สมเพียร เอกสมญา
สมเพียร เอกสมญา | |
---|---|
สมเพียรในปี 2513 | |
เกิด | เนี้ยบ แซ่เจ่ง 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 จังหวัดสงขลา ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 (59 ปี) จังหวัดยะลา ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | ตำรวจ |
มีชื่อเสียงจาก | เสียชีวิตระหว่างการปราบปรามพวกก่อความไม่สงบในจังหวัดยะลา และการทำเรื่องย้ายที่ไม่สำเร็จ |
คู่สมรส | พิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ |
บุตร | ชุมพล เอกสมญา เสรฐวุฒิ เอกสมญา อรรถพร เอกสมญา ส.ต.อ.โรจนินทร์ ภูวพงศ์พิทักษ์ |
รับใช้ | สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาค 9 |
---|---|
ประจำการ | พ.ศ. 2513 – 2553 |
ชั้นยศ | พันตำรวจเอก (พ.ศ. 2550) พลตำรวจเอก (พ.ศ. 2553) |
การยุทธ์ | ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย †[1] |
พลตำรวจเอก สมเพียร เอกสมญา (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493[2] – 12 มีนาคม พ.ศ. 2553) เคยดำรงตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา รับราชการตำรวจตั้งแต่เป็น สิบตำรวจตรี จนถึงยศพันตำรวจเอก ได้ฉายาว่าจ่าเพียร นักสู้แห่งเทือกเขาบูโดและจ่าเพียร ขาเหล็ก จากการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลากว่า 40 ปี เขาได้รับเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจเอกหลังจากเสียชีวิต และเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาหลังทราบว่าเขาพยายามขอย้ายแต่ไม่ได้
ประวัติ
[แก้]สมเพียร เป็นบุตรคนที่ 4 ใน 10 คน ของไกร ชาวบ้านวังใหญ่ จังหวัดสงขลา กับโกว แซ่เจ่ง ชาวจีนอพยพมาจากไหหลำ เมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า "เนี้ยบ"[3] เกิดที่ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา[4] จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนมัธยมเทพา[3] มัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันคือ สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช)[5] ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา เมื่อ พ.ศ. 2513 (นพต. รุ่น 15)[4] เริ่มต้นชีวิตรับราชการตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งในขณะนั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตเคลื่อนไหวของขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ทั้งโจรจีนคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้าย และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เคยผ่านการยิงปะทะมาแล้วนับร้อยครั้ง สามารถสังหารฝ่ายตรงข้าม ยึดอาวุธปืน และที่พักเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลในการนำกำลังเข้าปะทะกับโจรก่อการร้ายดังกล่าว ทำให้ได้รับบาดเจ็บทั้งเล็กน้อยและสาหัสถึง 8 ครั้ง[6][7]
เมื่อปี พ.ศ. 2519 จ่าสิบตรี สมเพียร เปิดฉากยิงปะทะกับขบวนการโจรก่อการร้าย กลุ่มนายลาเตะ เจาะปันตัง ที่จับตัวตำรวจและครอบครัวไปเรียกค่าไถ่ที่เทือกเขาเจาะปันตัง อำเภอบันนังสตา ผลจากการปะทะเขาถูกสะเก็ดระเบิดที่ขาซ้ายและหน้าอก ได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกส่งรักษาตัว ณ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา และจากการปะทะในครั้งนี้ทำให้ขาข้างซ้ายแทบพิการ[6][7]
ปี พ.ศ. 2526 ยิงปะทะกับขบวนการโจรก่อการร้าย กลุ่มนายคอเดร์ แกแตะ กับพวกประมาณ 30 คนที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ถูกยิงที่ต้นขาขวากระสุนฝังใน[6][7][8]
ปี พ.ศ. 2550 สมเพียร กลับสู่บันนังสตา มารับตำแหน่ง ผกก.สภ.บันนังสตา ติดยศ พ.ต.อ. ในขณะที่แผ่นดินกำลังลุกเป็นไฟ กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ สามารถจัดตั้งแนวร่วมฯ และกองกำลังรบขนาดเล็ก (RKK) เพื่อใช้ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ ให้ได้รับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ถูกลอบยิง วางระเบิด ฆ่าตัดคอ ล้มตายเป็นใบไม้ร่วง นับเป็นงานที่หนักและท้าทายอย่างมาก แม้รูปแบบการก่อความไม่สงบของกลุ่มคนร้ายได้ปรับเปลี่ยนไปจากเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วมาก แต่อาศัยเป็นผู้ชำนาญในพื้นที่มาก่อน และมีแหล่งข่าวเก่าที่เคยทำงานร่วมกันในอดีต จึงไม่เกินความสามารถที่จะที่จะสืบเสาะหาแหล่งกบดาน และติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ และหลังจากเข้ามารับตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรบันนังสตาได้ไม่นาน วันที่ 1 สิงหาคม 2550 ได้ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดเข้าปิดล้อมตรวจค้น และยิงปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้ายที่บ้านเตี๊ยะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กลุ่มสุริมิง เปาะสา ที่ก่อเหตุร้ายในพื้นที่หลายครั้ง ผลการปะทะ ทำให้กลุ่มคนร้ายเสียชีวิต 6 ราย สามารถยึดอาวุธปืนสงครามและยุทธภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมาก[9]
วันที่ 18 สิงหาคม 2550 สนธิกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมายในพื้นที่หมู่บ้านตะโล๊ะซูแม อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ได้ยิงปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้าย 5 นาที คนร้ายเสียชีวิต 1 คน ยึดอาวุธปืนพกขนาด 11 มม. 1 กระบอก[10]
วันที่ 30 ตุลาคม 2550 นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการติดตามจับกุมกลุ่มคนร้าย ที่หมู่ 2 บ้านกือลอง ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เกิดการปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้าย ประมาณ 20 นาที ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตใน ที่เกิดเหตุจำนวน 2 ราย ยึดอาวุธปืนพกได้ 1 กระบอก พร้อมยุทธภัณฑ์จำนวนหนึ่ง[11]
วันที่ 29 มกราคม 2551 สนธิกำลังร่วมกับฝ่ายทหาร และฝ่ายปกครอง จัดกำลังเข้าไปติดตามจับกุมคนร้ายในพื้นที่ หมู่บ้านบูกาซาแก่ หมู่ 1 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.ยะลา เกิดการยิงปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้าย เป็นเหตุให้ จ.ส.ต.ศรศักดิ์ รักนาย ผบ.หมู่ (ป.) สภ.บันนังสตา ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต และฝ่ายคนร้ายถูกยิงเสียชีวิตจำนวน 1 ราย ทราบชื่อ นายสุไลมาน อภิบาลแบ เป็นผู้ต้องหาสำคัญตามหมายจับของศาล จังหวัดยะลาหลายคดี[12]
วันที่ 19 เมษายน 2551 โดยในวันที่ 18 เมษายน 2551 ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กลุ่มของนาย หะยีสการียา หะยีสาเมาะ แกนนำสำคัญของกลุ่มก่อความไม่สงบ กับพวกประมาณ 13 คน ได้ปรากฏตัว และหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ บ้านตือระ หมู่ที่ 8 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงได้สนธิกำลัง 3 ฝ่าย เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งการเข้าไปปฏิบัติการกระทำได้ยากลำบาก เนื่องจากมีแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่เต็มพื้นที่ และรอบ ๆ จึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี โดยขนย้ายกำลังข้ามแม่น้ำปัตตานี ซึ่งอยู่ตรงข้ามเป้าหมาย เพื่อตัดโอกาสแจ้งข่าว จึงได้ลำเลียงกำลังพลข้ามแม่น้ำปัตตานี โดยใช้แพยางลอยคอเกาะกลุ่มกันไปท่ามกลางกระแสน้ำ ที่เชี่ยวกราก และเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง จาก การยิงปะทะต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในสถานการณ์ที่ไม่ได้เปรียบกับฝ่ายตรงข้าม สามารถสังหารฝ่ายตรงข้ามจำนวน 1 ราย ทราบ ชื่อ นายเพาซี อาลีเมาะ แนวร่วมคนสำคัญที่ก่อเหตุมาหลายครั้ง[13]
วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ได้สนธิกำลังเข้าไปติดตามจับกุมคนร้ายในพื้นที่บ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และเกิดการยิงปะทะต่อสู้กัน เป็นเหตุให้คนร้ายเสียชีวิตจำนวน 1 ราย ทราบชื่อ นายมะ แวดอนิ อายุ 24 ปี สามารถยึดอาวุธปืนพกสั้น ขนาด 9 มม. ได้จำนวน 1 กระบอก ตำรวจบาดเจ็บ 8 นาย[14]
วันที่ 23 มิถุนายน 2551 รับรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ได้ก่อเหตุซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ชุดพลร่ม ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตจำนวน 1 นาย และบาดเจ็บจำนวน 5 นาย ได้หลบซ่อนตัวอยู่หลังหมู่บ้านบางกลาง หมู่ที่ 3 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อส. เข้าติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยจัดกำลังชุดปฏิบัติการ 4 ชุด ต่อมาเมื่อเวลา 16.05 น. ชุดปฏิบัติการที่ 3 ได้ยิงปะทะสู้กับกลุ่มของคนร้าย เป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 1 ราย ต่อมาชุดปฏิบัติการที่ 2 ยิงปะทะต่อสู้กับกลุ่มคนร้าย เป็นเหตุให้ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตอีก 1 ราย ก่อนขอกำลังสนับสนุนสังหารกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 ราย[15]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]พล.ต.อ.สมเพียร เมื่อกำเนิดมีชื่อว่า เนี้ยบ แซ่เจ่ง[3] ชื่อจริงว่า สมเพียร ถูกตั้งโดยครู เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวังใหญ่ ส่วนนามสกุล "เอกสมญา" ได้เปลี่ยนเมื่อเข้าเรียนโรงเรียนตำรวจ โดยอาศัยใช้นามสกุลของนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง[3]
พล.ต.อ.สมเพียร สมรสกับ นางสาวพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ บุตรสาวของนายตำรวจโรงพักปันนังสตา[3] เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2514[16] มีบุตรชาย 4 คนได้แก่ นายชุมพล เอกสมญา, นายเสรฐวุฒิ เอกสมญา, นายอรรถพร เอกสมญา และ ส.ต.อ.โรจนินทร์ ภูวพงศ์พิทักษ์[2]
จากทำงานในพื้นที่มาอย่างโชกโชนและยาวนาน ทำให้ทางครอบครัวเกิดความวิตกพร้อมทั้งขอให้เปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "ภูวพงษ์พิทักษ์" เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ พล.ต.อ.สมเพียร ได้ขอกลับมาใช้นามสกุลเดิม ส่วนนามสกุลใหม่มีภรรยาและบุตรชายคนที่ 2 - 3 ใช้ จนกระทั่งวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 กลุ่มคนร้ายได้ลอบวางระเบิดขึ้นหลายจุดในพื้นที่วางแผนให้ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา นำกำลังเดินทางเข้าไป จนถูกคนร้ายระเบิดรถยนต์ที่นั่งคันเดียวกันนี้ ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย บริเวณบ้านยีลาปัน หมู่ที่ 11 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา บนถนนสาย 410 ยะลา – เบตง[8]
ทำการเรื่องย้าย
[แก้]วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 พล.ต.อ. สมเพียร เดินทางมาร้องเรียนกับ พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หลังการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผบก.-สว.ครั้งที่ผ่านมาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย เพราะพล.ต.อ. สมเพียรขอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโยกย้ายไปเป็นผกก.สภ.กันตัง จังหวัดตรัง พื้นที่ของตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งมีตำแหน่งว่างอยู่ และเห็นว่าเป็นปีสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณราชการในปี พ.ศ. 2553 นี้แล้ว หลังจากที่รับราชการตำรวจตั้งแต่ชั้นประทวนมาเป็นเวลา 40 ปี แต่สุดท้ายไม่ได้รับการพิจารณา โดยไม่ทราบเหตุผลชัดเจน จนต้องร้องเรียนเรื่องนี้ให้รัฐบาลรับทราบ[17][18]
เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีไม่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และขอความเป็นธรรมให้ข้าราชการตำรวจที่มีผลงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.ต.อ. สมเพียร กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือผ่าน พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา สบ.10 เพื่อขอย้ายไปเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งทราบจากสื่อมวลชนว่ารายชื่อของตนได้มีการบรรจุในบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาทางภาค 9 กลับไม่ยินยอม กลับมีชื่อนายตำรวจคนอื่นไปรับตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.กันตัง แทน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตำแหน่งดังกล่าวว่างอยู่ ทางผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องที่จะให้ตนไปรับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงเวลาตนกลับไม่ได้รับการพิจารณา ทั้งที่รับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มา 30 ปี และเหลือชีวิตราชการอีกเพียง 18 เดือน จะขอย้ายกลับไปพักผ่อนกับครอบครัวบ้างกลับไม่ได้รับการพิจารณา[19]
กระแสข่าวกล่าวว่า เดิมผู้บังคับบัญชากำหนดให้ พล.ต.อ. สมเพียร จะมาดำรงตำแหน่งผกก.สภ.กันตัง จังหวัดตรัง แต่ต้องหลีกทางให้กับนายตำรวจอีกคนหนึ่งที่ย้ายมาจาก สภ.หาดสำราญ จังหวัดตรัง โดยจะย้ายพล.ต.อ. สมเพียรไปเป็นผกก.สภ.เมืองตรัง แทนคนเดิมที่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น รอง ผบก.จว.ตรัง[4] ในที่สุดกลับต้องหลีกทางให้นายตำรวจอีกคนหนึ่งที่ถูกผู้บังคับบัญชาต้องการให้ย้ายออกจากตำแหน่งผกก.สภ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปประจำ สภ.บันนังสตา แต่เนื่องจากนายตำรวจคนนั้นไม่อยากย้ายไปอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้วิ่งเต้นกับนักการเมืองในจังหวัดสงขลาและจังหวัดตรังให้ย้ายตนไปเป็นผกก.สภ.เมืองตรังแทน โดย พล.ต.อ. สมเพียรต้องดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.ปันนังสตา ตามเดิม[4]
อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาชี้แจงว่าคณะกรรมการ ก.ตร. ได้เตรียมพิจารณาข้อเรียกร้องของ พล.ต.อ. สมเพียรในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553 โดยจะพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเป็น รอง ผบก. แต่ พล.ต.อ. สมเพียรได้เสียชีวิตเสียก่อน[4]
การเสียชีวิต
[แก้]วันที่ 12 มีนาคม 2553 ในขณะที่ พล.ต.อ.สมเพียร นั่งรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้าไฮลักซ์วีโก้ 4 ประตู สีน้ำตาล หมายเลขทะเบียน กข 9302 ยะลา พร้อมลูกน้อง 3 นาย และอส.คนสนิท อีก 1 นาย คือ ร.ต.ท.กิตติศักดิ์ โรมา รองสว.สส.สภ.บันนังสตา, ด.ต.โสภณ อินทรบวร,ส.ต.ท.ระวิกรณ์ สังข์ศิริ และอส.อับดุลอาซิ กาจะลากี ออกไปติดตามหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลังทราบข่าวว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้ออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ เมื่อขับรถยนต์มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม จำนวน 5-8 คน กดระเบิดที่ฝังไว้ และใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ จำนวนหลายชุด เกิดการปะทะกันประมาณ 10 นาที เมื่อกำลังเสริมเข้าไปกลุ่มคนร้ายได้ล่าถอยเข้าไปในป่า ทั้งหมดถูกลำเลียงทั้งทางรถยนต์ และทางเฮลิคอปเตอร์เป็นการด่วน แรงระเบิดและคมกระสุนส่งผลให้ พล.ต.อ.สมเพียร ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตที่ รพ.ศูนย์ยะลา สิริอายุ 59 ปี ส่วนลูกน้องคนสนิท 4 นาย บาดเจ็บสาหัส[20][19] ส่วน ด.ต.โสภณ อินทรบวร เสียชีวิตในเวลาต่อมา[21] และได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจเอก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย เป็นกรณีพิเศษ[22]
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่สามารถยิงคนที่ทำ พล.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิตได้, เป็นแกนนำระดับสูงชื่อ มะแอ อภิบาลแบ ที่มีคดีอยู่ 28 คดี[23]
การพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ
[แก้]หลังจาก พล.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิต ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาตอบแทนให้เลื่อนขั้น 7 ขั้นยศเป็น พลตำรวจเอก ในวันที่ 13 มีนาคม มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และมอบเงินสวัสดิการตำรวจที่จะช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวนเงิน 3 ล้านบาท พร้อมดูแลการศึกษาของทายาทจนจบระดับปริญญาตรี หรือการรับเข้าทำงานราชการตำรวจต่อไป ซึ่งจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่[24]
หลังจากเกิดเหตุ ชาวบ้านในพื้นที่ อ.บันนังสตา ได้แจ้งข้อมูลข่าวสารมายัง สายด่วน 1880 ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าชุดที่ก่อเหตุลอบวางระเบิดรถ ผกก.สมเพียร คือ กลุ่มของนายมุตา อาลีมามะ แกนนำคนสำคัญที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ต.บาเจาะ ต.ตลิ่งชัน และ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังตา และ ชุดสืบสวนสอบสวนของ สภ.บันนังสตา ทราบตัวผู้ก่อเหตุ และได้ขออนุญาตศาลออกหมายจับ นายมะตอแฮ สิแล อายุ 31 ปี อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา หมายจับเลขที่ 160/50 มีคดีความมั่นคงในการร่วมก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่หลายคดี และนายยูกีบือลี เจ๊ะดีแม อายุ 31 ปี อยู่ หมู่ที่ 4 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา หมายจับเลขที่ 121/51 ในคดีร่วมกันฆ่าเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตาได้ออกติดตามไล่ล่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งคาดว่ายังคงเคลื่อนไหว หลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ ต.ตลิ่งชัน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ และเขตร่อยต่อ อ.กรงปินัง จ.ยะลา[21]
วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553 เมื่อเวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ณ วัดคลองเปล ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังความปลื้มปีติให้แก่ครอบครัวของ พล.ต.อ.สมเพียร เป็นล้นพ้น[22]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2553 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) (หลังเสียชีวิต)[25]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[26]
- พ.ศ. 2525 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร (ร.ม.ก.)[27]
- พ.ศ. 2556 – เหรียญกล้าหาญ (ร.ก.) (ทายาทเป็นผู้รับแทน)[28]
- พ.ศ. 2521 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[29]
- พ.ศ. 2525 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[30]
- พ.ศ. 2529 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[31]
- พ.ศ. 2553 – เหรียญลูกเสือสรรเสริญ ชั้นที่ 1[32]
ปฏิกิริยาตอบรับ
[แก้]ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุมากกว่า 18 ปี ใน 17 จังหวัด จำนวน 2,071 ตัวอย่าง รายงานผลว่า สมเพียร เอกสมญา เป็นบุคคลที่น่าชื่นชมที่สุดแห่งปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 69.2 ของผู้ตอบแบบสอบถาม[33]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1 ปี 'จ่าเพียร' สิ้นวีรบุรุษขาเหล็ก...เขาบูโด
- ↑ 2.0 2.1 ชาวยะลาร่วมพิธีรดน้ำศพผกก.สมเพียรแน่นวัด[ลิงก์เสีย] จาก คมชัดลึก สืบค้นวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ปณัสย์ พุ่มริ้ว, เรื่องจากปก, นิตยสาร ฅ คน ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (54) เมษายน พ.ศ. 2553 เก็บถาวร 2010-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน้า 34-63
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 18 ฉบับที่ 929, 19 มีนาคม 2553 หน้า 8-9
- ↑ ประวัติ พล.ต.อ. สมเพียรจากเว็บไซต์ของนายณรงค์ ชื่นนิรันดร์
- ↑ 6.0 6.1 6.2 จ่าเพียร ยอดมือปราบแห่งบันนังสตา บุรุษผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ สารคดี จ่าเพียร สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2010
- ↑ 7.0 7.1 7.2 บทสัมภาษณ์สุดท้าย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา...อยากให้ผู้บังคับบัญชารับรู้ว่าพวกเราทำงานกันอย่างไร สำนักข่าวอิศรา สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2553
- ↑ 8.0 8.1 สิ้น “วีรบุรุษเทือกเขาบูโด” สะท้อนชีวิตตำรวจน้ำดีถูกจองกรรมชายแดนใต้ ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2553
- ↑ ครู4ร.ร.ระทึกโจรใต้ปิดทางบึ้มรปภ.ครูปัตตานี เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน wbns.oas.psu.ac.th
- ↑ จับแกนนำเดือนสิงหาคม 2550 narongthai.com
- ↑ ดวลเดือด บันนังสตา วิ2โจรใต้ sanook.com วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550 08:50 น
- ↑ จับตายอาร์เคเคตำรวจพลีชีพ[ลิงก์เสีย] siangtai.com วันที่ 30 มกราคม 2551
- ↑ ปิดล้อมโจรใต้ กลุ่ม "สมาน อภิบาลแบ" ขณะรวมตัววางแผนดักซุ่มโจมตีทหารในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เก็บถาวร 2022-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน wbns.oas.psu.ac.th
- ↑ จนท.วิสามัญฯ โจรใต้ดับคาที่ 1 ศพ ซุ่มยิงทหารเจ็บ 1 นาย songkhlatoday.com 23 พฤษภาคม 2551 12:50 น. [ลิงก์เสีย]
- ↑ ทหาร-ตร.ปะทะอาร์เคเคที่บันนังสตายะลาโจรดับ 2 เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน boybdream.com 23 มิถุนายน 2551 14:55 น.
- ↑ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ตายเพราะการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม, กนก รัตน์วงศ์สกุล, เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 18 ฉบับที่ 929, 19 มีนาคม 2553, คอลัมน์ ชีวิตรื่นรมย์ หน้า 86
- ↑ โผล่อีก! ผกก.บันนังสตา ร้องโยกย้ายไม่เป็นธรรม[ลิงก์เสีย] โดย ASTVผู้จัดการ 23 กุมภาพันธ์ 2553 15:36 น.
- ↑ เส้นทาง 40 ปี "พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา" คนกล้าแห่งบันนังสตา เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 มีนาคม 2553 14:04
- ↑ 19.0 19.1 "พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.บันนังสตาคนดังสิ้นใจ โดนบึ้มขณะตรวจท้องที่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-22. สืบค้นเมื่อ 2010-03-15.
- ↑ คนร้ายกดบึ้ม! ก่อนยิงซ้ำ “ผกก.บันนังสตา” เสียชีวิตลูกน้องสาหัส 4 เก็บถาวร 2011-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 มีนาคม 2553 17:43 น.
- ↑ 21.0 21.1 ตร.ยะลาออกหมายจับ 2 มือระเบิดรถ “ผกก.สมเพียร” แล้ว[ลิงก์เสีย] โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 มีนาคม 2553 12:23 น.
- ↑ 22.0 22.1 “สมเด็จพระบรมฯ” ทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานเพลิงศพ “วีรบุรุษเทือกเขาบูโด” เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 มีนาคม 2553 17:05 น. [ลิงก์เสีย]
- ↑ "เจ้าหน้าที่สามารถวิสามัญคนร้ายได้ทันทีในที่เกิดเหตุ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
- ↑ ปูนบำเหน็จ7ขั้น ผกก.บันนังสตาเป็น พล.ต.อ. sanook.com
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๔, ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๒ ข หน้า ๒๙, ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๗๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๓ มิถุนายน ๒๕๒๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญ, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๔, ๕ เมษายน ๒๕๕๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓, ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๗, ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕๓, ๒๑ มกราคม ๒๕๓๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อ งพระราชทานเหรียญลูกเสือสรรเสริญ, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๐ ข หน้า ๔, ๘ กันยายน ๒๕๕๓
- ↑ โพลยกย่อง'พล.ต.อ.สมเพียร' บุคคลแห่งปี เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพธุรกิจ. (26 ธันวาคม 2553). สืบค้น 31-12-2553.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บทสัมภาษณ์สุดท้าย พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา...อยากให้ผู้บังคับบัญชารับรู้ว่าพวกเราทำงานกันอย่างไร เก็บถาวร 2010-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก ศูนย์ข่าวอิศรา, สถาบันอิศรา, มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
- รูปภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพ ที่ฟลิคเกอร์
- พ.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา วีรบุรุษแห่งบันนังสตา เก็บถาวร 2010-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2493
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2553
- ตำรวจชาวไทย
- บุคคลจากอำเภอเทพา
- ชาวไทยเชื้อสายไหหลำ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร
- ชาวไทยที่ถูกลอบสังหาร
- บุคคลจาก กศน.
- เสียชีวิตจากอาวุธปืน
- เสียชีวิตจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
- บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย หลัง พ.ศ. 2544