ศิลปะอู่ทอง
ศิลปะอู่ทอง หรือ ศิลปะยุคอู่ทอง บ้างเรียก ศิลปะสุพรรณภูมิ-อโยธยา เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17–20 ในระยะเวลาไล่เลี่ยกับศิลปะเชียงแสนและศิลปะสุโขทัย เป็นศิลปะก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา
นิยาม
[แก้]เหตุที่เรียกว่า "อู่ทอง" เพราะแต่เดิมถือว่าศูนย์กลางอาณาจักรอู่ทองอยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่รู้จักและขนานนามกันมากที่สุดคือ พระพุทธรูป โดยกำหนดเอาพระพุทธรูปแบบหนึ่งซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสกุลช่างสมัยทวารวดี ลพบุรี และสุโขทัย เรียกว่า ศิลปะแบบอู่ทอง โดยได้รับอิทธิพลศิลปะทวารวดีมากที่สุด[1]
คำว่า "ศิลปะอู่ทอง" ปรากฏขึ้นครั้งแรกในหนังสือ โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่เขียนขึ้นโดยนักอ่านจารึก ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ และตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 โดยเขียนไว้ว่า "พระพุทธรูปแบบนี้จะเริ่มทำตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอู่ทองได้สร้างกรุงศรีอยุธยา (เมื่อ พ.ศ. 1893) หรือภายหลัง ข้อนี้ที่ยังสงสัยอยู่ พิพิธภัณฑสถานฯ จึงได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปเหล่านี้ว่า สมัยอู่ทอง แปลว่าสมัยพระเจ้าอู่ทอง จะเปนก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาหรือหลังก็ตาม"[2]
แม้อาณาจักรอู่ทองมีขอบเขตแค่ไหนยังไม่เป็นที่ยุติ แต่เท่าที่พบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบที่เรียกว่าอู่ทอง มีอยู่ในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท ลพบุรี อยุธยา ที่ถือกันว่าเป็นศูนย์กลางอาณาจักรอู่ทองซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งเกาะเมืองอยุธยา โดยเรียกว่า เมืองอโยธยา[1]
น. ณ ปากน้ำ เขียนในงานหลายชิ้นว่า ส้าหรับเขาแล้วศิลปะอู่ทองไม่มี ที่มีนั้นได้แก่ ศิลปะแบบอโยธยา-สุพรรณภูมิ หรือ ศิลปะอโยธยา เพราะคำว่า "ศิลปะอู่ทอง" มีต้นก้าเนิดมาจากความเชื่อที่ว่าพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง แต่เมื่อการดำเนินงานทางโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง กลับพบศิลปกรรมที่เก่าแก่ไปถึงพุทธศตวรรษที่ 11–12 อยู่ในช่วงสมัยทวารวดี และถึงแม้เมืองอู่ทองจะมิได้ร้างไปก่อนพระเจ้าอู่ทองราว 200–300 ปี เพราะปรากฏชุมชนโบราณร่วมสมัยอยุธยาตอนต้นอยู่ที่รอบนอกตัวเมือง แต่ก็ยังไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า พระเจ้าอู่ทองจะเสด็จมาจากบริเวณดังกล่าวนั้นได้อย่างไร[3]
สถาปัตยกรรม
[แก้]การก่อสร้างสถาปัตยกรรมมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธลัทธิเถรวาท สืบเนื่องจากศิลปะทวารวดี
การสร้างวัดมีระบียบการจัดแผนผังเข้มงวดเช่นเดียวกับสมัยสุโขทัย คือมีการแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน สถูปยังคงเป็นองค์ประธานของวัด โดยวิหารมีความสำคัญรองมา ส่วนอุโบสถสร้างขนาดเล็กและไม่อยู่ในแนวแกนประธานวัด[4]
ลักษณะโบสถ์ วิหาร ไม่เจาะหน้าต่าง แต่สร้างเป็นทรงยาว ชั้นหลังคาเตี้ย เจดีย์แบบอู่ทองได้รับอิทธิพลจากศิลปะศรีวิชัย ตัวอย่างเช่น วัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดชัยนาท และมีลักษณะเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยม เรือนธาตุ 8 เหลี่ยม มีซุ้มจรนำรับฐานลูกบัวแก้วและองค์ระฆัง
ด้านเทคนิคการก่อสร้างเจดีย์ น. ณ ปากน้ำกล่าวว่า อิฐฝนจนหน้าสัมผัสเรียบ ใช้วิธีสอด้วยดินผสมยางไม้ อิฐต่อกันแนบสนิท นับว่าเป็นวิธีการก่อสร้างชั้นสูง เมื่อเทียบกับศิลปะการก่อสร้างรุ่นหลังเช่นสมัยอยุธยาจะเห็นข้อแตกต่างกันมาก[5]
สถาปัตยกรรมอีกแห่งที่จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมอู่ทองคือ พระปรางค์องค์ใหญ่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี มีความแตกต่างจากปรางค์ศิลปะลพบุรีเพราะย่อมุมมากและลวดลายบนฐานปรางค์ก็สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน[6]
ประติมากรรม
[แก้]งานประติมากรรมที่หล่อด้วยสำริดมีความประณีตและบาง เป็นศิลปะสืบต่อจากทวารวดี ต่อมาผสมกับศิลปะสุโขทัย ลักษณะองค์พระพุทธรูปมีความบางเบาขึ้น พุทธลักษณะเด่นชัดคือ วงพระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม มีไรพระศกเป็นกรอบ[7] ดูเขร่งขรึม คิ้วต่อกันไม่โก่งอย่างสุโขทัยและเชียงแสน พระศกนิยมทำเป็นแบบหนามขนุน มีไรพระศก สังฆาฏิยาว จรดพระนาภี ปลายตัดตรง พระเกตุมาลาหรืออุษณีษะทำเป็นทรงแบบฝาชีอย่างศิลปะลพบุรี ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของ พระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 1 ตัวอย่างของพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 เช่น เศียรธรรมิกราช หรือเศียรพระพุทธรูปอู่ทองหล่อสำริดขนาดใหญ่ที่ได้จากวัดธรรมิกราช พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่ได้จากกรุ พระปรางค์วัดราชบูรณะ[8]
ต่อมาทำอุษณีษะและขมวดพระเกศาหรือขึ้นไปเป็นพระรัศมีแบบเปลวเพลิงตามแบบศิลปะสุโขทัย พัฒนาการคลายความเคร่ง ขรึมที่พระพักตร์ลง มีลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการค่อยๆ ลดอิทธิพลทางศิลปะแบบขอมลง เรียกว่าเป็นแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 ตัวอย่างได้แก่ พระเจ้าพนัญเชิง หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนภาพสลักศิลาและภาพปูนปั้นต่าง ๆ ลักษณะลายเป็นแบบประดิษฐ์มากกว่าสมัยลพบุรี
พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 3 หรือ อู่ทองหน้าหนุ่ม มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยมากขึ้น พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏแคบ พระวรกายเพรียวบางครั้งพบในลักษณะแข้งคมเป็นสัน เรียกว่า แข้งสัน[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ศิลปะสมัยอู่ทอง พุทธศตวรรษที่ 17–20". หน้าจั่ว.
- ↑ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. "เมืองอู่ทอง ไม่ได้เกี่ยวกันกับพระเจ้าอู่ทอง และศิลปะอู่ทอง". มติชน.
- ↑ กำพล จำปาพันธ์, สายชล สัตยานุรักษ์. "น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ):"ศิลปินแห่งชาติ" กับ "ศิลปะไทย" ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ". วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 3 (1).
- ↑ อานนท์ เรืองกาญจนวิทย์. "การออกแบบพระอุโบสถและพระวิหารแบบไทยประเพณีสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2173-2310)" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 45.
- ↑ "ทัศนศึกษาจร ครั้งที่ 2". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
- ↑ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล. "ศิลปในประเทศไทย". p. 45.
- ↑ "ประติมากรรมไทยสมัยอู่ทองและสมัยอยุธยา". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๔. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-20. สืบค้นเมื่อ 2021-04-27.
- ↑ "พบหลักฐาน "เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์"ไม่ใช่คนสุโขทัย แต่ไปจาก "สุพรรณภูมิ"". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง". สยามรัฐออนไลน์.