ศูนย์พนัสนิคม
ศูนย์พนัสนิคม | |
---|---|
พิกัด: 13°25′09″N 101°16′52″E / 13.41921637672063°N 101.28103636444851°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชลบุรี |
อำเภอ | เกาะจันทร์ |
เปิดโดย รัฐบาลไทย | 9 กรกฎาคม 2523 |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 0.512 ตร.กม. (0.198 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2531) | |
• ทั้งหมด | 156,121 คน |
ศูนย์พนัสนิคม[1] (อังกฤษ: Panasnikhom Centre) หรือ ศูนย์ผู้ลี้ภัยพนัสนิคม[2] หรือ ค่ายผู้อพยพพนัสนิคม (อังกฤษ: Phanat Nikhom Refugee Camp)[3][4] เป็น ศูนย์ดำเนินกรรมวิธี (Panasnikhom Processing Centre) และ ศูนย์ดำเนินการส่งผ่าน (Panasnikhom Transit Centre) ผู้ลี้ภัยไปสู่ประเทศที่สามภายใต้การดูแลของศูนย์อำนวยการร่วม กองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี[5]
ประวัติ
[แก้]ศูนย์พนัสนิคม เป็นศูนย์ผู้อพยพของผู้ลี้ภัยอินโดจีน ต่อตั้งขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 เป็นสถานที่อพยพของผู้ลี้ภัยจากประเทศกัมพูชา, ลาวพื้นราบ, ราบราบสูง, ม้ง, ขมุ, เมี้ยน, ลาหู และชาวเวียดนาม[6]ที่ลี้ภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศของตนที่เกิดสงครามกลางเมืองและสงครามภายในที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และหนีภัยมายังประเทศไทยโดยอพยพมายังพื้นที่อพยพต่าง ๆ ตามแนวชายแดน ซึ่งศูนย์พนัสนิคมเป็นศูนย์สำหรับผู้อพยพที่ต้องการจะลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม เช่น สหรัฐ[3], ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ออสเตรีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, และแคนาดา เพื่อเตรียมการในการย้ายถิ่นฐาน มีศูนย์อำนวยการร่วม กองบัญชาการทหารสูงสุด (ศอร.บก.ทหารสูงสุด) รับผิดชอบดูแลและบริหารงานภายในศูนย์พนัสนิคม แบ่งออกเป็น 2 ศูนย์ย่อย[5] คือ
- ศูนย์ดำเนินกรรมวิธี
- ศูนย์ดำเนินการส่งผ่าน
ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์ย่อยตั้งอยู่บนสองฝั่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331[5]
จากนั้นในปี พ.ศ. 2529 กระทรวงมหาดไทยได้เข้ามาดูแลการบริหารงานในศูนย์ต่อโดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในการดำเนินงาน และเคลื่อนย้ายผู้อพยพจากศูนย์สีคิ้ว และศูนย์สงขลา ซึ่งเป็นศูนย์สำหรับชาวเวียดนาม และย้ายผู้อพยพชาวเวียดนามจากทั้ง 2 ศูนย์ไปอยู่ในเขตซี (Section C) ทำให้ศูนย์พนัสนิคมเป็นศูนย์สำหรับรองรับการส่งต่อของผู้อพยพชาวเวียดนามที่ลี้ภายมาทางเรือโดยตรง ส่งผลให้มีการแบ่งศูนย์ออกเป็น 4 ส่วน[2] ได้แก่
- ศูนย์ดำเนินกรรมวิธีสำหรับผู้อพยพชาวเขมร ลาว และม้ง และถูกย้ายมาที่ศูนย์พนัสนิคมซึ่งถูกคัดเลือกให้ไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สามแล้ว (เขตพีซี Section PC (Processing Centre))[2]
- ศูนย์ส่งผ่านสำหรับผู้อพยพชาวลาวและเวียดนามที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐาน รวมถึงผู้อพยพที่มีคุณสมบัติ (เขตทีซี Section TC (Transit Centre))[2]
- เขตสำหรับผู้อพยพที่รอหาที่ตั้งถิ่นฐานชาวเวียดนามที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบสถานะผู้ลี้ภัย (เขตเอส Section S)[2]
- เขตสำหรับผู้อพยพสำหรับชาวเวียดนามที่ถูกปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัย และยังไม่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ (เขตโอ Section O)[2]
จนถึงปี พ.ศ. 2531 มียอดผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยรวม 156,121 ราย ทำให้รัฐบาลไทยพยายามลดจำนวนผู้อพยพยที่หลังไหลเข้ามาโดยยึดหลักตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองที่กำหนดให้ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเพียงแหล่งพักพิงชั่วคราวเท่านั้น[5]
ประเทศไทยและรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนได้จัดทำแผนปฏิบัติการสมบูรณ์ (Comprehensive Plan of Action: CPA) และได้มีมติรับนหลักการในการประชุมที่เจนีวาเมื่อปี พ.ศ. 2532 ที่ได้มีการทำข้อตกลงกับประเทศที่เข้าร่วมในแผนนี้ ให้ดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบสถานะของผู้ลี้ภัยที่แสวงหาแหล่งพักพิงในประเทศแรกรับ ทำให้หลังจากแผนดังกล่าวมีผลใช้งานในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2532 ส่งผลให้ในเขตซี เป็นพื้นที่สำหรับผู้อพยพชาวเวียดนามก่อนแผนปฏิบัติการมีผล ส่วนผู้อพยพที่มาหลังจากนั้นจะถูกส่งไปยังศูนย์สีคิ้วที่ถูกเปิดขึ้นอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เพื่อใช้งานเป็นศูนย์ตรวจสอบแยกแยะสถานะ (Screening Centre) สำหรัชชาวเวียดนามทั้งหมด[2]
สถานะของผู้อพยพคงเหลือในศูนย์พนัสนิคมในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534 มีจำนวน 7,817 คน ประกอบไปด้วยชาวเขมร ลาวลุ่ม และลาวสูง ในเขตพีซีจำนวน 7,817 คน ผู้อพยพชาวอินโดจีนใน เขตทีซี จำนวน 247 คน และผู้อพยพชาวเวียดนามจำนวน 346 คน และผู้แสวงหาแหล่งพักพิงชาวเวียดนามใน เขตเอส (กำลังรอเดินทางไปยังศูนย์สีคิ้ว) จำนวน 6,109 คน[2]
ระยะเวลาเฉลี่ยของผู้อพยพในศูนย์พนัสนิคมอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 6 เดือน ยกเว้นบางกรณีซึ่งอาจจะอยู่นานกว่ากำหนดเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ หรือความยุ่งยากในการอนุมัติให้ไปตั้งถิ่นฐาน[2]
กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 ประเทศไทยโดยกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ดำเนินการส่งต่อผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามจนเกือบหมด เหลือเพียงแค่ชาวม้ง และส่งต่อจนหมดในปี พ.ศ. 2538 ศูนย์พนัสนิคมจึงได้ปิดตัวลงและถูกรื้อถอน[5]
โครงสร้าง
[แก้]ศูนย์พนัสนิคมแบ่งโครงสร้างการทำงานออกเป็น 2 ส่วน[5] ได้แก่
ศูนย์ดำเนินกรรมวิธี
[แก้]ศูนย์ดำเนินกรรมวิธี ศูนย์พนัสนิคม (Panasnikhom Processing Centre, Panasnikhom Centre) เป็นพื้นที่สำหรับผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างการสัมภาษณ์ การตรวจโรค การเรียนภาษา และการเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศที่สามที่จะเข้าไปตั้งถิ่นฐาน มีระยะเวลาประมาณ 3 ถึง 6 เดือน ขึ้นอยู่กับหลักเกฑณ์ของประเทศปลายทางเป็นผู้กำหนด[5]
ศูนย์ดำเนินการส่งผ่าน
[แก้]ศูนย์ดำเนินการส่งผ่าน ศูนย์พนัสนิคม (Panasnikhom Transit Centre, Panasnikhom Centre) เป็นพื้นที่พักอาศัยของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการตอบรับและยอมรับให้ไปตั้งถิ่นฐานและผ่านกระบวนการในศูนย์ดำเนินกรรมวิธีแล้ว จะผ่านการตรวจร่างกายเป็นครั้งสุดท้ายและทำเอกสารสำหรับการเดินทางไปยังประเทศที่สาม มีระยะเวลาประมาณ 45 วันก่อนจะเดินทางไปประเทศที่สามต่อไป[5][6]
สิ่งปลูกสร้าง
[แก้]ศูนย์พนัสนิคม มีเนื้อที่ประมาณ 320 ไร่ (0.51 ตารางกิโลเมตร) เป็นศูนย์ที่มีโครงสร้างหลักเป็นคอนกรีต มีการกั้นรั้วลวดหนามโดยรอบและหอคอยยามสำหรับการตรวจการณ์โดยรอบป้องกันไม่ให้ผู้อพยพหลบหนี ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็น[7] เป็นอาคาร แบ่งเป็น
อาคารแต่ละหลังมีเนื้อที่ประมาณ 40 ตารางเมตร รองรับผู้อพยพได้ 3 ครอบครัว ประมาณ 18 คน โครงสร้างประกอบด้วยคอนกรีต ไม้ ดีบุก และไม้ไผ่ นอกจากส่วนพักอาศัยแล้ว ยังประกอบด้วยร้านค้า 38 หลัง บ้านพักของเจ้าหน้าที่ 25 หลัง อาคารสำหรับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ จำนวน 501 หลัง และอาคารที่ทำการศูนย์จำนวน 4 หลัง[2]
นอกจากนี้ยังมีห้องสุขากระจายอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ทั่วศูนย์พนัสนิคม ระบบกำจัดของเสียและระบบระบายน้ำทิ้งออกไปนอกพื้นที่ศูนย์ประมาณ 4-5 กิโลเมตร พร้อมด้วยระบบน้ำประปาจากอ่างเก็บน้ำมาบรรจุในถังเก็บน้ำขนาด 150,000 ลิตร[2]
การดำเนินงาน
[แก้]ในช่วงแรกของศูนย์การดำเนินงานเป็นหน้าที่ของศูนย์อำนวยการร่วม กองบัญชาการทหารสูงสุด ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 กระทรวงหมาดไทยเป็นหน่วยงานในการรับผิดชอบและบริหารงานภายในศูนย์ ทั้งเจ้าหน้าที่ในการปฏฺบัติงานและการรักษาความปลอดภัย ประกอบไปด้วยข้าราชการกระทรวงหมาดไทยจำนวน 30 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากกองอาสารักษาดินแดน (อส.) จำนวน 80 นาย โดยข้าราชการทั้งหมดทำงานภายใต้คณะกรรมการจังหวัดในการประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นหัวหน้า[2]
ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จะให้ความคุ้มครองผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและการแก้ไขปัญหาในรูปแบบทวิภาคี (Durable Solutions) เช่น การตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สาม หรือการกลับประเทศของตนโดยสมัครใจ รวมไปถึงการให้เงินทุนสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข การศึกษา การฝึกอบรม และบริการด้านสังคมอื่น ๆ[2]
บริการภายในศูนย์
[แก้]ภายในศูนย์พนัสนิคม มีองค์การระหว่าประเทศและองค์การภายในประเทศให้บริการรวมทั้งหมด 18 องค์การ ให้บริการในด้านต่าง ๆ ดังนี้[2]
ด้านสาธารณสุข
[แก้]ศูนย์พนัสนิคมประกอบไปด้วยคลินิคสำหรับรักษาผู้ป่วยภายนอกจำนวน 2 แห่ง และโรงพยาบาลความจุ 30 เตรียง จำนวน 1 แห่ง มีศักยภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างครบครัน (เช่น สูตินารี การรักษาสุขภาพมารดาและบุตร การรักษาวัณโรคและกามโรค การรักษาด้านจิตวิทยา) รวมถึงโครงการให้อาหารเสริม การตรวจสุขภาพตามบ้านพัก การให้วัคซีนป้องกันโรค การวางแผนครอบครัว และศูนย์ยาแผนโบราณ ขณะที่ในเขตทีซีของชาวเวียดนามยังมีโรงพยาบาลอยู่ภายในด้วยอีก 1 แห่ง[2]
ด้านการศึกษา
[แก้]ศูนย์พนัสนิคมสามารถให้การศึกษาแก่เด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมไปถึงการศึกษาของผู้ใหญ่ โดยทั้งหมดจะทำการเรียนการสอนในภาษาของผู้อพยพทุกกลุ่ม อีกทั้งยังมีการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรม การฝึกอาชีพ การปฏิบัติตนของประเทศที่สามที่จะได้รับอนุมัติให้เข้าไปตั้งถิ่นฐาน[2]
ด้านสังคม
[แก้]ศูนย์พนัสนิคมมีบริการทางสังคมต่าง ๆ อีก เช่น การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต การให้บริการคำแนะนำและคำปรึกษา ศูนย์สันทนาการและวัฒนธรรม[2]
บริการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างตนให้บริการโดยเจ้าหน้าที่จากองค์การต่าง ๆ กว่า 600 คน และได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครผู้อพยพอีกจำนวน 3,000 คนปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยของไทย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และองค์การต่าง ๆ ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ล่ามแปลภาษา งานธุรการ ครูผู้สอน บุรุษพยาบาล พนักงานดูแลความสะอาด ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ เป็นต้น[2]
การบริการชุมชนข้างเคียง
[แก้]นอกจากบริการภายในศูนย์พนัสนิคมแล้ว ยังมีการกระจายบริการและความช่วยเหลือไปยังชุมชนโดยรอบศูนย์พนัสนิคม ทั้งด้านการแจกจ่ายอาหาร น้ำ วัสดุต่าง ๆ แก่โรงเรียนโดยรอบ การให้การสนับสนุนด้านสาธารณสุข โดยเปิดให้คนไทยในพื้นที่สามารถเข้ามารับบริการได้สัปดาห์ละสองครั้ง[2]
เหตุการณ์สำคัญ
[แก้]สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้เสด็จไปเยี่ยมผู้ลี้ภัย ณ ศูนย์พนัสนิคม เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเผยแผ่ศาสนาคริสต์สู่ประเทศเกาหลีใต้ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และประเทศไทย โดยได้ตรัสต่อผู้ลี้ภัยเพื่อให้กำลังใจสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคนโดยเฉพาะชาวคริสต์ และกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ ทั้งรัฐบาลไทยที่ยอมให้ผู้ลี้ภัยจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อพยพเข้ามาได้ องค์การระดับชาติและนานาชาติทั้งที่เป็นองค์การด้านศาสนาและไม่ใช่ที่ตอบสนองต่อความช่วยเหลือ และอาสาสมัครทุกท่านที่มาทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย[8]
สถานะปัจจุบัน
[แก้]หลังจากศูนย์พนัสนิคมยุติการดำเนินงานและถูกรื้อถอน กองทัพบกไทยได้มีแผนในการจัดตั้งกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111 ซึ่งเป็นไปตามโครงการเสริมสร้างกำลังพลกองทัพบก เพื่อเป็นกองหนุนสำหรับป้องกันประเทศ ใช้อัตราการจัดและยุทโธปกรณ์ 7-19 บรรจุกำลังพลร้อยละ 30 ขึ้นการบังคับบัญชากับกรมทหารราบที่ 11 กองพลทหารราบที่ 11 ซึ่งเป็นหน่วยฝากการบังคับบัญชาของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน มีภารกิจในการเตรียมกำลังพลกองหนุนเพื่อทดแทนกำลังรบหลัก[5]
ในขณะที่พื้นที่อีกฝั่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 เป็นที่ทำการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาอำเภอเกาะจันทร์ และสถานีไฟฟ้าเกาะโพธิ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "World mission to help others". The Standard (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2021-06-18.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 ศิลปวุฒิ, ดวงพร (1992). นโยบายของรัฐบาลไทยต่อผู้ลี้ภัยกับปัญหาสิทธิมนุษยชน : ศึกษากรณีศูนย์ฯ พนัสนิคม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ↑ 3.0 3.1 Shafer, Colin Boyd (2020-04-21). "Phanat's Immigration Story - Phanat Nikhom Refugee Camp, Thailand to New Iberia, Louisiana". FINDING AMERICAN (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Phanat Nikom Refugee Camp | Items | National Library of New Zealand | National Library of New Zealand". natlib.govt.nz.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 5.8 "ประวัติหน่วย กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111". www.111infreg2infbatt.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-29.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 6.0 6.1 "Phanat Nikhom". Vietnamese Heritage Museum (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Moss, Paul (2024-02-28). "A moment that changed me: I patronised a refugee – and he taught me an invaluable lesson". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-09-29.
- ↑ "To refugees in the Camp of Phanat Nikhom (May 11, 1984) | John Paul II". www.vatican.va.