สัจจะ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
สัจจะ แปลว่า ความสัตย์ ความซื่อ ถ้าขยายความตามศัพท์แยกได้ 3 ลักษณะคือ มีความจริง ความตรง และความแท้จริง คือ ตรง ไม่เล่น คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ตรงไม่บิดพลิ้ว ไม่บ่ายเบี่ยง แท้ คือ ไม่เหลวไหล ตรงข้ามกับคำว่า อสัจ ซึ่งแปลว่า ไม่จริง บิดพลิ้ว แต่ถ้าในทางปฏิบัติสัจจะ คือ ความรับผิดชอบ หมายความว่า ถ้าจะทำอะไรแล้ว ต้องตั้งใจทำจริง ทำอย่างสุดความสามารถให้เป็นผลสำเร็จ การที่ใครจะสามารถสร้างตัวขึ้นมาได้นั้น ต้องมีสัจจะเป็นพื้นฐาน เพราะคนที่มีสัจจะ เป็นพื้นฐานจะมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำทุกอย่าง ไม่ปล่อยผ่านกับสิ่งที่ได้รับมา จะทำทุกสิ่ง ที่มาถึงมืออย่างสุดกำลัง และเต็มความสามารถ
ลักษณะของสัจจะ มีด้วยกัน 5 ประการ คือ
ประการที่ 1 สัจจะต่อความดี
[แก้]ก็คือ การประพฤติตนเป็นคนที่เที่ยงแท้ มั่นคงต่อความดีไม่หันเหไปในทางชั่ว ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร ในทางปฏิบัติ การจะมีสัจจะต่อความดีได้นั้น ต้องคิดให้เห็นถึงคุณความดีได้อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นโทษของความชั่วได้ชัดเจน พยายามรักษาความดีในตนไว้ ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องละ กรรมกิเลส 4, อคติ 4, อบายมุข 6 และต้องปรับความเห็นของตนให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฏฐิให้ได้ หากเป็นพระก็ต้องรักษาสิกขาวินัย สืบทอดพระพุทธศาสนา หากเป็นฆราวาส ก็ต้องทำมาหากินตั้งตนให้ได้ สร้างหลักฐานให้กับวงศ์ตระกูล ใครจะอยู่ในหน้าที่อะไรก็ต้องพยายามหาดีของตนให้ได้ หากหาดีนอกทางเสียแล้วก็จะเสียความจริงต่อความดี
ประการที่ 2 สัจจะต่อหน้าที่
[แก้]คือ การที่ใครก็ตามที่เกิดมาย่อมมีหน้าที่ติดตัวมาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ใครเป็นสามีก็รับผิดชอบต่อหน้าที่สามี เลี้ยงครอบครัวให้ดี ไม่ปันใจให้หญิงอื่น จริงใจกับภรรยา ใครเป็นภรรยาก็จริงใจต่อหน้าที่ของภรรยา ดูแลการงานในบ้านให้เรียบร้อย ไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนันเผาผลาญทรัพย์ เป็นลูกก็ต้องมีความรับผิดชอบว่า เราเป็นลูกมีหน้าที่รักษาวงศ์ตระกูลให้ดี ถ้าพ่อแม่แก่เฒ่า ก็ต้องเลี้ยงดูท่าน ทหารก็จริงใจลงไปในหน้าที่ทหาร เป็นตำรวจก็รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตำรวจ ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร ก็ทุ่มไปกับหน้าที่ของตัวให้เต็มที่ หากทำเช่นนี้ได้จึงเรียกว่า มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
ประการที่ 3 สัจจะต่อการงาน
[แก้]สัจจะต่อการงาน ก็คือการตั้งสัจจะลงไปในงาน หมายถึงการทำงานนั้นต้องทำจริง เมื่อมีหน้าที่แล้วก็ย่อมมีงานตามมา คนที่ไม่จริงต่อการงาน มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
- พวก "ทุจฺจริต" คือ พวกที่ทำงานเสีย
- พวก "สิถิล" คือ พวกที่ทำงานเหลาะแหละ
- พวก "อากุล" คือ พวกที่ทำงานคั่งค้าง
ประการที่ 4 สัจจะต่อวาจา
[แก้]สัจจะต่อวาจา คือ จริงต่อวาจา นั่นก็คือคำพูดของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปาก หรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่นก็ตาม สัจจะต่อวาจามีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
- พูดอย่างไรทำอย่างนั้น คือ เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้จริงตามที่พูด
- ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือ การพูดคำจริง เมื่อเราทำอะไรลงไปก็พูดไปตามนั้น การกระทำต้องตรงกับคำพูดของตัวเองเสมอ
ประการที่ 5 สัจจะต่อบุคคล
[แก้]สัจจะต่อบุคคล คือ ต้องจริงต่อบุคคล ในที่นี้คือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา จริงต่อบุคคลนั้น หมายถึง การเป็นผู้ที่ประพฤติต่อคนอื่นอย่างสม่ำเสมอ ไม่กลับกลอก และความจริงต่อบุคคลจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความจริงใจต่อกัน ถ้าเราอยากให้คนอื่นเขาจริงใจต่อเรา เราก็ต้องให้ความจริงกับเขาด้วย