ข้ามไปเนื้อหา

ทรงชัย รัตนสุบรรณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทรงชัย รัตนสุบรรณ
ทรงชัย รัตนสุบรรณ ที่สนามมวยเวทีลุมพินี
เกิดทรงชัย รัตนสุบรรณ
5 มีนาคม พ.ศ. 2489 (78 ปี)
อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศไทย
สัญชาติไทย
การศึกษาปริญญาบัตรมหาบัณฑิต
อาชีพโปรโมเตอร์มวย
คู่สมรสเสาวนีย์ ตั้งกงพานิช
บุตรภัทรภร รัตนสุบรรณ
ศิรภพ รัตนสุบรรณ
ปริยากร รัตนสุบรรณ

ทรงชัย รัตนสุบรรณ เป็นโปรโมเตอร์สำคัญของวงการมวยไทย ในการผลักดันมวยไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมถึงเป็นเจ้าของสโลแกน "มวยไทย มรดกไทย มรดกโลก"[1] และเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ในวงการมวยไทยด้วยการเก็บเงินได้เกินหนึ่งล้านบาทได้ถึงสองครั้งภายในช่วงระยะเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน รวมถึงมีผลงานที่ได้รับการกล่าวขวัญจากผู้ชมทั่วประเทศ คือการจัดคู่ชกระหว่างแรมโบ้ กับไพโรจน์น้อย ส.สยามชัย ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 ที่สนามมวยเวทีลุมพินี[2]

เคยเป็นผู้ให้การแจ้งเกิดแชมป์มวยไทยถึง 11 รุ่น รวมถึงเป็นผู้สร้างแชมป์โลกหลายราย ทั้งแสน ส.เพลินจิต, เมืองชัย กิตติเกษม, สด ส.จิตรลดา, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, พิชิตน้อย ศิษย์บางพระจันทร์, ดาวรุ่ง ช.ศิริวัฒน์, ยอดสนั่น สามเคแบตเตอรี่ และยอดดำรงค์ สิงห์วังชา[3]

ประวัติ

[แก้]

ทรงชัย รัตนสุบรรณ เป็นบุตรของ นายสุบรรณ และนางบุญรัตน์ รัตนสุบรรณ โดยมีพี่สาวหนึ่งคนและพี่ชายหนึ่งคนซึ่งได้แก่ เพ็ญศรี (รัตนสุบรรณ) พูลสุวรรณ และศักดา รัตนสุบรรณ เมื่อครั้งที่อยู่ทางแถบทะเลตะวันออกเขากับพี่ชายได้เข้าชกมวยไทยโดยพี่ชายใช้ชื่อ ศักดา ฤทธิชัย เข้าแข่งโดยเคยชกกับนักมวยเอกอย่างเชิดศักดิ์ ลูกบางคล้า ในขณะที่ทรงชัยใช้ชื่อ ทรงชัย ชัยสุริยะ ขึ้นชก ที่ซึ่งทรงชัยเคยเข้าแข่งขัน ณ สนามมวยเวทีลุมพินี เมื่อครั้งที่เคยถูกรุ่งชัย พงษ์สิงห์ เตะจนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็ได้แขวนนวม โดยทำสถิติชก 22 ครั้ง แม้จะไม่เป็นฝ่ายแพ้คะแนน หากแต่เขากลับเป็นฝ่ายแพ้น็อกเป็นส่วนใหญ่[2]

ทรงชัยสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนวัดแหลมใต้ และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จากนั้นได้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษา จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา และ พ.ศ. 2538 ได้รับปริญญาบัตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมสงเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

พ.ศ. 2508 ขณะที่มีอายุได้ 19 ปี ก็ได้เริ่มทดลองจัดรายการมวยที่เวทีโสธร แปดริ้ว ด้วยทุนจากทางครอบครัว และจัดให้นักมวยสองพี่น้องอย่าง ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์ ผู้พี่ กับสิงห์ห้าว ส.ลูกพิทักษ์ ผู้น้อง ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกันเข้าแข่งขันในรายการประจำเดือน ที่งานหลวงพ่อโสธร ซึ่งมีผู้เข้าชมอย่างเนืองแน่นทุกนัด เมื่อจัดได้ 4 ปี ชื่อเสียงของทรงชัยก็เริ่มเป็นที่รู้จัก[2]

ช่วงประมาณ พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518 ทรงชัยได้รับโอกาสทดลองงานด้วยการจัดรายการมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินี เป็นระยะเวลาราว 6 ถึง 7 เดือน จนเกือบจะได้รับการบรรจุ แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ในรายการสุดท้าย คือการไล่มวยลง 2 คู่ ทรงชัยได้ขึ้นไปยังล็อกชั้น 2 และ 3 และพนมมือให้ผู้ชมพร้อมกล่าวแสดงความรับผิดในขณะที่น้ำตาไหล ครั้นแล้ว ทรงชัยก็สามารถสร้างประทับใจในการจัดรายการมวยครั้งต่อมา จนได้รับการบรรจุให้เป็นโปรโมเตอร์อย่างเต็มตัว[2]

พ.ศ. 2518 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นโปรโมเตอร์ครั้งแรก ที่สนามมวยสนามมวยเวทีลุมพินี

วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2520 เขาได้สร้างความฮือฮาด้วยการจัดคู่เอกศึกวันทรงชัย ที่มีการพบกันระหว่างอินทรีน้อย ลูกหนองไก่ขัน ในชุดลิเก พบกับกาเซ็มน้อย เกียรติ ต.สร้าง ในชุดอาหรับ

ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2540 เป็นนายสนามมวยมาตรฐานแห่งใหม่ โดยสร้างเวทีมวยขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยใช้ชื่อว่า เวทีมวยนานาชาติ (ประเทศไทย) โดยมีพล อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก/นายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยเป็นประธานในพิธีเปิด

30 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้ลาออกจากการเป็นโปรโมเตอร์ของสนามมวยสนามมวยเวทีลุมพินีและได้ทำการจัดแข่งขันที่สนามมวยเวทีลุมพินีเป็นครั้งสุดท้าย และวันที่ 31 ธันวาคม ของปีเดียวกันนี้ ก็ได้ย้ายการจัดการแข่งขันชกมวยจากเวทีมวยนานาชาติ ไปแข่งขันที่เวทีมวยชั่วคราว ห้อง MCC HALL ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน

7 มกราคม พ.ศ. 2544 เริ่มจัดการแข่งขันที่เวทีมวยชั่วคราว ห้อง MCC HALL ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน/ท่าพระ รวมถึงในวันที่ 25 มกราคม ของปีเดียวกันนี้ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโปรโมเตอร์คนที่ 13 ของเวทีมวยราชดำเนิน ประเดิมนัดแรกในรายการ "ศึกมหาชนวันทรงชัย"

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ทรงชัยสมรสกับนางเสาวนีย์ รัตนสุบรรณ (ตั้งกงพานิช) มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน ได้แก่ นางสาวภัทรภร รัตนสุบรรณ, นายศิรภพ รัตนสุบรรณ และนางสาวปริยากร รัตนสุบรรณ [2] ซึ่งต่อมาล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560 ทางสนามมวยเวทีลุมพืนีได้แต่งตั้งให้ปริยากร และนายศุภศักดิ์ เงาประเสริฐวงศ์ (ดร.น็อต วันทรงชัย) หนึ่งในทีมงานของวันทรงชัย รวมถึงนาย พัฒน์ชนินทร์ มีจันทร์ (เสี่ยชาย สุโขทัย) หัวหน้าคณะค่ายมวย ช.ห้าพยัคฆ์ และผู้จัดรายการศึกมวยไทย ททบ.5 ซึ่งถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เป็นโปรโมเตอร์ของสนามมวยเวทีลุมพินี นับเป็นการกลับเข้าสู่สนามมวยเวทีลุมพินีของวันทรงชัยในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ที่นายทรงชัยลาออกจากการเป็นโปรโมเตอร์ของสนามมวยเวทีลุมพินี

การดำเนินงานธุรกิจ

[แก้]

นายทรงชัยเริ่มก่อตั้งบริษัท ทรงชัย บ๊อกซิ่ง โปรโมชั่น จำกัดในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2531 เป็นบริษัทแรกเพื่อที่จะดำเนินธุรกิจทางด้านการจัดแข่งขันมวย

  • บริษัทที่ 2 ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ใช้ชื่อว่า บริษัทมวยไทย โปรโมชั่น จำกัด เพื่อรองรับการขยายงานที่มากขึ้นจึงขยายธุรกิจโดยเปิดบริษัทเพิ่มอีก 4 บริษัทในเวลาต่อมา ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการมวย อาทิเช่น การจัดการแข่งขันชกมวยไทย มวยสากล ผลิตและจัดจำหน่าย วีซีดี ดีวีดี การแข่งขันชกมวย ฯลฯ ดังนี้
  • บริษัท เอสเอสอาร์ โปรโมชั่น จำกัด ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2537
  • บริษัท ทรงชัย อินเตอร์เนชั่นแนล โปรโมชั่น จำกัด ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2539
  • บริษัท เอส.เอส.บ๊อกซิ่ง โปรดักชั่น จำกัด ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2540
  • บริษัท วันทรงชัย จำกัด ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2544 เป็นลำดับสุดท้าย

โดยทุกบริษัทที่กล่าวมานายทรงชัยได้ก่อตั้งและดำเนินงานทางด้านธุรกิจนประสบความสำเร็จ แล้วจึงมอบหมายงานให้ บุตรและธิดา เข้ามาช่วยบริหารงานต่อจากนายทรงชัย และประสบความสำเร้จสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงาน

[แก้]

ผลงานโดดเด่นที่เจ้าตัวภูมิใจคือการเปิดตลาดมวยไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรปที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และจัดการถ่ายทอดสดมายังประเทศไทยในคืนวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม พ.ศ. 2532 โดยเป็นการพบกันระหว่างนักมวยไทยชาวไทยกับนักมวยไทยชาวดัตช์ ซึ่งนำโดยร็อบ กามัน และราม่อน แด็กเกอร์[3]

  1. ผู้จัดมวยไทยที่ได้รับการยอมรับเป็นโปรโมเตอร์อันดับ 1 มากกว่า 15 ปี
  2. เปลี่ยนรายการมวยถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ โดยนำนักมวยไทยค่าตัวเงินแสน และรายการมวยไทยเงินล้าน ถ่ายทอดสู่ผู้ชมทางบ้าน
  3. นำศิลปะมวยไทย ไปเผยแพร่ทั่วทุกทวีปของโลก และถ่ายทอดสดกลับสู่ประเทศไทย และเป็นทูตมวยไทยไปเผยแพร่ศิลปะมวยไทย ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลก
  4. เป็นผู้สร้างมวยสากล ให้ประสบความสำเร็จสูงสุด และได้รับการยอมรับเป็นโปรโมเตอร์เกียรตินิยมของโลกซึ่งมีสมาชิก 147 ประเทศทั่วโลก และสมาคมมวยโลก (WBA) มอบรางวัลให้ในฐานะมีแชมป์โลกพร้อมกันในปี พ.ศ. 2538 คือ

โปรโมเตอร์รายการมวยถ่ายทอดสด

[แก้]
ปัจจุบัน
  • รายการมวยไทย ศึกยอดมวยวันทรงชัย ทุกวันเสาร์ เวลา 14.40 - 16.40 น. ทางช่อง Thairath TV (32) (เริ่มวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน) (งดการแข่งขันและถ่ายทอดสดตั้งแต่วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม ถึงวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย โดยกลับมาแข่งขันและถ่ายทอดสดตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป)
อดีต
  • รายการศึกวันทรงชัยททบ.5 ทุกวันเสาร์ เวลา 22.00 น. - 00.00 น. ทางช่อง 5 (พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2543) (ยุติการออกอากาศแล้ว)
  • รายการศึกวันทรงชัย 11 ทุกวันเสาร์ เวลา 14.00 น. - 16.00 น. ทางช่อง 11 (พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2552) (ยุติการออกอากาศแล้ว)
  • รายการศึกวันทรงชัยไอทีวี ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 16.00 น. - 18.00 น. ทางช่อง ITV (พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2546) (ยุติการออกอากาศแล้ว)
  • รายการศึกวันทรงชัยไลฟ์ทีวี ทุกวันเสาร์ เวลา 14.30 น. - 17.30 น. ทางช่องSports Plus (14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554) (ยุติการออกอากาศแล้ว)
  • รายการศึกยอดมวยไทยรัฐ ทุกวันเสาร์ เวลา 14.00 น. - 16.00 น. ทางช่องThairath TV (5 กันยายน พ.ศ. 2558 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560) (ยุติการออกอากาศแล้ว)
  • รายการมวยไทยไฟต์ไนท์ ทุกวันเสาร์ เวลา 18.20-20.00 น. ทางช่องPPTVHD36 (จัดแบบสัญจร) (เริ่มวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2559-วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2560) (ยุติการออกอากาศแล้ว)
  • รายการมวยไทย ศึกนวมทองคำ ทุกวันเสาร์ เวลา 13.30-15.00 น. ทางช่องPPTVHD36 (จัดแบบสัญจร) (เริ่มวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2559 ถึงวันเริ่มวันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2560) (ยุติการออกอากาศแล้ว)
  • รายการศึกวันทรงชัย แชมป์มวยไทย ทุกวันเสาร์ เวลา 14.00 - 16.00 น. ทางช่องSpring 26 (เริ่มวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม-3 กุมภาพันธ์ 2561) (ยุติการออกอากาศแล้ว)
  • รายการมวยไทย 8 ทิศ ทุกวันเสาร์ เวลา 19.00 - 21.00 น. ทางช่อง 8 (27) (เริ่มวันเสาร์ที่ 7 กันยายน - 21 กันยายน 2562) (ยุติการออกอากาศแล้ว)

รางวัลและเกียรติคุณ

[แก้]
  • 18 มีนาคม พ.ศ. 2535 โล่ห์รางวัลเกียรติยศประกาศเกียรติคุณ บุคคลตัวอย่าง ผู้เผยแพร่ศิลปะมวยไทย
  • 16 เมษายน พ.ศ. 2535 ได้รับประกาศเกียรติคุณ บุคคลสร้างสรรค์ ส่งเสริมกีฬามวยสมัครเล่น จนได้ครองเหรียญโอลิมปิค ที่บาร์เซโลนา 1992
  • พ.ศ. 2536 ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนายการกองกรรมมาธิการ 2
  • 7 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก
  • 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 ได้รับรางวัลโล่ห์เกียรติยศ "ผู้ทรงคุณค่าวงการกีฬา" ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  • 15 กันยายน พ.ศ. 2544 ได้รับรางวัล "ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม"
  • 6 ธันวาคม พ.ศ. 2544 สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้นายทรงชัย รัตนสุบรรณ เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการกีฬามวย
  • 11 กันยายน พ.ศ. 2545 ได้รับรางวัลเกียรติยศ "บุคคลในวงการกีฬาที่ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้จัดการนักมวย ระดับแชมป์โลก" ของคณะกรรมาธิการกีฬา วุฒิสภามอบให้โดย พลตรีมนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภา
  • 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 จัดมหกรรมมวยไทยช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ สึนามิ ประธานจัดงานนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
  • 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 จัดการแข่งขันชกมวยการกุศล วัดผาติการาม

ปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2557 ปริญญาปรัชญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐประศาสนศาตร์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
  • พ.ศ. 2536 ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการทั่วไป จากวิทยาลัยครูจันทรเกษม
  • พ.ศ. 2537 ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ (พลศึกษา) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การดำรงตำแหน่ง

[แก้]
  • เป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายกีฬามวย มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช
  • ประธานฝ่ายกีฬามวยไทย 12 สิงหามหาราชินี
  • เป็นคณะกรรมการ "รัฐสภาซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย"
  • เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการกีฬามวย

นายทรงชัย รัตนสุบรรณ เป็นบุคคลที่วงการมวยและสังคมยอมรับว่าเป็นโปรโมเตอร์หมายเลขหนึ่งของประเทศไทย เป็นบุคคลที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวงการมวยในเมืองไทย เป็นบุคคลที่ทุกคนรู้จักแม้จะไม่ได้เป็นแฟนมวยก็ตาม นายทรงชัยมีชื่อเล่นว่า ซ้ง บุคคลในวงการมวยนิยมเรียกว่า เสี่ยซ้ง หรือ บิ๊กซ้ง ปัจจุบันได้โอนถ่ายงานส่วนหนึ่งให้แก่ลูกชาย คือ ศิรภพ รัตนสุบรรณ และลูกสาว คือ ปรียากร รัตนสุบรรณ เป็นผู้ดูแล

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Global-Thai Backbone. กองบรรณาธิการ. THE COMPANY. ปีที่ 14 ฉบับที่ 166. กันยายน 2554. เลิฟแอนด์ลิฟเพรส. หน้า 85
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ศักดิ์อำนวย. คิวทองรำลึก. คิวทอง. ปีที่ 29 ฉบับที่ 362. มกราคม พ.ศ. 2556. หน้า 36-38. อ้างถึงคิวทอง พ.ศ. 2529 บันทึกโดยอำนวยศักดิ์ สว่างนก
  3. 3.0 3.1 “บางปะกง”. ทรงชัย ‘แมวเก้าชีวิต’. คิวทอง. ปีที่ 29 ฉบับที่ 369. สิงหาคม พ.ศ. 2556. หน้า 34

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]