ตำนานเฮเกะ
ตำนานเฮเกะ หรือ เฮเกะ โมโนงาตาริ (ญี่ปุ่น: 平家物語; โรมาจิ: Heike Monogatari) เป็นมหากาพย์ของญี่ปุ่นซึ่งรวบรวมไว้เมื่อก่อนปี ค.ศ. 1330 เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างตระกูลไทระและตระกูลมินาโมโตะเพื่อชิงอำนาจเหนือดินแดนญี่ปุ่นในสงครามเก็มเป (ค.ศ. 1180–1185) เมื่อปลายศตวรรษที่ 12 คำว่า "เฮเกะ" (平家) ใช้กล่าวถึงตระกูลไทระ (平) คำว่า "เฮ" เป็นคำอ่านเสียงอง (คำอ่านแบบจีน) ของอักษรคันจิตัวแรก ส่วนคำว่า "เกะ" (家) มีความความว่า "ตระกูล" กล่าวถึงในชื่อสงคราม "เก็มเป" คำว่า "เฮ" ในชุดคำนี้ออกเสียงเป็น "เป" ส่วนคำว่า "เก็น" (เก็ม) (源) เป็นอักษรคันจิตัวแรกที่ใช้กล่าวถึงตระกูลมินาโมโตะ (ซึ่งมีอีกชื่อเรียกว่า "เก็นจิ" ออกเสียงด้วยคำอ่านเสียงอง (คำอ่านแบบจีน) เช่นในชื่อ ตำนานเก็นจิ)
ตำนานเฮเกะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างน้อย 5 ครั้ง ครั้งแรกแปลโดยอาเธอร์ ลินด์เซย์ แซดเลอร์ในปีระหว่างปี ค.ศ. 1918–1921[1] ฉบับแปลสมบูรณ์ด้วยจำนวนหน้าเกือบ 800 หน้าโดยฮิโรชิ คิตางาวะ และบรูช ที. สึจิดะ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1975 เช่นเดียวกับฉบับแปลโดยเฮเลน แมกคูลลัฟในปี ค.ศ. 1988 ฉบับแปลอย่างย่อโดยเบอร์ตัน วัตสันตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2006 ส่วนในปี ค.ศ. 2012 โรยัลล์ ไทเลอร์ได้แปลสมบูรณ์โดยคำนึงถึงรูปแบบการนำเสนอของผลงานดั้งเดิม
ตำนานเฮเกะมีฉบับเล่าใหม่ในรูปแบบร้อยแก้วภาษาญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง เขียนโดยนักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ เอจิ โยชิกาวะ ตีพิมพ์ในนิตยสารอาซาฮิรายสัปดาห์ในปี ค.ศ. 1950 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ตำนานเฮเกะฉบับเล่าใหม่ (ชินเฮเกะโมโนงาตาริ)
บทเริ่มตำนาน
[แก้]祇園精舎の鐘の聲、諸行無常の響き有り。
กีออนโชจะ โนะ คาเนะ โนะ โคเอะ, โชเกียวมุโจ โนะ ฮิบิกิ อาริ.
เสียงระฆังเชตวันมหาวิหาร แว่วสั่นหงั่งเหง่งเรื่อยมา, บ่งบอกถึงความอนิจจตาของทุกสรรพสิ่ง
沙羅雙樹の花の色、盛者必衰の理を顯す。
สะระโซจุ โนะ ฮานะ โนะ อีโระ, โจชะอิซฺสุย โนะ โกโตวาริ โอ อาระวะสึ.
สีสันของดอกสาละ ปรากฏอริยสัจรมย์, ของความเลื่อนลอยของความสุขศานต์-รุ่งโรจน์
驕れる者も久しからず、唯春の夜の夢の如し。
โอโดเกรุโมโนะ โมะ ฮิซาชิการาซุ, ทาดะ ฮารุ โนะ โย โนะ ยูเมะ โนะ โกโตชิ.
ผู้ยโสโอหังคงพบปริโยสานแน่แท้, ย่อมเหมือนค่ำคืนแห่งคราววสันต์ฤดู
猛き者も遂には滅びぬ、偏に風の前の塵に同じ。
ทาเทกิโมโนะ โมะ สุยนิวะ โฮรโบินุ, ฮิโตะเอนิ คาเซะ โนะ มาเอะ โนะ ชิริ นิ โอนาจิ.
ฉะนี้ ผู้แข็งกล้าย่อมถึงคราวสิ้นสังขาร, เฉกเช่นธุลีลอยตามกระแสลม
ผู้ประพันธ์
[แก้]ที่มาของมหากาพย์ตำนานเฮเกะนั้นไม่สามารถระบุเจาะจงผู้ประพันธ์ว่าเป็นผู้ใดผู้หนึ่ง เช่นเดียวกับผลงานมหากาพย์โดยส่วนมาก (ผลงานเรื่องนี้เป็นมหากาพย์ที่เขียนในรูปแบบร้อยแก้วมากกว่าร้อยกรอง) เป็นผลมาจากการรวบรวมเรื่องเล่ารูปแบบต่าง ๆ ที่เล่าสืบต่อกันมาแบบมุขปาฐะ (เรื่องเล่าแบบปากต่อปาก) โดยกวีนักเล่นเครืองดนตรีบิวะที่รู้จักในนาม บิวะ โฮชิ
พระโยชิดะ เค็งโค (ค.ศ. 1282–1350) เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับผู้ประพันธ์หนังสือตำนานเฮเกะในผลงานหนังสือสึเรซุเรงุซะซึ่งเขียนเมื่อปี ค.ศ. 1330 พระเค็งโคเขียนว่า "ยูกินางะอดีตผู้ครองแคว้นชินาโนะเขียนตำนานเฮเกะและบอกให้ชายตาบอดชื่อโชบุตสึท่องสวด" พระเค็งโคยังได้ยืนยันว่าเครื่องดนตรีบิวะมีความเชื่อมโยงกับชายตาบอดคนนั้น ผู้ซึ่ง "มีภูมิลำเนาจากทางตะวันออก" และยูกินางะได้ส่งไปให้ "รวบรวมข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับซามูไร คันศร ม้า และกลยุทธ์การทำศึก ยูกินางะเขียนไว้ภายหลัง"
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีนี้คือการที่หนังสือตำนานเฮเกะถูกเขียนด้วยรูปแแบบการผสมผสานของภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น (วาคัง คงโค โช) ที่เข้าใจได้ยาก ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงพระภิกษุที่ศึกษามาเป็นอย่างดีเท่านั้นที่เชี่ยวชาญการใช้ภาษาดังกล่าว ดังเช่นยูกินางะ อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด ตำนานเฮเกะก็เป็นสิ่งที่ตกผลึกจากเรื่องเล่ามุขปาฐะ จึงไม่มีผู้ประพันธ์ที่แท้จริงเพียงหนึ่ง ยูกินางะเป็นเพียงผู้ที่น่าจะเป็นคนแรกที่รวบรวมวรรณกรรมเรื่องนี้ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Sadler, A. L. "The Heike Monogatari", Transactions of the Asiatic Society of Japan. 46.2 (1918): 1–278 and 49.1 (1921): 1–354.
ดูเพิ่ม
[แก้]- สงครามเก็มเป ค.ศ. 1180–1185
- กบฏปีโฮเง็ง ค.ศ. 1156
- กบฏปีเฮจิ ค.ศ. 1159–1160
- ปูเฮเกะ
- ตำนานตระกูลไทระ (ฉบับนิยายปี ค.ศ. 2016 และซีรีส์อนิเมะปี ค.ศ. 2021)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เฮเกะโมโนงาตาริ (ในภาษาญี่ปุ่น)
- เว็บไซต์ ตำนานเฮเกะ (ในภาษาอังกฤษ)
- ตำนานเฮเกะ ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดยอาเธอร์ ลินด์เซย์ แซดเลอร์ (ในภาษาอังกฤษ)