ข้ามไปเนื้อหา

สึจิงูโมะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพปีศาจสึจิงูโมะ
ฉากมินาโมโตะ โนะ โยริมิตสึ กำลังจะสังหารปีศาจสึจิงูโมะ

สึจิงูโมะ (ญี่ปุ่น: 土蜘蛛โรมาจิTsuchigumo; แปลว่า แมงมุมดิน) เป็นคำดูถูกหนึ่งของญี่ปุ่น ใช้เรียกกลุ่มกบฏหรือนอกรีต และยังใช้เรียกโยไกชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นแมงมุม ปรากฏในนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น โดยมีชื่อเรียกอื่นอีก คือ ยัตสึกาฮางิ (八握脛) และ โอกูโมะ (大蜘蛛)[1] ส่วนใน โคจิกิ และ นิฮงโชกิ จะเขียนด้วยตัวคันจิสี่ตัว คือ 都知久母 (โมราเอ็ตสึ-จิ-งู-โมะ)[2] ซึ่งมักปรากฏอยู่ใน ฟูโดกิ (風土記) อันเป็นเอกสารรายงานข้อมูลในแต่ละจังหวัดสำหรับเสนอแก่องค์จักรพรรดิ โดยปรากฏในรายงานของจังหวัดมุตสึ เอจิโงะ ฮิตาจิ เซ็ตสึ บุงโงะ และฮิเซ็ง

สันนิษฐานว่า สึจิงูโมะ มาจากคำว่า ทูจิโงโมริ (土隠) โดยประกอบจากคำว่า ทูจิ () แปลว่า "ดิน" กับคำว่า โกโมริ () แปลว่า "หลบซ่อน" คาดว่าสำหรับเรียกผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่ปฏิเสธคำสั่งจากราชสำนักแล้วไปอาศัยอยู่ในถ้ำแทน มีรายงานว่าสึจิงูโมะ มีรูปพรรณเตี้ยหากแต่มีแขนขายาว มีสันดานดั่งหมาป่า มีใจนกฮูก และดำรงชีวิตอย่างคนเถื่อนไร้อารยธรรม[3][4]

โซกิจิ สึดะ (津田左右吉) นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า สึจิงูโมะแตกต่างไปจากชาวคูมาโซ (熊襲) และเอมิชิ (蝦夷) ซึ่งเป็นชื่อชนเผ่าที่ปรากฏอยู่ในฟูโดกิด้วยเช่นกัน โดยระบุว่าสึจิงูโมะไม่ใช่กลุ่มชน หากแต่เป็นชื่อเฉพาะ ส่วนโยชิยูกิ ทากิโอโตะ (瀧音能之) สันนิษฐานว่า สึจิงูโมะเป็นทั้งหัวหน้าเผ่าและเป็นคนทรง เพราะในฟูโดกิจากคีวชู ระบุว่า สึจิงูโมะเป็นหมอผีประกอบพิธีกรรมเอาใจคามิแห่งความโกรธเกรี้ยว ด้วยหวังให้ผลทางการเกษตรเฟื่องฟู[5]

ส่วนสึจิงูโมะที่มีรูปร่างคล้ายแมงมุมยักษ์ ปรากฏครั้งแรกในวรรณกรรมยุคกลาง โดยจัดเป็นโอนิ () วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งคือ ตำนานเฮเกะ (平家物語) ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในยุคคามากูระ (ค.ศ. 1185–1333) อีกเรื่องคือ ยามางูโมะ (山蜘蛛; แปลว่า แมงมุมภูเขา) ซึ่งปรากฏใน สึจิงูโมะโซชิ (土蜘蛛草紙) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 พรรณนาว่าเป็นโยไกขนาดใหญ่ เมื่อกาลเวลาผ่านไป สึจิงูโมะก็กลายเป็นโยไกที่มีลักษณะที่แปลกประหลาดเพิ่มขึ้น[6] มีความยาวถึง 60 เมตร แต่ถูกมินาโมโตะ โนะ โยริมิตสึ และวาตานาเบะ โนะ สึนะ กำจัดสึจิงูโมะ และเมื่อมันถูกกำจัด ศีรษะคนตายก็ปรากฏออกมาจากท้องของมัน ซึ่งมีมากถึง 1,990 หัว และยังปรากฏเรื่องราวของสึจิงูโมะในตำนานของชูเต็งโดจิ[7] นอกจากนี้สึจิงูโมะยังเป็นโยไกที่ปรากฏอยู่ชุดการแสดงละครโน โจรูริ และคาบูกิ[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 岩井宏實 (2000). 暮しの中の妖怪たち. 河出文庫. 河出書房新社. pp. 156頁. ISBN 978-4-309-47396-3.
  2. 京極夏彦・多田克己 編著 (2008). 妖怪画本 狂歌百物語. 国書刊行会. pp. 293–294頁. ISBN 978-4-3360-5055-7.
  3. Makoto Sahara (Nara National Research Institute for Cultural Properties) (1987). 体系 日本の歴史 1 日本人の誕生. Shogakukan. p. 178. ISBN 978-4096220016.
  4. 4.0 4.1 土蜘蛛 (ภาษาญี่ปุ่น). Kotobank. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 February 2023. สืบค้นเมื่อ 12 February 2023.
  5. Itaru Matsueda (2006). 象徴図像研究―動物と象徴. Gensōsha. p. 76–100. ISBN 978-4862090072.
  6. Katsuhiko Fujii (8 February 2021). 土蜘蛛~山中の異形の妖怪も、元は善良な民だった⁉ (ภาษาญี่ปุ่น). ABC Ark, Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2022. สืบค้นเมื่อ 12 February 2023.
  7. Sachie Miyamoto, Azusa Kumagai (2007). 日本の妖怪の謎と不思議. Gakken. p. 74. ISBN 978-4056047608.