สกัด พรทวี
สกัด พรทวี | |
---|---|
เกิด | วิรุฬห์ ผลพิมาย พ.ศ. 2501 |
สกัด พรทวี หรือ สกัด เพชรยินดี มีชื่อจริงว่า วิรุฬห์ ผลพิมาย เป็นชาวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2501 สถิติการชก 14 ครั้ง ชนะ 12 (น็อค 9) แพ้ 2 (เฉพาะมวยสากลอาชีพ)
ประวัติ
[แก้]สกัด พรทวี หรือ สกัด เพชรยินดี เป็นนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงมาก่อนที่จะหันมาชกมวยสากล เป็นเจ้าของแชมป์มวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง 10 รายการทั้งในและนอกประเทศไทย[1] มีศักดิ์เป็นหลานของ "ยักษ์ผีโขมด" สุข ปราสาทหินพิมาย นักมวยไทยชื่อดัง มีสถิติการชกมวยไทยประมาณ 317 ครั้ง ชนะ 266 แพ้ 40 เสมอ 11 และเป็นการชนะน็อกมากกว่า 150 ครั้ง ก่อนจะเลิกชกมวยไทยไปด้วยอายุเพียง 28 ปี[2]
ในการชกมวยสากล สกัดชกเพียง 2 ครั้งเท่านั้นก็ได้ชิงแชมป์โลกในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท สภามวยโลก (WBC) กับ วิลเฟรโด โกเมซ แชมป์โลกชาวเปอร์โตริโก
การชิงแชมป์โลกของสกัดจัดขึ้นที่สนามกีฬากลาง จังหวัดนครราชสีมา มีประชาชนซื้อตั๋วเข้าชมจนแน่นสนาม แต่เมื่อคู่มวยก่อนเวลาคู่แรกขึ้นเวทีชกกันเท่านั้น อัฒจันทร์ด้านทิศใต้พังลงมา มีผู้บาดเจ็บหลายคน จนมวยในรายการชกผ่านไป 3 คู่ ฝ่ายผู้จัดจึงสั่งให้งดการชกมวยไทยไว้ เพื่อรอเวลา 20.29 น. ซึ่งเป็นฤกษ์ที่สกัดจะขึ้นเวที
เมื่อถึงเวลาที่สกัดขึ้นเวที ปรากฏว่าอัฒจันทร์ด้านทิศใต้พังลงมาอีก คราวนี้มีทั้งผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต เกิดไฟช็อตจนต้องดับไฟในบริเวณสนามลง เวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง เมื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในสนามเสร็จ การชกจึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลาเกือบ 21.00 น. โดยตัดพิธีการบนเวทีออกไปหมด มีกรรมการตัดสินบนเวทีคนเดียวคือ เรย์นันโด โซลิส ชาวเม็กซิกัน และมีอันโตนิโอ สเกียร์ร่า ผู้แทนสภามวยโลกเป็นสักขีพยาน
ผลการชกปรากฏว่าสกัดสู้ โกเมซไม่ได้ เป็นฝ่ายปิดป้องและออกหมัดผิดๆ ถูกๆ ในขณะที่โกเมซเลือกต่อยเอาตามใจชอบ ผลสุดท้าย สกัดเป็นฝ่ายแพ้น็อคไปในยกที่ 3 ทำให้ชิงแชมป์โลกไม่สำเร็จ[3]
ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการแข่งขันมวยไทยระหว่าง พุฒ ล้อเหล็ก กับ สกัด เพชรยินดี ในรายการ "ศึกเชิดชูไทย+วันสหพล" ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเงินเดิมพันขั้นต่ำหนึ่งล้านบาท[4] แท้จริงแล้ว การแข่งขันครั้งดังกล่าวมิได้มุ่งเน้นที่เงินทอง หากแต่เพียงต้องการให้นักมวยไทยรุ่นหลัง มีการใช้ศิลปะมวยไทยได้อย่างถูกต้อง[5] จากการแข่งขันครั้งดังกล่าว พุฒ ล้อเหล็ก เป็นฝ่ายชนะคะแนน[6]
ปัจจุบัน สกัดได้เป็นเทรนเนอร์มวยไทยที่ฟิตเนส 7 ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กับ ทาวน์อินทาวน์ยิม และที่ไทยบ็อกซิ่งมาเตอร์ (TMB) และค่ายมวยเสกโลโซ ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์[1]
เกียรติประวัติ
[แก้]- แชมป์ ABC รุ่นไลท์เวท (2529)
- ชิง 22 กุมภาพันธ์ 2529 ชนะน็อค ยก 2 บอย โรมีโร ( ฟิลิปปินส์) ที่ สนามกีฬาอัลซาบา อัลซาเร็ม คูเวต
- สละแชมป์เพราะสถาบันหยุดดำเนินการ
- แชมป์ประเทศไทยรุ่นไลท์เวท
- ชิง 27 สิงหาคม 2529 ชนะน็อค ยก 1 พันศักดิ์น้อย เกียรติเกรียงไกร
- สละแชมป์
- แชมป์ OPBF รุ่นไลท์เวท (2529 - 2530)
- ชิง 28 ตุลาคม 2529 ชนะน็อค ยก 8 เดล อาร์ทังโก ( ออสเตรเลีย)
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 26 กุมภาพันธ์ 2530 ชนะน็อค ยก 6 มูฮัมหมัด จูฮารี ( อินโดนีเซีย) ที่ เวทีลุมพินี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, ชนะน็อค ยก 1 บิเซนติ ซานโตโซ (อินโดนีเซีย) ที่ เกซิก
- เสียแชมป์ 28 กุมภาพันธ์ 2531 แพ้คะแนน ปาร์ค บองชุน ( เกาหลีใต้) ที่ แดจอน
- เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
- ชิงแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท WBC เมื่อ 2 มิ.ย. 2521 แพ้น็อค ยก 3 วิลเฟรโด โกเมซ ( ปวยร์โตรีโก) ที่ จังหวัดนครราชสีมา
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
[แก้]สกัด พรทวี เป็นต้นแบบของตัวละครสกัด ซึ่งเป็นนักมวยไทยในวิดีโอเกม และภาพยนตร์สตรีทไฟท์เตอร์[7] โดยเมื่อครั้งหนึ่ง สกัด พรทวี เดินทางไปชกมวยไทยที่ประเทศญี่ปุ่น และชกได้ดีเป็นที่สนใจของทีมงานสร้างเกมที่นั่น จนนำไปเป็นตัวละครในเกม[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ราชาน็อกเร็ว! "สกัด พรทวี" ยอดมวย 9 ชีวิต! หนึ่งโมเดลเกม "สตรีทไฟเตอร์"". ผู้จัดการออนไลน์. 11 April 2016. สืบค้นเมื่อ 28 June 2016.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Street fighter: Muay Thai star Sagat's rise to fame". บางกอกโพสต์. 17 June 2016. สืบค้นเมื่อ 28 June 2016.
- ↑ ท่านปลัด. เรื่องเก่าเล่าใหม่: 2 ศึกชิงแชมป์โลกที่ลืมไม่ลง. นิตยสารมวยโลก. ฉบับที่ 1132.พฤษภาคม 2549 หน้า 19-21.
- ↑ มวยสยามรายวัน. วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554. หน้า 28
- ↑ 5.0 5.1 เลือดมวยไทยร้อนแรงเกินห้ามใจ
- ↑ น็อคเอาต์ฉบับมวยสยาม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 1954. ISSN 15135438. หน้า 6-7
- ↑ The Global-Thai Backbone. กองบรรณาธิการ. THE COMPANY. ปีที่ 14 ฉบับที่ 166. กันยายน 2554. เลิฟแอนด์ลิฟเพรส. หน้า 101
- สถิติการชกมวยสากล เก็บถาวร 2015-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน