สนามมวยเวทีลุมพินี
สนามแห่งใหม่ในปี 2557 | |
ที่ตั้ง | ถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (8 ธันวาคม พ.ศ. 2499 – 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557) ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา (11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 – ปัจจุบัน) แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร |
---|---|
พิกัด | 13°52′1.36″N 100°36′31.88″E / 13.8670444°N 100.6088556°E |
เจ้าของ | กองการกีฬา กรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบกไทย สุชาติ แดงประไพ (นายสนามมวย) |
ผู้ดำเนินการ | กองการกีฬา กรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบกไทย |
ความจุ | 5,000 |
ขนาดสนาม | 3007.5 m2 |
การก่อสร้าง | |
ก่อสร้าง | 2499 |
เปิดใช้สนาม | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2499 (สนามมวยลุมพินี พระราม 4) 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (สนามมวยลุมพินี รามอินทรา) |
ปิด | 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (สนามมวยลุมพินี พระราม 4) |
การใช้งาน | |
ทรงชัย โปรโมชัน ชิงถ้วยพระราชทานประจำปี | |
เว็บไซต์ | |
muaythaitickets |
สนามมวยเวทีลุมพินี (อังกฤษ: Lumpinee Boxing Stadium) เป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย เทียบเท่ากับสนามมวยราชดำเนิน เดิมนั้นตั้งอยู่ ณ ถนนพระรามที่ 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ติดกับโรงเรียนเตรียมทหารเดิมและอดีตสวนลุมไนท์บาซาร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
สนามมวยเวทีลุมพินีเป็นแหล่งซูเปอร์สเปรดเดอร์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย จากการแข่งขันศึกลุมพินีแชมเปียนเกียรติเพชรเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563
ประวัติ
[แก้]ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2499 โดย พลตรี ประภาส จารุเสถียร ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ โดยมีการชกมวยนัดแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองการกีฬา กรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบก[1]
สนามมวยเวทีลุมพินี นับได้ว่าเป็นสนามมวยที่มีประวัติยาวนานเช่นเดียวกับสนามมวยราชดำเนิน มีการจัดการชกมวยทั้งมวยไทยและมวยสากล ผ่านการนัดสำคัญ ๆ มาเป็นจำนวนมาก เช่น การชิงแชมป์โลกครั้งแรกของโผน กิ่งเพชร กับปาสคาล เปเรซ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 เป็นต้น มีการชิงแชมป์ของเวทีทั้งในแบบมวยไทยและมวยสากล ซึ่งผู้ที่ได้แชมป์ของเวทีนี้ก็เสมือนได้แชมป์ของประเทศไทย และมีการเดิมพันแชมป์กับแชมป์ในรุ่นเดียวกันของสนามมวยราชดำเนินอยู่เสมอ
สนามมวยเวทีลุมพินี สามารถจัดเก็บค่าผ่านประตูได้มากถึง 3,000,000 บาท ผู้ชมกว่า 10,000 คน เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 จากการชกกันของพงษ์ศิริ พ.ร่วมฤดี กับไพโรจน์น้อย ส.สยามชัย นับเป็นคู่ที่ 6 ของการชกในวันนั้น จากการจัดของทรงชัย รัตนสุบรรณ[2]
สนามมวยเวทีลุมพินี สมัยอยู่ที่ ถนนพระราม 4 จัดให้มีมวยชกทุกวันอังคาร, ศุกร์ เวลา 18.00 - 22.00 น. และวันเสาร์ เวลา 16.00 - 24.30 น. เว้นวันสำคัญทางศาสนา
ปัจจุบัน สนามมวยเวทีลุมพินี อยู่ที่ ถนนรามอินทรา กม.2 จัดให้มีมวยชกทุกวันอังคาร, ศุกร์ เวลา 18.00 - 23.00 น. และวันเสาร์ เวลา 16.00 - 22.00 น. เว้นวันสำคัญทางศาสนา
วัตถุประสงค์
[แก้]- สนามมวยเวทีลุมพินี เป็นกิจการของกองทัพบก เพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการกองทัพบก และสนับสนุนหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพบก
- ผดุงและส่งเสริมศิลปะมวยไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย
- สร้างอาชีพให้แก่นักมวยไทยและสากล ให้เป็นอาชีพที่มั่นคงประเภทหนึ่ง
- สร้างนักมวยสากลแชมป์โลก เพื่อส่งเสริมเกียรติภูมิของชาติไทย
- ร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน
นายสนามมวย
[แก้]- พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ ธ.ค. 2499 - มิ.ย. 2504
- พ.ท.เทพ กรานเลิศ ก.ค. 2504 - ต.ค. 2504
- พลจัตวา ขุนชิดผะดุงพล ต.ค. 2504 - ก.ค. 2511
- พล.ต.ประเสริฐ ธรรมศิริ ก.ค. 2511 - ต.ค. 2515
- พ.อ.ทองเติม พบสุข ต.ค. 2515 - ก.ค. 2518
- พ.อ.ชาย ดิษยเดช ก.ค. 2518 - พ.ย. 2522
- พล.ต.อัสนี สมุทรเสน ธ.ค. 2522 - พ.ค. 2525
- พล.ต.สวัสดิ์ ศิริผล มิ.ย. 2525 - ก.ย. 2528
- พล.ต.ทวีวิทย์ นิยมเสน ต.ค. 2528 - ก.ย. 2531
- พล.ต.ชลอ คงสุวรรณ ต.ค. 2531 - ก.ย. 2534
- พล.ต.วรพงศ์ สังวรราชทรัพย์ ต.ค. 2534 - ธ.ค. 2537
- พล.ท.วัฒน์ เกิดสว่าง ธ.ค. 2537 - ก.ย. 2541
- พล.ต.วันชัย นิลเขียว ต.ค. 2541 - ก.ย. 2544
- พล.ต.อนันต์ศักดิ์ ลักษณลม้าย ก.ย. 2544 - 21 มี.ค. 2547
- พล.ต.ไพโรจน์ รัฐประเสริฐ 1 เม.ย. 2547 - 31 มี.ค. 2548
- พล.ต.กิตติทัศน์ บำเหน็จพันธุ์ 1 เม.ย. 2548 - ก.ย. 2550
- พล.ต.ธีระ ไกรพานนท์ ต.ค. 2550 - ก.ย. 2551
- พล.ต.เฉลิมเกียรติ โพธิ์ทองนาค 2 ต.ค. 2551 - 2553
- พล.ต.สุรไกร จัตุมาศ พ.ศ. 2553 - 2557
- พล.ท.บุญสันติ แสนสวัสดิ์ พ.ศ. 2557 - 2558
- พล.อ.ระพีศักดิ์ ธนะพัฒน์ พ.ศ. 2558
- พล.ต.เกษม เบญจนิรัติศัย พ.ศ. 2558 - 2560
- พล.ต.ศุภณัฐ แก้วหิรัญ พ.ศ. 2560 - 2561
- พล.ต.ชวเมธ จุ้ยเจริญ พ.ศ. 2561 - 2562
- พล.ต.เดชอุดม นิชรัตน์ พ.ศ. 2562
- พล.ต.ราชิต อรุณรังษี พ.ศ. 2562 - 2563 (ถูกปลดออกจากราชการ เนื่องจากกรณีการจัดแข่งขันศึกลุมพินีแชมเปียนเกียรติเพชร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563 นำไปสู่การระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก)[3]
- พล.ท.สุชาติ แดงประไพ พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน
เหตุการณ์สำคัญ
[แก้]เหตุระเบิดในสนามมวยเวทีลุมพินี พ.ศ. 2525
[แก้]ในคืนวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2525 ระหว่างการจัดมวย "ศึกดังทะลุฟ้ามหากุศล" มีผู้ปาระเบิด 2 ลูก ใส่บริเวณใกล้เวที ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บ 66 คน แคล้ว ธนิกุล กล่าวว่าเหตุนี้เป็นความพยายามลอบสังหารเขา[4]
การย้ายสนามมวยเวทีลุมพินี
[แก้]ในปี พ.ศ. 2557 สัญญาเช่าระหว่างสนามมวยเวทีลุมพินี กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน กำลังจะหมดสิ้นลง ทำให้ทางคณะกรรมการบริหารสนามมวยเวทีลุมพินี จำเป็นต้องย้ายเวทีไปยังสถานที่แห่งใหม่ คือ บริเวณศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา ใกล้กับสนามกอล์ฟกองทัพบก โดยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น พร้อมคณะ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สนามมวยเวทีลุมพินีแห่งใหม่[5] โดยการแข่งขันมวยในสนามมวยเวทีลุมพินีเดิม (ถนนพระรามที่ 4) จัดขึ้นเป็นนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (แต่สนามมวยฯ ได้ทำการจัดการแข่งขันมวยเป็นวันสุดท้ายอย่างแท้จริงในวันถัดไป คือเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์) โดยมีรายการศึกมวยไทยลุมพินี ทีจีเอ็น ในเวลา 16:00 น., รายการศึกมวยดีลุมพืนีทีสปอร์ต ในเวลา 21:00 น. (ซึ่งถือเป็นนัดสุดท้ายของรายการนี้ก่อนยุติการถ่ายทอดสดไป) และ ศึกมวยไทยลุมพินีเกริกไกร ในเวลา 23:25 น. เป็นรายการสุดท้าย) จากนั้นจึงเริ่มจัดการแข่งขันมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินีใหม่บริเวณถนนรามอินทรา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[6] ส่วนพื้นที่ที่ตั้งของสนามมวยเวทีลุมพินีเดิมนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ประมูลที่ดินเช่าพัฒนาโครงการร่วมกับพื้นที่สวนลุมไนท์บาซาร์เดิม โดยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าพาเหรด ภายในโครงการ วัน แบงค็อก
สนามมวยเวทีลุมพินีกับการระบาดของโรคโควิด-19
[แก้]จากสถานการณ์การระบาดทั่วของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เริ่มลามมาถึงประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐขอความร่วมมือจากเอกชน ให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนเป็นจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น ซึ่งรวมถึงสนามกีฬาทุกชนิดด้วย[7] ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยได้นำมติดังกล่าวมาทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือถึงนายสนามมวยเวทีลุมพินีไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าสนามมวยเวทีลุมพินีกลับไม่ให้ความร่วมมือ และจัดการแข่งขันศึกลุมพินีแชมเปียนเกียรติเพชร โดยเปิดให้ผู้ชมเข้าชมในสนามมวยตามปกติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม[8] ซึ่งทำให้หลังจากนั้น ในวันที่ 13 มีนาคม แม้ทธิว พอล ดีน ออกมาประกาศว่าตัวเองป่วยเป็นโรคโควิด-19[9] จากนั้นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากการไปตรวจหาเชื้อของเซียนมวยและผู้ชมที่เข้าไปรับชมในวันนั้น จนทำให้สนามมวยเวทีลุมพินีกลายเป็นแหล่งซูเปอร์สเปรดเดอร์ในประเทศไทย ในวันที่ 27 มีนาคม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น จึงสั่งย้าย พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก และเป็นนายสนามมวยเวทีลุมพินีในขณะนั้นเข้ามาช่วยราชการภายในกองบัญชาการกองทัพบก และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาสอบสวน โดยมี พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก เป็นประธานกรรมการ[3] จนกระทั่งในวันที่ 4 มิถุนายน พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ในฐานะหนึ่งในกรรมการสอบสวนได้เปิดเผยผลการสอบสวนออกมาว่าสนามมวยเวทีลุมพินีมีความบกพร่องในการควบคุมโรคโควิด-19 จริง พล.อ.อภิรัชต์ จึงสั่งปลดคณะกรรมการสนามมวยเวทีลุมพินีทั้งหมด รวมถึงเตรียมที่จะพิจารณาโทษ พล.ต.ราชิต ต่อไป[10]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ระฆังยกของสนามมวยเวทีลุมพินี
-
เข็มขัดแชมป์มวยไทยเวทีลุมพินี
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "History of Lumpinee". www.wmtc.nu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20.
- ↑ เทปการชก
- ↑ 3.0 3.1 สั่งย้ายด่วน! 'พล.ต.ราชิต' เข้ากรุทบ. เซ่นสนามมวยลุมพินี แพร่เชื้อโควิด-19, กรุงเทพธุรกิจ
- ↑ "ปาระเบิด "เจ้าพ่อ" ในสนามมวย พ.ต.ต.ลูก ผช.อตร.ตายคาที่! "นายหัวชวน" เกือบไม่ได้เป็นนายกฯ!!". mgronline.com. 2020-02-03.
- ↑ รู้ยัง! "สนามมวยลุมพินีใหม่" จะย้ายไปอยู่ที่ไหน จุผู้ชมกว่า 8,000 คน เวทีสามารถปรับ พับเก็บได้
- ↑ "เปิดสนามมวยลุมพินีแห่งใหม่ เน้าโชว์นัดเปิดสนาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-12-23.
- ↑ คณะรัฐมนตรี (3 มีนาคม 2563). "ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี" (PDF). cabinet.soc.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สำนักข่าวไทย (24 มีนาคม 2563). "กกท.ยันส่งหนังสือแจ้งลุมพินีก่อน 6 มี.ค.63". www.mcot.net. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ไทยพีบีเอส (13 มีนาคม 2563). ""แมทธิว ดีน" ยอมรับติด COVID-19 เตือนคนใกล้ชิดเฝ้าดูอาการ". news.thaipbs.or.th. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พีพีทีวี (4 มิถุนายน 2563). ""บิ๊กแดง" สั่งปลดยกชุด กก.สนามมวยลุมพินี ฟันซ้ำ "เจ้ากรมฯ" บกพร่องทำโควิดระบาด". www.pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สนามมวยเวทีลุมพินี ที่เฟซบุ๊ก
- สนามมวยเวทีลุมพินี เก็บถาวร 2018-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สนามมวยเวทีลุมพินี
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์