ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จัดตั้งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539[1] โดยมีเหตุผลให้การจัดตั้งเพื่อให้คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่ง โดยทั่วไปได้รับพิจารณาพิพากษาโดยผู้พิพากษาโดยผู้พิพากษาซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และมีบุคคลภายนอกซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมพิจารณาและพิพากษาคดีด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันเพียงแห่งเดียว คือ "ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง"
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2540[2]
เขตอำนาจศาล (เหนือพื้นที่)
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีเขตอำนาจตลอดครอบคลุมท้องที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี
แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในท้องที่ภูมิภาค ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีเขตอำนาจครอบคลุมท้องที่ดังกล่าวทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 47 อันเป็นบทเฉพาะกาล นอกจากนั้น เพื่อให้การยื่นคำคู่ความและเอกสารต่างๆ เป็นไปโดยสะดวกและประหยัด โจทก์ในคดีแพ่งสามารถจะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลจังหวัดที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ และโจทก์ในคดีอาญาจะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น หรือจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับได้หรือท้องที่ที่เจ้าพนักงานทำการสอบสวนจำเลยก็ได้[3]
ประเภทคดีที่ขึ้นสู่ศาล (เขตอำนาจศาลเหนือคดี)
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ดังต่อไปนี้[4]
(1) คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร
(2) คดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ถึงมาตรา 275
(3) คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
(4) คดีแพ่งอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ถึงมาตรา 275
(5) คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
(6) คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมตาม (5) การส่งเงินเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว
(7) คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ
(8) คดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าหรือการให้บริการจากต่างประเทศ
(9) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทางการค้า และการคุ้มครองพันธุ์พืช
(10) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
(11) คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทตาม (3) ถึง (10)
คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
กรณีมีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหาดังกล่าวจะปรากฏในศาลยุติธรรมใด ให้เสนอปัญหานั้นต่อประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องเปลี่ยนแปลงศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ให้ศาลเดิมโอนคดีไปยังศาลดังกล่าว และให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วในศาลเดิมก่อนมีคำพิพากษาไม่เสียไป เว้นแต่ศาลที่รับโอนคดีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกา
ผู้พิพากษาและองค์คณะ
ผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมี 2 ประเภทคือผู้พิพากษาที่แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ และผู้พิพากษาสมทบที่แต่งตั้งจากบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศซึ่งคณะกรรมการตุลาการเป็นผู้คัดเลือกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี ประกอบด้วยผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคนและผู้พิพากษาสมทบอีกหนึ่งคน ส่วนการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลจะต้องบังคับตามเสียงฝ่ายข้างมาก
วิธีพิจารณาความในศาล
เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 จึงกำหนดให้มีการพิจารณาคดีติดต่อกันโดยไม่เลื่อนคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็น
นอกจากนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยอนุมัติประธานศาลฎีกา มีอำนาจออกข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลได้ ทำให้การดำเนินคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรมและประหยัด อันเป็นลักษณะพิเศษซึ่งแตกต่างจากศาลทั่วไป[5]
การอุทธรณ์/ฎีกา
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาพ.ศ. 2539 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 มาตรา 38 บัญญัติว่า “การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. 2558 โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชำนัญพิเศษ ซึ่งได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลล้มละลาย และศาลเยาวชนและครอบครัว ดังนั้น การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในปัจจุบัน จึงต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาโดยตรง
เว็ปไซต์
http://www.ipitc.coj.go.th/ เก็บถาวร 2018-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 55ก ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2539
- ↑ พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พ.ศ. 2540ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 67ก ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
- ↑ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 47
- ↑ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7
- ↑ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 30