สระสองห้อง
หนองสองห้อง | |
ที่ตั้ง | พระราชวังจันทน์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก |
---|---|
พิกัด | 16°49′48.8″N 100°15′35.4″E / 16.830222°N 100.259833°E |
ประเภท | สระ, โบราณสถาน |
ขึ้นเมื่อ | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในจังหวัดพิษณุโลก |
สระสองห้อง (เดิมเรียก หนองสองห้อง) เป็นสระน้ำตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกกำแพงพระราชวังจันทน์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
สระสองห้องประกอบไปด้วยสระน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่จำนวน 2 สระ สระยาวตามแกนทิศเหนือและทิศใต้ มีเกาะคันดินขนาด 15 × 15 เมตรคั้นกลางทำให้แบ่งสระได้สองส่วน คาดว่าสร้างขึ้นเพื่อการชลประทานของพระราชวังจันทน์
น้ำภายในสระสองห้องถูกนำไปใช้ประกอบพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก โดยครั้งล่าสุดได้นำน้ำจากสระไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]: 144
ประวัติ
[แก้]สระสองห้องไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารร่วมสมัย คาดว่าสร้างมาพร้อมกับพระราชวังจันทน์ในสมัยสุโขทัยหรือสมัยอยุธยา เพื่อการชลประทานและสระเก็บน้ำในพระราชวัง ในบริเวณกลางสระสองห้องได้พบโบราณวัตถุสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่ามีพลับพลาหรือพระที่นั่งเย็นตั้งอยู่คาดว่าทำมาจากไม้ เนื่องจากไม่พบโครงสร้างสถาปัตยกรรม[2]
สระสองห้องปรากฏหลักฐานเมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาเมื่อครั้งเสด็จมาพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2444 โดยเสด็จมายังพระราชวังจันทน์ และเสด็จทอดพระเนตรสระสองห้องด้วย ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำแผนที่พระราชวังจันทน์ และสระสองห้อง จากแผนที่พบว่ามีการขุดคลองชื่อว่า คลองมะดัน เชื่อมต่อระหว่างสระสองห้องกับแม่น้ำน่านทางทิศเหนือ[2]
สระทิศเหนือ | สระทิศใต้ | |
---|---|---|
16°49′50.1″N 100°15′35.1″E / 16.830583°N 100.259750°E | 16°49′47.6″N 100°15′35.3″E / 16.829889°N 100.259806°E | |
กว้าง: | 40 เมตร | 40 เมตร |
ยาว: | 160 เมตร | 160 เมตร |
การใช้งาน
[แก้]น้ำจากสระสองห้องถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกของกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[2]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้นำน้ำจากสระสองห้องไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493, พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530, พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542, และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อสรงมูรธาภิเษกและอภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์[3]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้พลีกรรมตักน้ำจากสระสองห้อง พิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีพลีกรรม จากนั้น ตั้งขบวนเพื่ออัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ของสระสองห้องไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อประกอบพิธีอภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์[3][4][5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. น้ำอภิเษก. 2562.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 นาตยา ภูษี และสายสวรรค์ ขยันยิ่ง (11 มีนาคม 2562). เถลิงกษัตราธิราช Lightning Talk ตอน สระสองห้องพระราชวังจันทน์อีกหนึ่งแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์; ช่อง 3.
- ↑ 3.0 3.1 พิษณุโลกเตรียมพร้อมสระสองห้อง ในพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ เกือบ 100 % มติชน. 1 เมษายน 2562.
- ↑ ซ้อมเสมือนจริงพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ สระสองห้อง พระราชวังจันทน์ จ.พิษณุโลก
- ↑ เชิญชวนชาวจังหวัดพิษณุโลกร่วมพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ “สระสองห้อง” พระราชวังจันทน์