สถูปน้ำแข็ง
สถูปน้ำแข็ง | |
---|---|
สถูปน้ำแข็งและคณะนักศึกษาของสถาบันแห่งหนึ่งในลาดักในการประกวดสถูปน้ำแข็งประจำปี 2019 | |
เชิงพาณิชย์ | ไม่ใช่ |
ชนิดของโครงการ | การอนุรักษ์น้ำ |
ทำเลที่ตั้ง | ลาดัก ประเทศอินเดีย |
เจ้าของ | ขบวนการการศึกษาและวัฒนธรรมชองนักเรียนในลาดัก (SECMOL) |
ผู้ก่อตั้ง | โซนัม วังชุก |
ประเทศ | อินเดีย |
บุคคลสำคัญ | โซนัม วังชุก |
ก่อตั้งเมื่อ | ตุลาคม 2013 |
งบประมาณ | เรี่ยไรเงินทุน |
สถานะ | ใช้งานอยู่ |
เว็บไซต์ | icestupa |
สถูปน้ำแข็ง (อังกฤษ: Ice stupa) เป็นรูปแบบหนึ่งของวิธีการปลูกธารน้ำแข็ง ที่ใช้เพื่อสร้างธารน้ำแข็งเทียมสำหรับเก็บรักษาน้ำในฤดูหนาวในรูปของกองน้ำแข็งทรงกรวย โดยน้ำในฤดูหนาวที่ว่านี้หากไม่ได้เก็บรักษาก็จะเสียเปล่าไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในระหว่างฤดูร้อนซึ่งน้ำมักจะขาดแคลน น้ำแข็งเหล่านี้จะละลายเพื่อเพิ่มน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร การทำทางน้ำและการแช่แข็งน้ำเพื่อใช้ในการชลประทานเช่นนี้มีมาหลายร้อยปีแล้ว กระทั่งโซนัม วังชุก ได้นำมาปรับใช้ในระดับมหภาคและทำให้แพร่หลายขึ้นในลาดัก ประเทศอินเดีย โครงการสถูปน้ำแข็งนี้ดำเนินงานโดยองค์การนอกรัฐ ขบวนการการศึกษาและวันธรรมของนักเรียนแห่งลาดัก เริ่มต้นดำเนินงานในเดือนตุลาคม 2013 และโครงการนำร่องเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2014
เนื่องด้วยลาดักมีลักษณะภูมิประเทศเป็นทะเลทรายหนาว การเกษตรไม่สามารถมีได้ในฤดูหนาวเพราะดินแข็งตัวประกอบกับอุณหภูมิที่ต่ำ ส่วนในระหว่างฤดูใบไม้ผลิ ความต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกมีสูงขึ้น ในขณะที่ธารน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่แห้งขอดลง ลาดักมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 50 มิลลิเมตร (2.0 นิ้ว) ทำให้การเกษตรในลาดักพึ่งพาน้ำละลายจากธารน้ำแข็ง แต่เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปรของสภาพอากาศ ลาดักเผชิญกับฤดูร้อนที่ร้อนขึ้น รวมถึงเวลาละลายของน้ำแข็งเพื่อนำน้ำมาใช้นั้นเกิดความคาดเคลื่อน ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ น้ำจึงขาดแคลนอย่างมากโดยเฉพาะต่อการเกษตรและปศุสัตว์[1][2][3]
ในเดือนตุลาคม 2013 โซนัม วังชุก ได้พัฒนาต้นแบบตัวอย่างแรกของสถูปน้ำแข็งสูง 6 เมตร (20 ฟุต) โดยการแช่แข็งน้ำ 150,000 L (40,000 US gal) ในเลห์ น้ำส่งผ่านทางท่อมาจากต้นน้ำโดยใช้แรงโน้มถ่วง และไม่มีการใช้งานเครื่องจักรที่พึ่งพาไฟฟ้า สถูปน้ำแข็งนี้ละลายจนหมดในกลางเดือนพฤษภาคม 2014 แม้อุณหภูมิจะสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส (68 องศาฟาเรนไฮต์)[1][2][3][4]
โครงการสถูปน้ำแข็งและธารน้ำแข็งเทียมยังคงมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการชลประทานในลาดัก และนับตั้งแต่ปี 2019 ได้มีการจัดการแข่งขันประกวดธารน้ำแข็งเทียมขึ้นในลาดัก[5] โดยในปี 2019 มีการสร้างสถูปน้ำแข็งรวม 12 ชิ้น และในปี 2020 มีมากกว่า 25 สถูปน้ำแข็งที่หมู่บ้านต่าง ๆ ในลาดักสร้างขึ้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Ice Stupas: Conserving water the 3 Idiots way". Forbes India. สืบค้นเมื่อ 21 November 2016.
- ↑ 2.0 2.1 "Sonam Wangchuk Wins the Rolex Award". thewire.in/. สืบค้นเมื่อ 21 November 2016.
- ↑ 3.0 3.1 "Ice Stupas: Water conservation in the land of the Buddha". indiawaterportal.org. สืบค้นเมื่อ 21 November 2016.
- ↑ "Ice Stupa - A Form of Artificial Glacier". Official website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-27. สืบค้นเมื่อ 21 November 2016.
- ↑ "Villages in Ladakh compete for building artificial glaciers".
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิดีโออธิบายเกี่ยวกับสถูปน้ำแข็ง (ภาษาอังกฤษ)
- Adaptation: Ice stupas of Ladakh ทางช่องพีบีเอส ดำเนินรายการโดยนักวิจัยสภาพภูมิอากาศ Alizé Carrère (ภาษาอังกฤษ)