ศิลปะของการเขียนภาพ (เฟอร์เมร์)
ศิลปะของการเขียนภาพ | |
---|---|
ศิลปิน | โยฮันส์ เวร์เมร์ |
ปี | ค.ศ. 1666 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ, เวียนนา |
ศิลปะของการเขียนภาพ หรือ อุปมานิทัศน์ของการเขียนภาพ หรือ จิตรกรในห้องเขียนภาพ (อังกฤษ: The Art of Painting หรือ The Allegory of Painting หรือ Painter in his Studio) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยโยฮันส์ เวร์เมร์จิตรกรสมัยบาโรกชาวเนเธอร์แลนด์ ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะในกรุงเวียนนาในประเทศออสเตรีย
เวร์เมร์เขียนภาพ “ศิลปะของการเขียนภาพ” เสร็จในปี ค.ศ. 1666 ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะหลายท่านกล่าวว่างานชิ้นนี้เป็นอุปมานิทัศน์ของการเขียนภาพฉะนั้นภาพเขียนจึงรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “อุปมานิทัศน์ของการเขียนภาพ” และเป็นภาพเขียนที่ใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดของงานทั้งหมดที่เวร์เมร์เขียน[1]
ภาพเขียนนี้มีชื่อเสียงเป็นภาพเขียนที่เวร์เมร์ชอบที่สุดและเป็นภาพที่เป็นงานเขียนแบบภาพลวงตา แม้ว่าจะเป็นภาพที่เขียนในสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีในด้านการถ่ายภาพแต่ก็สามารถแสดงความเป็นจริงในการสร้างรายละเอียดทางจักษุอย่างภาพถ่ายได้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของภาพนี้คือการใช้สีที่สดและแสงที่จัดจ้าที่สาดเข้ามาทางหน้าต่างที่อาบบนสิ่งต่างๆ ในภาพ
เนื้อหาของภาพ
[แก้]ภาพเขียนนี้เป็นภาพที่มีบรรยากาศที่เป็นเป็นส่วนตัวของจิตรกรและนางแบบภายในห้องเขียนภาพที่มีหน้าต่างอยู่ด้านหนึ่งและบนกำแพงมีแผนที่ขนาดใหญ่ของเนเธอร์แลนด์
องค์ประกอบ
[แก้]ในภาพนี้มีตัวแบบเพียงสองคน: จิตรกรและนางแบบ จิตรกรเชื่อกันว่าเป็นเวร์เมร์เองแต่เราไม่เห็นใบหน้า
สิ่งของต่างๆ ในห้องเขียนภาพหลายสิ่งดูไม่ควรจะเป็นสิ่งของที่น่าจะมีในห้องเขียนภาพของจิตรกรตามปกติ พื้นหินอ่อนตาหมากรุกและโคมทองเหลืองเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ตามปกติแล้วจะเป็นสิ่งของที่มีอยู่ในบ้านของผู้มีฐานะดีเท่านั้น
แผนที่ในฉากหลังเป็นแผนที่ของกลุ่มสหพันธ์สิบเจ็ดจังหวัดของเนเธอร์แลนด์ขนาบด้วยศูนย์กลางของอำนาจที่พิมพ์โดยแคลส ยานสซ์ วิสเชอร์ (Claes Jansz Visscher) ในปี ค.ศ. 1635
สัญลักษณ์และอุปมานิทัศน์
[แก้]ผู้เชี่ยวชาญพบสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์หลายอย่างในภาพเขียนนี้ หัวเรืองของภาพคือคลิโอ (Clio) ผู้เป็นมิวส์ของประวัติศาสตร์ ที่เห็นได้จากการที่ตัวแบบสวมมงกุฏช่อลอเรลถือทรัมเป็ต (=ชื่อเสียง) และอาจจะถือหนังสือที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์กรีกธูซิดดิดีส
เหยี่ยวสองหัวกลางโคมเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์แฮ็บสเบิร์กแห่งออสเตรียที่เดิมเป็นผู้ครองฮอลแลนด์อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อของนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเวร์เมร์เองผู้เป็นโรมันคาทอลิกในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์ การที่โคมระย้าไม่มีเทียนอาจจะหมายถึงการกดความเชื่อของนิกายโรมันคาทอลิก
แผนที่บนฉากหลังมีรอบพับที่แยกด้านเหนือของเนเธอร์แลนด์จากด้านใต้ (ด้านตะวันตกอยู่ทางเหนือของแผนที่ตามธรรมเนียมที่ทำกัน) รอบพับเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกสารธารณรัฐเนเธอร์แลนด์ทางเหนือและกลุ่มจังหวัดทางใต้ที่ปกครองโดยแฮ็บสเบิร์ก แผนที่วาดโดย Claes Jansz Visscher (Nicolaum Piscatorem) และเขียนก่อนหน้าที่ภาพเขียนนี้และแสดงการแบ่งแยกทางการเมืองก่อนหน้าสมัยที่ภาพนี้เขียนที่เป็นการแบ่งแยกระหว่างสหภาพอูเทร็คช์ทางเหนือและอาณานิคมทางใต้[2]
หน้ากากที่วางอยู่บนโต๊ะข้างจิตรกรเชื่อกันว่าเป็นหน้ากากมรณะ (death mask) ที่เป็นสัญลักษณ์ของความด้อยสมรรถภาพของแฮ็บสเบิร์ก[ต้องการอ้างอิง]
ซัลบาดอร์ ดาลีกล่าวถึง “ศิลปะของการเขียนภาพ” ในงานจิตรกรรมเหนือจริง “เงาของเวร์เมร์แห่งเดลฟ์ทที่ใช้เป็นโต๊ะได้” (The Ghost of Vermeer of Delft Which Can Be Used As a Table) ในภาพเขียนของดาลีร่างของเวร์เมร์เห็นจากข้างหลังที่สร้างเป็นโต๊ะที่รูปร่างแปลก
ประวัติ
[แก้]ภาพเขียนนี้เป็นภาพเขียนชิ้นสำคัญเพราะเวร์เมร์ไม่ยอมขายแม้เมื่อมีหนี้สิน ในปี ค.ศ. 1676 คาทารินาแม่หม้ายของเวร์เมร์ยกภาพเขียนให้มาเรีย ทินส์ผู้เป็นแม่เพื่อจะเลี่ยงการที่จะต้องขายภาพนี้เพราะหนี้สิน[3] แต่อันโทน ฟาน เลเวนเฮิคผู้จัดการมรดกของเวร์เมร์กล่าวว่าการโอนภาพเขียนไปให้แม่ยายของเวร์เมร์เป็นการผิดกฎหมาย
ภาพเขียนนี้เป็นของผู้ที่ได้รับจากก็อตต์ฟรีด ฟอน สวีเต็น (Gottfried van Swieten) จนกระทั่งเคานท์โยฮันน์ รูดอล์ฟ เซร์นินแห่งออสเตรียซื้อเป็นจำนวนเงิน 50 ดัทช์ฟลอรินในปี ค.ศ. 1813[4] จนกระทั่งปี ค.ศ. 1860 ภาพเขียนนี้เชื่อกันว่าเขียนโดยจิตรกรคู่แข่งของเวร์เมร์เปียเตอร์ เดอ ฮูค (Pieter de Hooch) ถึงกับมีการปลอมลายเซ็นของฮูคบนภาพนี้ จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานของเวร์เมร์ชาวฝรั่งเศส Théophile Thoré-Bürger และนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวเยอรมัน กุสตาฟ ฟรีดิช วาเก็น (Gustav Friedrich Waagen) เข้ามาเกี่ยวข้องจึงได้ทราบกันว่าเป็นภาพเขียนของเวร์เมร์ ภาพเขียนตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์เซร์นินในเวียนนา และแอนดรูว์ ดับเบิลยู เมลลอน (Andrew W. Mellon) มิใช่แต่เพียงผู้เดียวที่ต้องการเป็นเจ้าของภาพเขียนนี้[5]
ความสนใจของนาซี
[แก้]หลังจากนาซีเข้ารุกรานออสเตรีย นายทหารคนสำคัญของนาซีรวมทั้งแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Göring) ผู้พยายามเป็นเจ้าของภาพนี้ ในที่สุดอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก็ซื้อภาพนี้จากเคานท์จาโรเมร์ เซร์นินเป็นจำนวนเงิน 1.65 ล้านไรค์สมาร์คเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 [6] ออสเตรียได้รับภาพเขียนนี้คืนหลังจากที่ถูกนำไปเก็บไว้ในเหมืองเกลือเพื่อป้องกันจากการถูกระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 ฝ่ายอเมริกาคืนภาพเขียนให้แก่รัฐบาลออสเตรียในปี ค.ศ. 1946 ในปัจจุบันภาพนี้จึงเป็นสมบัติของประเทศออสเตรีย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.metmuseum.org/special/Vermeer_Delft/11.R.htm
- ↑ เวร์เมร์: The Art of Painting, Exhibitions - NGA
- ↑ John Michael Montias (1989) Vermeer and his Milieu. A Web of Social History, p. 338-339.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-18. สืบค้นเมื่อ 2009-06-11.
- ↑ Hitler and the European Art
- ↑ "Vermeer: The Art of Painting, ภาพเขียนนี้'s Afterlife - NGA". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-18. สืบค้นเมื่อ 2009-06-11.