ข้ามไปเนื้อหา

สกัด พรทวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สกัด พรทวี
เกิดวิรุฬห์ ผลพิมาย
พ.ศ. 2501

สกัด พรทวี หรือ สกัด เพชรยินดี มีชื่อจริงว่า วิรุฬห์ ผลพิมาย เป็นชาวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2501 สถิติการชก 14 ครั้ง ชนะ 12 (น็อค 9) แพ้ 2 (เฉพาะมวยสากลอาชีพ)

ประวัติ

[แก้]

สกัด พรทวี หรือ สกัด เพชรยินดี เป็นนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงมาก่อนที่จะหันมาชกมวยสากล เป็นเจ้าของแชมป์มวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง 10 รายการทั้งในและนอกประเทศไทย[1] มีศักดิ์เป็นหลานของ "ยักษ์ผีโขมด" สุข ปราสาทหินพิมาย นักมวยไทยชื่อดัง มีสถิติการชกมวยไทยประมาณ 317 ครั้ง ชนะ 266 แพ้ 40 เสมอ 11 และเป็นการชนะน็อกมากกว่า 150 ครั้ง ก่อนจะเลิกชกมวยไทยไปด้วยอายุเพียง 28 ปี[2]

ในการชกมวยสากล สกัดชกเพียง 2 ครั้งเท่านั้นก็ได้ชิงแชมป์โลกในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท สภามวยโลก (WBC) กับ วิลเฟรโด โกเมซ แชมป์โลกชาวเปอร์โตริโก

การชิงแชมป์โลกของสกัดจัดขึ้นที่สนามกีฬากลาง จังหวัดนครราชสีมา มีประชาชนซื้อตั๋วเข้าชมจนแน่นสนาม แต่เมื่อคู่มวยก่อนเวลาคู่แรกขึ้นเวทีชกกันเท่านั้น อัฒจันทร์ด้านทิศใต้พังลงมา มีผู้บาดเจ็บหลายคน จนมวยในรายการชกผ่านไป 3 คู่ ฝ่ายผู้จัดจึงสั่งให้งดการชกมวยไทยไว้ เพื่อรอเวลา 20.29 น. ซึ่งเป็นฤกษ์ที่สกัดจะขึ้นเวที

เมื่อถึงเวลาที่สกัดขึ้นเวที ปรากฏว่าอัฒจันทร์ด้านทิศใต้พังลงมาอีก คราวนี้มีทั้งผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต เกิดไฟช็อตจนต้องดับไฟในบริเวณสนามลง เวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง เมื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในสนามเสร็จ การชกจึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลาเกือบ 21.00 น. โดยตัดพิธีการบนเวทีออกไปหมด มีกรรมการตัดสินบนเวทีคนเดียวคือ เรย์นันโด โซลิส ชาวเม็กซิกัน และมีอันโตนิโอ สเกียร์ร่า ผู้แทนสภามวยโลกเป็นสักขีพยาน

ผลการชกปรากฏว่าสกัดสู้ โกเมซไม่ได้ เป็นฝ่ายปิดป้องและออกหมัดผิดๆ ถูกๆ ในขณะที่โกเมซเลือกต่อยเอาตามใจชอบ ผลสุดท้าย สกัดเป็นฝ่ายแพ้น็อคไปในยกที่ 3 ทำให้ชิงแชมป์โลกไม่สำเร็จ[3]

ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการแข่งขันมวยไทยระหว่าง พุฒ ล้อเหล็ก กับ สกัด เพชรยินดี ในรายการ "ศึกเชิดชูไทย+วันสหพล" ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเงินเดิมพันขั้นต่ำหนึ่งล้านบาท[4] แท้จริงแล้ว การแข่งขันครั้งดังกล่าวมิได้มุ่งเน้นที่เงินทอง หากแต่เพียงต้องการให้นักมวยไทยรุ่นหลัง มีการใช้ศิลปะมวยไทยได้อย่างถูกต้อง[5] จากการแข่งขันครั้งดังกล่าว พุฒ ล้อเหล็ก เป็นฝ่ายชนะคะแนน[6]

ปัจจุบัน สกัดได้เป็นเทรนเนอร์มวยไทยที่ฟิตเนส 7 ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กับ ทาวน์อินทาวน์ยิม และที่ไทยบ็อกซิ่งมาเตอร์ (TMB) และค่ายมวยเสกโลโซ ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์[1]

เกียรติประวัติ

[แก้]
ไฟล์:สกัด เพชรยินดี.jpg
สกัด เพชรยินดี ขณะรับถ้วยแชมป์ ภายหลังการชก

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

สกัด พรทวี เป็นต้นแบบของตัวละครสกัด ซึ่งเป็นนักมวยไทยในวิดีโอเกม และภาพยนตร์สตรีทไฟท์เตอร์[7] โดยเมื่อครั้งหนึ่ง สกัด พรทวี เดินทางไปชกมวยไทยที่ประเทศญี่ปุ่น และชกได้ดีเป็นที่สนใจของทีมงานสร้างเกมที่นั่น จนนำไปเป็นตัวละครในเกม[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ราชาน็อกเร็ว! "สกัด พรทวี" ยอดมวย 9 ชีวิต! หนึ่งโมเดลเกม "สตรีทไฟเตอร์"". ผู้จัดการออนไลน์. 11 April 2016. สืบค้นเมื่อ 28 June 2016.[ลิงก์เสีย]
  2. "Street fighter: Muay Thai star Sagat's rise to fame". บางกอกโพสต์. 17 June 2016. สืบค้นเมื่อ 28 June 2016.
  3. ท่านปลัด. เรื่องเก่าเล่าใหม่: 2 ศึกชิงแชมป์โลกที่ลืมไม่ลง. นิตยสารมวยโลก. ฉบับที่ 1132.พฤษภาคม 2549 หน้า 19-21.
  4. มวยสยามรายวัน. วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554. หน้า 28
  5. 5.0 5.1 เลือดมวยไทยร้อนแรงเกินห้ามใจ
  6. น็อคเอาต์ฉบับมวยสยาม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 1954. ISSN 15135438. หน้า 6-7
  7. The Global-Thai Backbone. กองบรรณาธิการ. THE COMPANY. ปีที่ 14 ฉบับที่ 166. กันยายน 2554. เลิฟแอนด์ลิฟเพรส. หน้า 101