สงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
---|
ประวัติศาสตร์อังกฤษ |
สงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์ เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งทางทหาร ระหว่างราชอาณาจักรสกอตแลนด์และราชอาณาจักรอังกฤษ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถึงต้นคริสศตวรรษที่ 14
สงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์ครั้งแรก (ปี 1296 - 1328) เปิดฉากขึ้นด้วยการรุกรานของฝ่ายอังกฤษเข้ามาในดินแดนสก็อตใน ปี 1296 และจบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเอดินบะระ-นอร์ทแธมพ์ตันใน ปี 1328 สงครามครั้งที่สอง (ปี 1332 - 1357) เป็นสงครามชิงอำนาจภายใน ซึ่งเริ่มต้นจากการยกทัพเข้ารุกรานโดยการนำของ เอ็ดเวิร์ด บัลลิออล (Edward Balliol) ทายาทผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์สก็อตของจอห์น บัลลิออล โดยมีอังกฤษเป็นฝ่ายหนุนหลัง และยุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเบอร์วิคใน ปี 1357 หลังสงครามยุติ สก็อตแลนด์ยังคงรักษาสถานะความเป็นรัฐเอกราชของตนเอาไว้ได้ สงครามประกาศอิรภาพสกอตแลนด์เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้ง ที่นำไปสู่การพัฒนาอาวุธและยุทธวิธีใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรากฏตัวของธนูยาวอังกฤษ หรือ "ลองโบว์" (long bow) ซึ่งเป็นอาวุธที่เปลี่ยนโฉมหน้าการรบในยุคกลาง
สงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์ครั้งแรก
[แก้]ประวัติ
[แก้]เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์สิ้นพระชนม์ลงใน ปี 1286 ทรงมีรัชทายาทเพียงคนเดียวคือ พระนางมาร์กาเร็ต หรือที่รู้จักกันในนาม "ราชนารีแห่งนอร์เวย์" (the Maid of Norway) ซึ่งมีพระชนม์พรรษาเพียง 3 ปี ฯ ใน ค.ศ. 1290 เหล่าผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์สกอตแลนด์ได้ลงนามในสนธิสัญญาบีร์แกม (treaty of Birgham) ตกลงยินยอมให้มีการอภิเสกสมรสระหว่าง ราชนารีแห่งนอร์เวย์ กับ เอ็ดเวิร์ดแห่งคายร์นาฟอน พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นลุงทวดของพระนางมาร์กาเร็ต ทางฝ่ายสกอตแลนด์แสดงความจำนงค์อย่างแจ้งชัดที่จะไม่ยอมให้มีการรวมราชอาณาจักร และขอสงวนสิทธิตามสนธิสัญญาที่จะดำรงตนเป็นไทจากอังกฤษ เพื่อสงวนรักษาสิทธิ กฎหมาย เสรีภาพ และขนบธรรมเนียมของตนไว้
พระนางมาร์กาเร็ตสิ้นพระชนม์ระหว่างการเดินทางมาจากนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1290 การสมรสจึงตกเป็นโมฆะ เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์แล้วเกิดมีผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เกิดขึ้นถึง 13 ราย โดยมี โรเบิร์ต บรูซ (Robert de Brus) - ลอร์ดที่ 5 แห่งเอนันเดล และเป็นพระอัยกาของโรเบิร์ต เดอะ บรูซ หรือ พระเจ้าโรเบิร์ตที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ - กับ จอห์น บัลลิออล (John Balliol), ลอร์ดแห่งแกลโลเวย์, เป็นสองผู้อ้างสิทธิรายสำคัญ ฯ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความวุ่นวายและสงครามกลางเมือง เหล่าผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์แห่งสก็อตแลนด์เขียนจดหมายถึงพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ เพื่อทูลของให้พระองค์เสด็จขึ้นเหนือมาเป็นประธานในกระบวนอนุญาโตตุลาการเพื่อไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาท
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงตอบตกลงและเสด็จมาพบกับเหล่าผู้พิทักษ์ที่เมืองนอร์แฮมใน ปี 1291 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดประสงค์จะได้รับการให้เกียรติยกขึ้นเป็นเจ้าเหนือหัว หรือลอร์ดพาราเม้าท์แห่งสกอตแลนด์ (Lord Paramount of Scotland) ทางฝ่ายผู้แทนสก็อตไม่ยินยอมในตอนแรก พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงยื่นคำขาดให้เวลาฝ่ายสก็อตแลนด์พิจารณาข้อเสนอของพระองค์สามสัปดาห์ ด้วยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเชื่อว่าพอสิ้นสุดระยะเวลาสามสัปดาห์ กองทัพของพระองค์คงจะเดินทัพมาถึง และชาวสก็อตย่อมจะไม่มีทางเลือกอื่น ฯ เหตุการณ์เป็นไปตามที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงคาดการณ์ และเหล่าผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่างยอมยกพระองค์ขึ้นเป็นลอร์ดพาราเม้าท์ผู้มีอำนาจไกล่เกลี่ยและชี้ขาดในทางอนุญาโตตุลาการ
ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1291 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 มีพระบัญชา ในฐานะลอร์ดพาราเม้าท์ ให้ปราสาทในอาณัติของราชบัลลังก์สก็อตทุกแห่งเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์เป็นการชั่วคราว และสั่งให้เจ้าหน้าที่ชาวสก็อตทั้งหมดลาออกเพื่อรับการแต่งตั้งเข้าทำหน้าที่ใหม่จากพระองค์ ฯ ถัดมาอีกสองวันเหล่าผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์ และเหล่าพระราชวงศ์สก็อตคนสำคัญๆ ต่างมารวมตัวกันเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ในฐานะลอร์ดพาราเม้าท์ ชาวสก็อตทุกคนได้รับคำสั่งให้เข้ามาถวายความเคารพแก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ไม่ว่าจะต่อหน้าพระพักตร์ หรือในสถานที่ที่ทางการจัดไว้ให้
การไกล่เกลี่ยไต่สวนพิจารณาสิทธิของผู้กล่าวอ้างดำเนินตลอดเวลาเกือบ 4 เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนสิงหาคม เหล่าผู้อ้างตนว่ามีสิทธิในราชบัลลังก์เข้าให้การแสดงหลักฐานต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด แต่ข้อกล่าวอ้างส่วนใหญ่ถูกปัดตกไป จนกระทั่งเหลือแค่ผู้กล่าวอ้างสิทธิเพียง 4 ราย ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเป็นผู้สืบสายโดยตรงของพระเจ้าเดวิดที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ ได้แก่ จอห์น บัลลิออล, เอ็ดเวิร์ด บรูซ, ฟลอริสที่ 5 เคาน์ทแห่งฮออลแลนด์ และ จอห์น เดอ เฮสติ้งส์ (บารอนแห่งเฮสติ้งส์)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ขอให้ บัลลิออล และโรเบิร์ต บรูซ เลือกผู้ชี้ขาดฝ่ายละ 40 คน ในขณะที่พระองค์เลือกเข้ามาอีก 24 คน ในที่สุด จอห์น บัลลิออลได้รับการชี้ขาดให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1292 และเข้าพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ที่ สโคนแอบบีย์ (Scone Abbey) วันที่ 30 พฤศจิกายน ปีนั้น
ต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม พระเจ้าจอห์นเข้าถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ณ เมืองนิวคาสเซิลอะพอนไทน์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าทรงเห็นสก็อตแลนด์เป็นเหมือนอย่างเมืองขึ้น ซึ่งกษัตริย์จอห์นก็อยู่ในภาวะที่ขัดขืนไม่ได้เพราะแผ่นดินสก็อตแลนด์ยังไม่สงบมั่นคง ฝ่ายตรงข้ามกับราชบัลลังก์ (เอ็ดเวิร์ด บรูซ) ยังมีกำลังเข้มแข็งอยู่มาก พอถึงเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1294 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเรียก กษัตริย์จอห์น บัลลิออล เข้าพบอีกแล้วแจ้งว่า อังกฤษมีแผนที่จะทำสงครามบุกโจมตีฝรั่งเศส และทรงให้เวลาสก็อตแลนด์จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1294 ที่จะจัดเตรียมไพร่พลและเงินทุนสนับสนุนราชการสงครามให้พร้อม
กษัตริย์จอห์นเรียกพบสภาที่ปรึกษาและสั่งให้มีการประชุมรัฐสภาเป็นการด่วน เพื่อวางแผนต่อต้านพระบัญชาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ฯ ฝ่ายสก็อตแลนด์ส่งคณะทูตไปแจ้งให้พระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศสทรงทราบถึงเจตนาของพระเจ้ากรุงอังกฤษที่จะกรีฑาทัพเข้ารุกราน ทั้งสองฝ่ายเจรจาทำสัญญาขึ้นฉบับหนึ่ง โดยตกลงว่าฝ่ายสก็อตแลนด์จะยกทัพเข้าโจมตีอังกฤษ เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษยกทัพไปรุกรานฝรั่งเศส ส่วนฝรั่งเศสก็จะสนับสนุนสก็อตแลนด์ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากอังกฤษ พระราชบุตรของพระเจ้าจอห์น (เอ็ดเวิร์ด) ถูกกำหนดให้อภิเษกสมรสกับ โจน (Joan) หลานสาวของพระเจ้าฟิลิป สัญญาสัมพันธมิตรระหว่างสก็อตแลนด์กับฝรั่งเศสได้รับการต่ออายุไปเรื่อยๆจนกระทั่งปี ค.ศ. 1560 และถูกเรียกว่า Auld Alliance (พันธมิตรเก่าแก่)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงทราบถึงการเจรจาลับระหว่างฝรั่งเศส-สก็อตแลนด์ในปีถัดมา (1295) พระองค์จึงเริ่มเสริมความแข็งแกร่งชายแดนทางเมืองเพื่อรับมือกับกองทัพสก็อต โดยสั่งให้มีการจัดตั้งกองกำลังพลเรือนติดอาวุธ (militia) ที่นิวคาสเซิล และหันไปเป็นพันธมิตรกับ โรเบิร์ต บรูซ บุตรชายของ ลอร์ดที่ 5 แห่งเอนันเดล อดีตคู่แข่งชิงราชบัลลังก์ของกษัตริย์จอห์น โดยโรเบิร์ต บรูซ (หรือ the 6th Lord of Annandale และเป็นพระบิดาของพระเจ้าโรเบิร์ด เดอะ บรูซ กษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ในอนาคต) เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด และได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษให้เป็นผู้ครองปราสาทคาร์ไลล์ใกล้ชายแดนสก็อตแลนด์ นอกจากนี้เอ็ดเวิร์ดยังสั่งให้กษัตริย์จอห์นถอนกำลังจากปราสาทและที่มั่นสำคัญต่างๆรวมทั้งที่เบริก (Berwick-upon-tweed) และที่ร็อกสบะระ (Roxburge)
ฝ่ายพระเจ้าจอห์นเมื่อเห็นการเคลื่นไหวของกองกำลังอังกฤษตามชายแดน ก็สั่งให้มีการรวมพลชายชาวสก็อตทุกคนที่สามารถจับอาวุธได้ ผู้ดีชาวสก็อตบางคนก็ไม่ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลบรูซ ซึ่งเป็นคู่ปรับของราชบัลลังก์สก็อต โดยโรเบิร์ตสองพ่อลูกต่างก็ไม่ตอบรับคำสั่งเรียกรวมพลของพระเจ้าจอห์น ๆ จึงสั่งริบที่ดินทรัพย์สินศักดินา ณ เอนันเดล (Annandale) และเอาไปมอบให้ จอห์น "เดอะ เรด" โคมิน (John "The Red" Comyn) แทน
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เปิดศึกโจมตีเมืองเบริก (Berwick)
[แก้]สงครามเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1296 เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เปิดฉากเข้าโจมตีปล้นสะดมเมืองเบริกอย่างทารุณ สังหารทั้งทหารและพลเรือนล้มตายเป็นจำนวนมาก จากนั้นมาไม่นานกองทัพของสก็อตแลนด์ก็พลาดท่าเสียทีโดนอังกฤษตีแตกยับอีก ในยุทธการที่ดันบาร์ ซึ่งนำไปสู่การสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์จอห์น บัลลิออลในเดือนกรกฎาคม ฝ่ายทัพอังกฤษสามารถปราบสก็อตแลนด์ได้ราบคาบหมดทั้งประเทศ และเคลื่อนย้ายเอา "หินแห่งโชคชะตา" (Stone of Destiny) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมืองสก็อตแลนด์จาก สโคนแอบบีย์ มาไว้ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ในลอนดอน จากนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเรียกประชุมรัฐสภาที่เบริก ชนสูงศักดิ์ชาวสก็อตต่างถวายความเคารพแก่พระองค์ในฐานะกษัตริย์
ในปีถัดมา ค.ศ. 1297 บรรดาชนชั้นนำของสก็อต ซึ่งรวมถึงวิลเลียม วอลเลซ และแอนดรูว์ เดอ-มอเรย์ (Andrew de Moray) ก่อการจลาจลลุกฮือขึ้น ทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดต้องหากำลังพลมาเพิ่ม และถึงพระองค์จะเกลี้ยกล่อมให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ชาวสก็อตยอมวางอาวุธได้ที่เออร์วิน (Irvine) แต่วอลเลซ กับ เดอ-มอเรย์ ก็ยังดำเนินการทัพต่อไป จนฝ่ายสก็อตแลนด์สามารถได้รับชัยชนะครั้งสำคัญในยุทธการที่สเตอร์ลิงบริดจ์ (Battle of Sterling Bridge) ใกล้เมืองสเตอร์ลิง