ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระเหลาเทพนิมิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระเหลาเทพนิมิต
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระเหลาเทพนิมิต, วัดศรีโพธิ์ชยารามคามวดี
ที่ตั้งตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระเหลาเทพนิมิต เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่เศษ

วัดพระเหลาเทพนิมิตสร้างเมื่อ พ.ศ. 2254 ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ โดยพระครูธิ ภิกษุแก้ว ภิกษุอิน เดิมชื่อ วัดศรีโพธิ์ชยารามคามวดี ได้สร้างโบสถ์และพระประธานเมื่อ พ.ศ. 2263

อุโบสถฐานและผนังก่อด้วยอิฐถือปูน เสาไม้เนื้อแข็ง กลม หลังคามุงด้วยกระดานไม้ใช้เวลาก่อสร้างโบสถ์และพระประธาน 13 ปี 7 เดือน 3 วัน หน้าบันลายเถา ตรงกลางมีรูปราหูกลืนจันทร์ ระหว่างเถามีรูปเทพนมและหนุมาน ประตูลักษณะเป็น 3 ช่อง เป็นซุ้มคล้ายปราสาท ใต้ซุ้มมีพญานาค บันไดทางขึ้นตกแต่งด้วยมกรคาบนาค ภายนอกล้อมรอบด้วยใบเสมาจำนวน 24 ใบ ภายในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยรูปแบบศิลปะลาวสกุลเวียงจันทน์ ซึ่งพระครูธิเจ้าอาวาสให้ภิกษุแก้ว ภิกษุอิน พระซาพรหม เป็นผู้ขัดเกลาหล่อเหลาให้งดงามยิ่ง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า พระเหลา พ.ศ. 2441 ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี และภาคอีสาน ได้เสริมนามต่อท้ายให้กับองค์พระเป็น "พระเหลาเทพนิมิต" ซึ่งมีความหมายว่า "พระพุทธรูปที่งามคล้ายเหล่าดุจเทวดานิมิตไว้"[1] และได้รับขนานนามว่า พระพุทธชินราชแห่งภาคอีสาน[2] เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สูง 2.70 เมตร หน้าตักกว้าง 2.85 เมตร

หอแจก (ศาลาการเปรียญ) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2463 มีฐานแอวขันปากพานโบกคว่ำ โบกหงาย หลังคาทรงปั้นหยาหน้าจั่วปีกนก มีมุขบันไดขึ้นด้านหน้าและด้านหลังเบี่ยงซ้ายห้องที่สอง ราวบันไดตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปมกรคาบนาคและตัวมอมมีลูกอ่อนภายในศาลาโล่งเสาเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูนเสามีบัวที่ฐานและหัวเสา ฝ้าเพดานและเครื่องหลังคาทำด้วยไม้ เชิงชายตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย ยอดและหางปั้นลมตกแต่งด้วยไม้กลึง วัดมีสระน้ำโบราณ ตรงกลางสร้างเป็นหอพระไตรปิฎก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดพระเหลาเทพนิมิต". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "นมัสการ"พระเหลาเทพนิมิต" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่เมืองพนา จ.อำนาจเจริญ". บ้านเมือง.
  3. "วัดพระเหลาเทพนิมิต". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.