ข้ามไปเนื้อหา

พระสุริโยทัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระสุริโยทัย
พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา
ดำรงพระยศพ.ศ. 2091
ก่อนหน้านางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
ถัดไปพระวิสุทธิกษัตรีย์
สวรรคต3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2092
พระราชสวามีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
พระราชบุตรพระราเมศวร
พระวิสุทธิกษัตรีย์
สมเด็จพระมหินทราธิราช
พระบรมดิลก
พระเทพกษัตรีย์
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

พระสุริโยทัย หรือคำให้การชาวกรุงเก่าออกพระนามว่าพระมหาเทวี[1] เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 15 ของอาณาจักรอยุธยาสมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระสุริโยทัยตามพงศาวดารหลวงประเสริฐฯ กล่าวเพียงแค่เป็นอัครมเหสีผู้เสียสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องพระราชสวามีในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ในปี พ.ศ. 2092 จึงได้รับยกย่องเป็นวีรสตรี

พระราชประวัติ

[แก้]

พระสุริโยทัยทรงเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อจากขุนวรวงศาธิราชได้เพียง 7 เดือน เมื่อ พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และมหาอุปราชาบุเรงนองยกกองทัพพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์และเข้ามาตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของพระสุริโยทัย เพราะขณะพระเจ้าแปรตะโดธรรมราชาที่ 1 กำลังปะทะกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระนางได้ไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางด้วยเกรงว่าพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่ง สวรรคตอยู่บนคอช้าง เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ปีจุลศักราช 910 ตรงกับวันเดือนปีทางสุริยคติคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2091 เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระบรมศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพเป็นวัดศพสวรรค์[2] (หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์ในปัจจุบัน)

พระวีรกรรมในหลักฐานไทย

[แก้]
พระสุริโยทัย (กลาง) ไสช้างเข้าขวางช้างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ขวา) ซึ่งกำลังเสียทีช้างพระเจ้าแปร (ซ้าย) ในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ (จิตรกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2090 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกไปดูกำลังข้าศึกที่ภูเขาทอง[3] พระสุริโยทัยพร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดารวม 4 พระองค์ตามเสด็จด้วย โดยพระองค์ทรงแต่งกายอย่างพระมหาอุปราช ทรงช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์สูง 6 ศอก[4] ครั้นยกกองทัพออกไปบริเวณทุ่งภูเขาทอง กองทัพอยุธยาปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพม่า ช้างทรงของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดเสียทีหันหลังหนีจากข้าศึก พระเจ้าแปรก็ทรงขับช้างไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พระสุริโยทัยทอดพระเนตรเห็นพระราชสวามีกำลังอยู่ในอันตรายจึงรีบขับช้างเข้าขวางพระเจ้าแปร ทำให้ทรงไม่สามารถติดตามต่อไปได้[5][6] พระเจ้าแปรจึงทำยุทธหัตถีกับพระสุริโยทัย เนื่องจากพระนางอยู่ในลักษณะเสียเปรียบ ช้างพระเจ้าแปรได้เสยช้างพระสุริโยทัย จนเท้าหน้าทั้งสองลอยพ้นพื้นดิน แล้วพระเจ้าแปรจึงฟันพระสุริโยทัยด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสาขาดถึงราวพระถัน[7][3] ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่ามีพระราชธิดาสิ้นพระชนม์บนคอช้างด้วย[8][9][10][11]

ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระองค์ขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย แต่ตัวตนและความเสียสละของพระองค์ยังเป็นหัวข้อที่ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ เนื่องจากความจริงที่ว่าพระนามของพระองค์มิได้ถูกกล่าวถึงหรือบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่าเลย[12] และข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์ถูกคัดมาจากบางตอนของจดหมายเหตุกรุงศรีอยุธยาและการบรรยายของนักสำรวจชาวโปรตุเกส โดมิงกู เซชัส (Domingo Seixas)[13]

พระราชโอรสและพระราชธิดา

[แก้]

พระสุริโยทัยมีพระราชโอรสพระราชธิดา 5 พระองค์ ซึ่งน่าจะเรียงลำดับดังนี้

  1. พระราเมศวร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ถูกจับเป็นองค์ประกันแก่พม่า และสิ้นพระชนม์ระหว่างไปหงสาวดี
  2. พระสวัสดิราช พระราชธิดา ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและเป็นพระมารดาในพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
  3. พระมหินทร์ พระราชโอรสองค์รอง ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2112
  4. พระบรมดิลก พระราชธิดา เสียพระชนม์ชีพพร้อมพระมารดาในสงครามคราวเสียพระสุริโยไท
  5. พระเทพกษัตรี พระราชธิดา ภายหลังถูกส่งตัวถวายแด่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งระหว่างการเดินทางถึงชายแดนสยามประเทศพระนางถูกพระเจ้าบุเรงนองชิงตัวไปยังกรุงหงสาวดี

พระราชานุสาวรีย์

[แก้]

หลังสงคราม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้พระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสุริโยทัยที่สวนหลวง แล้วสร้างวัดอุทิศพระราชกุศลพระราชทาน คือ วัดสวนหลวงสบสวรรค์ สถูปขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเก็บพระบรมอัฐิของสมเด็จพระสุริโยทัย ถูกเรียกว่า เจดีย์พระศรีสุริโยทัย[6]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้มีโครงการก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ในบริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระสุริโยทัยและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2535

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ได้มีการนำพระราชประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัยมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ในปี พ.ศ. 2535 ทางช่อง 3 โดยมีกาญจนา จินดาวัฒน์ รับบทเป็นสมเด็จพระสุริโยทัย และภาพยนตร์จากการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในปี พ.ศ. 2544 โดยมีหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รับบทเดียวกัน

ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง "สุริโยไท" ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2544 เนื้อหากล่าวถึงตั้งแต่การสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่สงครามและยุทธหัตถี และนำไปสู่การสวรรคตของสมเด็จพระสุริโยทัย ภาพยนตร์ใช้ต้นทุนสร้าง 550 ล้านบาท

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 497
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 90
  3. 3.0 3.1 วีรสตรีไทย: สมเด็จพระสุริโยทัย เก็บถาวร 2010-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สารานุกรมไทยฉบับเยาวชนฯ ฉบับที่ ๒๑. สืบค้น 28 สิงหาคม 2553
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 79
  5. Wood, William A. R. (1924). History of Siam. Thailand: Chalermit Press. ISBN 1931541108. p. 113.
  6. 6.0 6.1 Prince Damrong Rajanubhab, Disuankumaan (Originally in 1917, 2001 edition). Our Wars With The Burmese: Thai-Burmese Conflict 1539-1767. Thailand: White Lotus Co. Ltd. ISBN 9747534584. p. 19 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Damrong 19" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 81
  8. ฉบับหลวงประเสริฐ, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 497
  9. Wood, William A. R. (1924). History of Siam. Thailand: Chalermit Press. ISBN 1931541108. p. 112.
  10. Prince Damrong Rajanubhab, Disuankumaan (Originally in 1917, 2001 edition). Our Wars With The Burmese: Thai-Burmese Conflict 1539-1767. Thailand: White Lotus Co. Ltd. ISBN 9747534584. p.11.
  11. Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Laurier Books Ltd. ISBN 8120613651. p. 159
  12. A Historical Divide เก็บถาวร 2010-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Subhatra Bhumiprabhas. Retrieved 2010-03-04
  13. Suriyothai: The Sun and The Moon.Retrieved 2010-03-04 เก็บถาวร 2006-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82 เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ 2, กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. ISBN 974-419-025-6
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (38)-(39), (41). ISBN 978-616-92351-0-1
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9