ข้ามไปเนื้อหา

วิลเฟรโด โกเมซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิลเฟรโด โกเมซ
เกิดวิลเฟรโด โกเมซ ริเบรา
29 ตุลาคม พ.ศ. 2499

วิลเฟรโด โกเมซ ริเบรา (Wilfredo Gómez Rivera) นักมวยสากลอดีตแชมป์โลก 3 รุ่น ชาวปวยร์โตรีโก

ประวัติ

[แก้]

วิลเฟรโด โกเมซ เป็นนักมวยที่ได้ครองแชมป์โลกถึงสามสมัย ใน พ.ศ. 2546 นิตยสารเดอะริงได้จัดให้เขาเป็นหนึ่งในนักมวย 100 คนที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล โกเมซเกิดในบริเวณที่ยากจนในปวยร์โตรีโก เริ่มจากเป็นนักสู้ข้างถนน พ่อของเขาเป็นคนขับรถแท็กซี่ ตัวเขาเองเคยขายลูกกวาดมาก่อนที่จะเป็นนักมวย [1]

โกเมซเริ่มจากชกมวยสากลสมัครเล่นได้เหรียญทองกีฬาอเมริกากลางและแคริบเบียนใน พ.ศ. 2517 ที่สาธารณรัฐโดมินิกันและได้แชมป์โลกในปีเดียวกันที่คิวบา[2] เขาเคยแข่งขันกีฬาโอลิมปิก พ.ศ. 2515 ที่เยอรมันแต่ไม่ได้เหรียญรางวัล โกเมซตัดสินใจที่จะไม่เข้าแข่งกีฬาโอลิมปิก พ.ศ. 2519 ที่แคนาดา จึงหันมาชกมวยอาชีพ

หลังจากที่การชกครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จนัก เขาขึ้นชกชนะน็อครวดถึง 32 ครั้ง[2] รวมทั้งชกชนะฆากินโต ฟูเอเตส และแชมป์โลกในอนาคตอย่าง อังตูนิอู ดา ซิลวา การชนะน็อกรวด 32 ครั้งของเขาทำให้เขาเป็นแชมป์โลกที่ชนะน็อกติดต่อกันมากที่สุดและเป็นอันดับสามของโลกรองจาก ลามาร์ คลาก (43 ครั้ง) และบิลลี ฟอก (44 ครั้ง) ถ้านับจากนักมวยทั้งหมด เพราะทั้งคลากและฟอกไม่เคยครองแชมป์โลก[1]

จากการชกชนะน็อครวด 32 ครั้งทำให้โกเมซได้ชิงแชมป์รุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวทกับ ยุม ดง-คยุน ที่มาป้องกันตำแหน่งที่ซานฟรานซิสโก การชกในช่วงแรก โกเมซถูกหมัดของยุมลงไปให้กรรมการนับก่อน แต่เขาลุกขึ้นมาได้ และเป็นฝ่ายชนะน็อคในยกที่ 12 ได้ครองแชมป์[1] โกเมซไปชกป้องกันตำแหน่งในทวีปเอเชีย ที่ญี่ปุ่น ชนะน็อก รอยัล โคบายาชิ ยก 3 และเคยมาชกป้องกันตำแหน่งในประเทศไทยกับสกัด เพชรยินดีด้วย

โกเมซป้องกันแชมป์ด้วยการชกชนะน็อกรวดถึง 12 ครั้ง ซึ่งนับรวมครั้งที่เขาชนะน็อก การ์โลส ซาราเต แชมป์โลกรุ่นแบนตัมเวทด้วย[3] และชนะน็อเลโอนาร์โด กรูซ ผู้ที่ได้เป็นแชมป์โลกในเวลาต่อมาในยกที่ 13 เขาได้เลื่อนขึ้นไปชิงแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวทกับซัลบาดอร์ ซันเชซ ชาวเม็กซิโก เมื่อ 21 สิงหาคม 2524 แต่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โกเมซกลับมาชกในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวทอีกครั้ง และรอโอกาสที่จะแก้มือกับซันเชซ แต่หลังจากซานเชสประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2525 ทำให้ความหวังของโกเมซที่จะชกแก้มือกับซันเชซหมดไป โกเมซได้มาร่วมไว้อาลัยในพิธีศพของซันเชซด้วย โกเมซป้องกันแชมป์ไว้ได้ 17 ครั้ง[4]ก่อนจะสละตำแหน่งขึ้นไปชกในรุ่นเฟเธอร์เวท

โกเมซพยายาขึ้นไปชิงแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวทเป็นครั้งที่ 2 และประสบความสำเร็จเมื่อเป็นฝ่ายชนะฆวน ลาปอร์เต ก่อนที่จะเสียแชมป์ให้ อซูม่าห์ เนลสันจากกานา เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2527 โกเมซพยายามขอชกแก้มือกับเนลสัน แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจชิงแชมป์โลก WBA รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท ชนะคะแนน ร็อกกี ล็อกริดจ์ ได้ครองแชมป์โลกสมัยที่ 3 แต่ก็เสียตำแหน่งแชมป์โลกให้กับอัลเฟรโด เลย์เน ในการป้องกันตำแหน่งครั้งแรกเท่านั้น

หลังการพ่ายแพ้ในครั้งนั้น โกเมซหยุดชกไปช่วงหนึ่ง และกลับมาชกมวยอีกครั้งใน พ.ศ. 2531 - 2532 แต่เขาก็พบว่าช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ของเขาผ่านพ้นไปแล้ว จึงตัดสินใจแขวนนวมอย่างถาวร หลังจากเลิกชกมวย เขาได้ย้ายไปอยู่เวเนซุเอลา และมีข่าวพัวพันกับยาเสพติดและติดคุกอยู่หลายเดือน [5] และต้องไปฟื้นฟูสมรรถภาพที่โคลัมเบียหลังจากนั้น โกเมซกลับมาปวยร์โตรีโก เป็นเทรนเนอร์ให้กับเอกตอร์ กามาโช ยูนิโอร์ ลูกชายของเอกตอร์ กามาโช ในเดือนพฤษภาคม 2546 โกเมซได้รับเชิญให้ไปปานามาและได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นพลเมืองของปานามา[6]ใน พ.ศ. 2549 เขาได้ซื้อบ้านและอพยพครอบครัวมาอยู่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เขามีลูกสาว 3 คน ลูกชาย 1 คน [7]ปัจจจุบันเขาได้รับการเสนอชื่อในหอเกียรติยศของนักมวย ใน พ.ศ. 2546 ชีวประวัติของเขาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์[8][9]

เกียรติประวัติ

[แก้]
  • เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
    • ชิงแชมป์โลก WBC รุ่นเฟเธอร์เวท เมื่อ 21 สิงหาคม 2524, แพ้ทีเคโอ ซัลบาดอร์ ซันเชซ (ธงของประเทศเม็กซิโก เม็กซิโก) ยก 8 ที่ เซซาร์พาเลซ ลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐ
  • ได้รับการยกย่องให้เป็นแชมป์โลกตลอดกาลในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท ของสมาคมมวยโลก (WBA)[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Michael Klimes (2007-05-16). "Wilfredo 'Bazooka' Gomez, Part 1". East Side Boxing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-15. สืบค้นเมื่อ 2007-09-17.
  2. 2.0 2.1 "Wilfredo Gomez". International Boxing Hall of Fame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-16. สืบค้นเมื่อ 2007-09-16.
  3. Lee Groves (2007-02-28). "Vazquez-Marquez May Add to a Tremendous Tradition". Max Boxing. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-09. สืบค้นเมื่อ 2007-09-18.
  4. Andrés Pascual (2006-10-20). "El récord impresionante de Wilfredo Gómez en las 122 libras". Diario Las Americas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-08. สืบค้นเมื่อ 2007-09-25.
  5. Gabriel Cordero (2006-11-01). "Los 50 años de Wilfredo Gómez" (ภาษาสเปน). Lo Mejor del Boxeo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-09. สืบค้นเมื่อ 2007-09-25.
  6. Gustavo Ampudia (2003-05-18). "¡Mil gracias, mi Panamá!" (ภาษาสเปน). La Prensa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-19. สืบค้นเมื่อ 2007-09-18.
  7. Scoop Malinowski. "Boxing Legend Biofile: Wilfredo Gomez". Boxing Insider. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-08. สืบค้นเมื่อ 2007-09-25.
  8. Robert Dominguez (2003-09-25). "A Boxer's Saga, Blow By Blow". The Puerto Rico Herald. สืบค้นเมื่อ 2007-09-18.
  9. "Bazooka: The Battles of Wilfredo Gómez". Internet Movie Data Base. สืบค้นเมื่อ 2007-09-18.
  10. [https://web.archive.org/web/20120225033735/http://www2.manager.co.th/mwebboard/listComment.aspx?QNumber=334984&MBrowse=4 เก็บถาวร 2012-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ของจริง! WBA ยก(เจ้าระ)เขาทราย เป็นแชมป์โลกตลอดกาล จากผู้จัดการออนไลน์]