ข้ามไปเนื้อหา

สิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สิมวัดศรีคุณเมือง จังหวัดเลย ได้รับรูปแบบจากศิลปะลาว

สิม หมายถึง โรงที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมต่าง ๆ[1] เป็นภาษาพื้นถิ่นในวัฒนธรรมล้านช้างและภาคอีสานของประเทศไทย มีความหมายเดียวกับโบสถ์หรืออุโบสถของภาคกลางในประเทศไทย

คำว่า "สิม" มาจากคำว่า สีมา สิมมา หรือพัทธสีมา ที่ปรากฏในคำจารึกบนแผ่นหินที่ประกาศเจตนาอุทิศของผู้สร้างปักไว้ด้านหลังสิมมีปรากฏอยู่ทั่วไป ความหมายของคำเหล่านี้ หมายถึง เขตแดนที่กำหนดในการประชุมทำสังฆกรรมอันเป็นกิจของสงฆ์โดยมีแผ่นสีมาหินเป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตรอบบริเวณตัวสิม

ประเภท

[แก้]

สิมอีสาน

[แก้]

ลักษณะโดยทั่วไปของสิม แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักตามสภาพของแหล่งที่ตั้ง คือ สิมน้ำและสิมบก สิมน้ำ เป็นสิมที่ตั้งอยู่กลางน้ำ เช่น สระ หนอง บึง ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สร้างอย่างชั่วคราวสำหรับวัดที่ยังไม่มีวิสุงคามสีมา ส่วนใหญ่สิมบกเป็นสิมที่ตั้งอยู่บนแผ่นดิน มีลักษณะเป็นอาคารถาวร นอกจากนี้ สิมยังแบ่งตามลำดับอายุก่อนหลังและลักษณะร่วมในรูปแบบได้เป็น 4 ประเภท คือ สิมก่อผนังแบบดั้งเดิม สิมโถง สิมก่อผนังรุ่นหลัง และสิมแบบผสม

สิมอีสานที่วัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น เป็นสิมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยกให้เป็นสิมอีสานตัวอย่าง[2]

ด้านยุคสมัยของสิมอีสาน สามารถจำแนกได้เป็น 4 ช่วงเวลา ดังนี้

  • สิมอีสานในยุคก่อน พ.ศ. 2475 มีอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอย่างวัฒนธรรมลาวล้านช้างเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก โดยสิมอีสานล้วนมีรูปแบบลักษณะแบบอย่างศิลปะลาวล้านช้างในรูปแบบสายสกุลช่างพื้นบ้าน ตัวอย่าง เช่น สิมวัดกลางมิ่งเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด วัดพระเหลาเทพนิมิต วัดศรีคุณเมือง จังหวัดเลย วัดมโนภิรมย์ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งล้วนมีอิทธิพลศิลปะแบบอย่างสายสกุลช่างหลวงล้านช้างทั้งทางตรงและทางอ้อม[3]
  • สิมอีสานช่วง พ.ศ. 2475–2500 เป็นยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นสิมที่ได้รับการผสมผสานกับสกุลช่างอื่น เช่น สิมวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะศิลปะเชิงช่างหลวงล้านช้างผสานกับสกุลช่างหลวงกรุงเทพฯ ยุคต้น ถือเป็นสิมต้นแบบของสกุลช่างเมืองอุบลที่มีลักษณะไทย หรือสิมที่ได้รับการผสมผสานกับช่างญวน เช่น สิมวัดธรรมละ จังหวัดอุบลราชธานี จนตั้งแต่ พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา นโยบายรัฐนิยมแห่งความเป็นไทย มีการผลิตสร้างแบบโบสถ์ สำเร็จรูป ก ข ค ของกรมศิลปากรซึ่งออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร จึงเป็นสิมที่ได้รับอิทธิพลไทยชัดเจนขึ้น[4]
  • สิมอีสานช่วง พ.ศ. 2500–2534 เป็นยุคที่มีการขยายสาขาวัดป่าเป็นจำนวนมาก งานช่างศาสนาคารในยุคนี้มักแสดงออกและผลิตซ้ำถึงความเป็นไทย มากกว่าการสร้างสรรค์ในลักษณะลาว สิมมีการพัฒนาสู่สิมร่วมสมัย เช่น สิมวัดศาลาลอย จังหวัดนครราชสีมา[5]
  • สิมอีสานช่วง พ.ศ. 2534–ปัจจุบัน มีลักษณะการสร้างสรรค์ศิลปะศาสนาคารอีสานมีความหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พัฒนารูปแบบงานในแบบฉบับของตนเอง เช่น สิมวัดล้านขวด และวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว เป็นต้น[6]

สิมในศิลปะลาว

[แก้]

นักวิชาการลาว แบ่งสิมออกเป็น 3 ประเภท คือ สิมหลวงพระบาง สิมเวียงจันทน์ และสิมเซียงขวาง (เชียงขวาง) ต่อมาเมื่อเมืองหลวงพระบางประกาศขึ้นเป็นมรดกโลก ยูเนสโกได้แบ่งสิมออกเป็นสี่รูปแบบ คือ แบบหลวงพระบางหนึ่ง สอง สาม และรูปแบบอย่างไทย[7] ส่วนนักวิชาการไทย แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่ แบบหลวงพระบางดั้งเดิม แบบเวียงจันทน์ แบบเซียงขวาง แบบไทลื้อ สิมแบบผสมผสาน และสิมอิทธิพลรัตนโกสินทร์[8]

  • สิมหลวงพระบาง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า นิยมทำมุขโถงด้านหน้าที่เรียกว่า "เซีย" โครงสร้างหลังคามีความอ่อนช้อย หลังคาปีกนกที่แผ่กว้างและแอ่นโค้งคลุมลงเกือบถึงพื้น มีการซ้อนหลังคา ที่เรียกว่า "เทิบ" บ้างซ้อน 2 หรือ 3 ชั้น สิมชนิดนี้แอ่นโค้งมากกว่าสิมเซียงขวาง อีกเอกลักษณ์คือ สร้างช่อฟ้าบนสันหลังคา นิยมตกแต่งฝาผนังด้วยลายฟอกคำ ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับชาดก สีหน้า (หน้าบัน) นิยมตกแต่งด้วยรวงผึ้ง ตัวอย่างสิมแบบนี้เช่น วัดเชียงทอง
  • สิมเวียงจันทน์ พัฒนามาจากสิมหลวงพระบาง อาคารไม่สูงมากนัก โครงสร้างหลังคาสูงกว่าสิมหลวงพระบาง มีลักษณะแอ่นโค้งเล็กน้อยไม่ลาดต่ำ ไม่อ่อนช้อยและแผ่กว้างเท่าสิมหลวงพระบาง สิมกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ในส่วนงานประดับตกแต่ง เช่น ซุ้มประตู หน้าต่าง คันทวย หน้าบัน ตัวอย่างสิมกลุ่มนี้ เช่น วัดองค์ตื้อมหาวิหาร
  • สิมเซียงขวาง (เชียงขวาง) มีขนาดเล็กและเรียบง่าย โครงสร้างหลังคาลาดชั้นเดียวและมีการซ้อนหลังคาเล็กตรงกลาง นิยมทำคันทวยรูปช้างสามเหลี่ยม ตัวอย่างสิมเช่น วัดสุวรรณคีลี ที่หลวงพระบาง
  • สิมไทลื้อ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และไม่นิยมสร้างมุขด้านหน้า นิยมสร้างหลังคา 2 ชั้น โดยมักซ้อนชั้นหลังคาเป็นทรงจั่วตามแนวยาวของสิม หลังคาชั้นล่างเป็นหลังคาปีกนกคลุมรอบตัวอาคารทั้ง 4 ด้าน นิยมมีคอสองซึ่งเป็นแผงไม้เชื่อมระหว่างชั้นหลังคา ตัวอย่างสิมเช่น วัดปากคาน
  • สิมแบบผสมผสาน เป็นสิมที่สร้างมาระยะหลัง มีการผสมผสานหลายสกุลช่างเข้าด้วยกัน เช่น สิมวัดวัดใหม่สุวรรณภูมาราม ที่ผสมผสานรูปแบบสิมไทลื้อ หลวงพระบาง และเซียงขวาง เข้าด้วยกัน
  • สิมอิทธิพลรัตนโกสินทร์ มีลักษณะคล้ายอุโบสถในศิลปะรัตนโกสินทร์ สิมมีความสูงเพรียวกว่าสกุลช่างอื่น นิยมสร้างเป็นอาคารยกพื้นสูง มีการใช้เสาและโครงสร้างหลังคาสูง หลังคามีการซ้อนชั้น 2–4 ชั้น นิยมทำคันทวยรูปพญานาค สีหน้า (หน้าบัน) มีการแกะสลักเต็มพื้นที่ ซุ้มประตูหน้าต่างตกแต่งอย่างไทย เช่น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตัวอย่างสิมเช่น สิมวัดป่าฮวก[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มหาวีรวงศ์, พจนานุกรมภาคอีสาน - ภาคกลาง. (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพาณิช, 2515). 416.
  2. "สิมอีสาน". ไทยศึกษา.
  3. ติ๊ก แสนบุญ. ""สิมอีสาน" ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. ติ๊ก แสนบุญ. ""สิมอีสาน" ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ช่วงพ.ศ. 2475-2500". ศิลปวัฒนธรรม.
  5. ติ๊ก แสนบุญ. ""สิมอีสาน" ในยุคสงครามเย็น พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๓๔". ศิลปวัฒนธรรม.
  6. ติ๊ก แสนบุญ. ""สิมอีสาน" ในยุคอีสานพัฒนาและความเสมอภาค พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน (ตอนจบ)". ศิลปวัฒนธรรม.
  7. Heywood, Dennis, Ancient Luang Prabang. (Bangkok; River Book, 2006), 39
  8. พรรณธิพา สุวรรณี, 10.
  9. พรรณธิพา สุวรรณี, 12.

บรรณานุกรม

[แก้]