วิปลาส
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
วิปลาส อ่านว่า วิ-ปะ-ลาด มาจากคำบาลีว่า วิปลาโส หมายถึง ความรู้เห็นที่คลาดเคลื่อน หรือความรู้เข้าใจอันผิดเพี้ยน ไปจากความเป็นจริง[1] ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ได้ให้ความหมายของวิปลาสไว้ว่า "คลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ"[2]
ซึ่งวิปลาสในทางพระพุทธศาสนานั้นมี 3 ลักษณะคือ
1. สัญญาวิปลาส คือ สัญญาผิดเพี้ยน เกิดขึ้นจากการให้สัญญะ หรือการสมมุติความหมาย ให้แก่สิ่งต่างๆ ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อย่างไม่ระวัง จนจิตเข้าไปยึดติดถือมั่นในสัญญะเหล่านั้น เช่น มีคนน้ำขวดน้ำเปล่าวางไว้หน้าเรา แล้วบอกว่าเขายกให้เป็นของเรา ต่อมามีคนมาหยิบไปดื่ม เราอาจรู้สึกไม่พอใจว่าทำไมไม่ขออนุญาตเราก่อน นี่คือความเร็วของการยึดติด ทั้งที่ขวดน้ำแต่ก่อนไม่ได้เป็นของเรา เรากำหนดสัญญะใส่ขวดน้ำทันทีว่าขวดน้ำนี้เป็นของเรา จึงเกิดการยึดติดขึ้น บางครั้งอาจเกิดจากความทรงจำผิดเพี้ยน เช่นการโกหกตัวเองให้เชื่อแบบนั้นทั้งที่สิ่งนั้นอาจไม่เคยเกิดขึ้นจริง หรือความทรงจำเสื่อม จนความทรงจำบางอย่างหรือทักษะบางอย่างหายไป รวมถึงการตีความสัญลักษณ์ผิด เช่น เห็นเชือกคิดว่างู เป็นต้น การฝังใจจากประสบการณ์พิเศษในอดีต
2. จิตตวิปลาส คือ ความคิดผิดเพี้ยน เกิดจากการไม่ระวังในการคิด คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด จนทำให้จิตมีอารมณ์แปรปรวนเกิดอารมณ์ลักษณะต่างๆขึ้นมา เพราะจิตเชื่อในความคิดเหล่านั้นที่ปรุงแต่งขึ้นมา เมื่อมีผัสสะมากระทบจิตก็ปรุงแต่งไปตามความคิดที่ไม่ระวังนั้นในที่สุด ทั้งที่อาจเป็นความคิดที่ไร้เหตุผล ไม่มีประโยชน์ใดๆ หรือไม่ใช่เรื่องจริง ไร้หลักฐาน การคิดไปเอง ต่อยอดความคิดไปในทางที่ผิด ไม่เกิดประโยชน์ เคยชินคิดฟุ้งซ่านมากกว่าการมีสมาธิมีสติมีสัมปชัญญะในกิจหน้าที่ ซึ่งแก้ได้ด้วยการไม่คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด มีสมาธิในสิ่งที่ทำ การฝึกควบคุมความคิดให้ดี การคิดในสิ่งที่ดี เป็นธรรม เป็นกุศล เกิดปัญญา เท่านั้น
3. ทิฏฐิวิปลาส คือ ความคิดเห็นผิดเพี้ยน ได้แก่ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ความเข้าใจ ที่ผิดเพี้ยนไป เกิดจากความด้อยปัญญาของจิต ที่ไม่พิจารณาสิ่งต่างๆให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ด้วยปัญญาตามเหตุผล จึงเกิดความเห็นผิดในสิ่งต่าง เเละเชื่อ ปฏิบัติตัว ปกป้องรักษายึดมั่นในความเห็นผิดนั้น หรือหวั่นไหวต่อสิ่งเร้าต่างๆ ที่เข้ามา เพราะขาดการพิจารณาจนเห็นความจริง เช่น หวั่นไหวต่อความงาม เพราะไม่พิจารณาอสุภะว่าร่างกายเป็นของไม่สะอาด ไม่พิจารณาโทษจากการครองเรือน ให้มากพอถี่ถ้วนจนจิตสิ้นสงสัยในสิ่งนั้น ดังนั้น จิตจึงด้อยปัญญาหวั่นไหวในความงามได้ เป็นต้น
อนุสัยขั้นต่ำทั้ง 2 คือ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา จัดเป็นสัญญาวิปลาส
อนุสัยขั้นกลางทั้ง 2 คือ กามราคะ ปฏิฆะ จัดเป็นจิตตวิปลาส
อนุสัยขั้นสูงทั้ง 3 คือ ภวราคะ มานะ อวิชชา จัดเป็นทิฏฐิวิปลาส
ในวิปลาสกถากล่าวว่า ทิฏฐิวิปลาสมีกำลังมากกว่าจิตตวิปลาส และจิตตวิปลาสมีกำลังมากกว่าสัญญาวิปลาส
ประเภท
[แก้]วิปลาสทั้ง 3 ลักษณะนี้ แต่ละลักษณะ มีทั้งสิ้น 4 ประเภท คือ
- นิจจวิปลาส วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
- สุขวิปลาส วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
- อัตตวิปลาส วิปลาสในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน
- สุภวิปลาส วิปลาสในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม
รวมทั้งสิ้นเป็น 12 วิปลาส
ในวิปลาสสูตรกล่าวว่า
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ละสุภวิปลาส
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ละสุขวิปลาส
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ละนิจจวิปลาส
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ละอัตตวิปลาส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม 2546.
- ↑ "พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2010-03-13.