบค้นเมื่อ 2012-01-26.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 Şefika Şule Erçetin (November 28, 2016). Women Leaders in Chaotic Environments:Examinations of Leadership Using Complexity Theory. Springer. p. 77. ISBN 978-3-319-44758-2.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Uluçay, Mustafa Çağatay (2011). Padışahların Kadınları ve Kızları. Ötüken, Ankara. p. 78. ISBN 978-9-754-37840-5.
  10. Tezcan, Baki (2007). "The Debut of Kösem Sultan's Political Career". Turcica. Éditions Klincksieck. 39–40: 350–351.
  11. 11.0 11.1 11.2 Mustafa Naima (1832). Annals of the Turkish Empire: From 1591 to 1659 ..., Volume 1. Oriental Translation Fund, & sold by J. Murray. pp. 452–3.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 Singh, Nagendra Kr (2000). International encyclopaedia of Islamic dynasties (reproduction of the article by M. Cavid Baysun "Kösem Walide or Kösem Sultan" in The Encyclopaedia of Islam vol V). Anmol Publications PVT. pp. 423–424. ISBN 81-261-0403-1.
  13. 13.0 13.1 13.2 เพียร์ซ, เลสลี พี. (1993), The Imperial Harem: Women and Sovereignty in the Ottoman Empire, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, p. 232, ISBN 0195086775
  14. Gülru Neci̇poğlu, Julia Bailey (2008). Frontiers of Islamic Art and Architecture: Essays in Celebration of Oleg Grabar's Eightieth Birthday ; the Aga Khan Program for Islamic Architecture Thirtieth Anniversary Special Volume. BRILL. p. 324. ISBN 978-9-004-17327-9.
  15. 15.0 15.1 Singh, Nagendra Kr (2000). International encyclopaedia of Islamic dynasties (reproduction of the article by M. Cavid Baysun "Kösem Walide or Kösem Sultan" in The Encyclopaedia of Islam vol V) . Anmol Publications PVT. หน้า 423–424. ISBN 81-261-0403-1.
  16. 16.0 16.1 16.2 เลสลี พี. เพียร์ซ (1993), The Imperial Harem: Women and Sovereignty in the Ottoman Empire สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด หน้า 365 ISBN 0195086775
  17. Uluçay 2011, p. 52.
  18. Sakaoğlu, Necdet (2008). Bu mülkün kadın sultanları: Vâlide sultanlar, hâtunlar, hasekiler, kadınefendiler, sultanefendiler. Oğlak Yayıncılık. p. 235.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สุลต่านอาเหม็ดที่ 1