ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา
พระอัครมเหสี
คู่อภิเษกพระนารายน์ราชารามาธิบดี
พระราชบุตรนักองค์เภา
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
พระบิดาสมเด็จพระแก้วฟ้า (นักองค์ด้วง)
พระมารดานักนางทา
ศาสนาพุทธ

สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา มหากระษัตรี บรมบพิตร พระนามเดิม นักนางอี เป็นพระธิดาในสมเด็จพระแก้วฟ้า (นักองค์ด้วง) ประสูติแต่นักนางทา ต่อมารับราชการเป็นพระอัครมเหสีในพระนารายน์ราชารามาธิบดี มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือนักองค์เภา บาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

พระประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา เป็นพระธิดาในสมเด็จพระแก้วฟ้า (นักองค์ด้วง) ประสูติแต่นักนางทา ธิดาพระยากระลาโหม (เมี้ยน)[1] และทรงมีเชื้อสายไทยจากพระอัยยิกาฝ่ายพระชนกชื่อนักนางรอด เป็นหญิงจากกรุงศรีอยุธยา[1] มีพระอนุชาร่วมบิดามารดาชื่อนักองค์ธม และพระเชษฐาต่างมารดาไม่มีพระนามอีกพระองค์[1] เมื่อจำเริญชันษาขึ้นได้ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นฝ่ายใน พระนารายน์ราชารามาธิบดีทรงยกนักนางอีขึ้นเป็นพระอัครมเหสีทรงพระนาม สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา มหากระษัตรี บรมบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2311[2] คู่กับสมเด็จพระภัควดี พระเอกกระษัตรี ซึ่งเป็นอัครมเหสีอีกพระองค์โปรดที่แต่งตั้งไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2308[3] หลังจากนั้นสมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดาประสูติการพระราชธิดาพระองค์เดียว มีพระนามว่านักองค์เภา[2] และด้วยความที่พระองค์เป็นพระอัครมเหสี จึงมีฐานะเป็นพระมารดาเลี้ยงหรือสมเด็จพระท้าวของนักองค์เองด้วย

เมื่อกรุงกัมพูชาเกิดจลาจล พระยายมราช (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) พาเจ้านายเขมรและเขมรเข้ารีตประมาณ 500 คน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อ พ.ศ. 2325 เจ้านายเขมรที่เสด็จลี้ภัยในคราวนั้น ได้แก่ สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา, นักนางแม้น, นักองค์อี, นักองค์เภา และนักองค์เอง แต่นักองค์เม็ญป่วย ถึงแก่พิราลัยเสีย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกราบทูลขอนักองค์อีและนักองค์เภาไปเป็นพระสนมเอกในวังหน้าสองพระองค์ ส่วนนักองค์เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชโอรสบุญธรรม เข้าใจว่าสมเด็จพระภัควดีคงประทับอยู่ร่วมกับนักองค์เองในวังเจ้าเขมรหรือในวังหน้าร่วมกับนักองค์เภา ส่วนนักนางแม้นบวชเป็นชีที่วัดหลวงชี (ปัจจุบันคือวัดบวรสถานสุทธาวาส) ในวังหน้า[4][5][6][7]

ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา และนักองค์เภา เดินทางออกจากสยามเข้ากัมพูชาทางเมืองพระตะบอง แล้วเดินทางออกจากพระตะบองพร้อมกับเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (แบน) เสด็จไปประทับที่พระตำหนักตำบลโพธิกำโบ (แปลว่า "โพธิปูน") ตั้งแต่ พ.ศ. 2349[8] และ พ.ศ. 2350 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ตรัสใช้พระองค์แก้ว (ด้วง) และออกญาจักรี (แกบ) นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับสมเด็จพระปิตุจฉาคือนักองค์อีและนักองค์เภาที่ประทับอยู่กรุงสยามกลับคืนกรุงกัมพูชา เอกสารไทยระบุว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไม่โปรดพระราชทาน เพราะ "มีพระองค์เจ้าอยู่ จะให้ออกไปมิได้มารดากับบุตรจะพลัดกัน"[9] กล่าวคือมิทรงอนุญาตให้ทั้งนักองค์อีและนักองค์เภากลับกรุงกัมพูชา[10][11] ขณะที่เอกสารเขมรระบุว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าพระราชทานให้ นักองค์เม็ญ นักองค์เภา และสมเด็จพระภัควดีพระเอกกระษัตรี (น่าจะเป็น สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา) กลับคืนเมืองเขมร เว้นแต่นักองค์อีที่คงให้อยู่กรุงเทพมหานครทั้งมารดาและพระราชบุตร[12]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 120
  2. 2.0 2.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 135
  3. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 134
  4. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (8. พงศาวดารเขมร ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีจนนักองเองเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 160
  6. ไกรฤกษ์ นานา (5 ตุลาคม 2563). "วารสาร "นักล่าอาณานิคม" ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ทำไมสยามสละ "นครวัด" ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "พระราชวังบวรสถานมงคล". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 180
  9. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (129. สมเด็จพระอุทัยทูลขอนักองอี นักองเภา)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 (13. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 156
  12. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 181-183
บรรณานุกรม
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5