ข้ามไปเนื้อหา

วิทยาการระบาดของมะเร็ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัตราการตายปรับตามอายุ (age-adjusted death rate) เพราะมะเร็งต่อประชากร 100,000 คนในปี 2004[1]
  ไม่มีข้อมูล
  < 55
  55-80
  80-105
  105-130
  130-155
  155-180
  180-205
  205-230
  230-255
  255-280
  280-305
  > 305

วิทยาการระบาดของมะเร็ง (อังกฤษ: epidemiology of cancer) เป็นการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อมะเร็ง เพื่ออนุมานทิศทาง/แนวโน้มและเหตุของโรค โดยใช้วิธีการทางวิทยาการระบาดเพื่อหาเหตุแล้วระบุและพัฒนา/ปรับปรุงการรักษา

การศึกษาในเรื่องนี้ต้องเผชิญกับปัญหาอคติเพราะเวลานำ (lead time bias) และอคติเข้าข้างเวลายาว (length time bias) อคติเพราะเวลานำเป็นแนวคิดว่า การวินิจฉัยพบโรคได้เร็วอาจทำให้สถิติของเวลาที่รอดชีวิตจากมะเร็งเกินจริง โดยไม่ได้ปรับปรุงการดำเนินของโรคจริง ๆ ส่วนอคติเข้าข้างเวลายาวเป็นแนวคิดว่า เนื้องอกที่โตช้ากว่ามีโอกาสวินิจฉัยพบมากกว่าด้วยการตรวจคัดกรองโรค แต่การปรับปรุงให้ตรวจพบมะเร็งที่โตช้าเป็นจำนวนมากกว่าอาจไม่ทำให้คนไข้ได้ผลดีจริง ๆ ปัญหาที่เกี่ยวกันอีกอย่างหนึ่งก็คือการวินิจฉัยพบโรคเกินจริง คือการตรวจคัดโรคมีแนวโน้มในการวินิจฉัยพบโรคโดยไม่มีผลเพิ่มชีวิตคนไข้ได้จริง ๆ ตัวอย่างเด่น คือมะเร็งต่อมลูกหมากกับการตรวจคัดโรคด้วยการเช็คค่าแอนติเจนเฉพาะต่อมลูกหมาก (Prostate-specific antigen, PSA)[2]

นักวิชาการทางมะเร็งบางท่านอ้างว่า การทดลองทางคลินิกของมะเร็งที่ได้ผลลบ/ผลว่าง ไม่มีกำลังทางสถิติเพื่อค้นพบประโยชน์ต่อการรักษาได้จริง ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะมีคนไข้สมัครเข้าร่วมการทดลองเป็นจำนวนน้อยกว่าที่วางแผนไว้ดั้งเดิม[3]

องค์กร

[แก้]

สำนักงานทะเบียนมะเร็ง (cancer registry) ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค เป็นองค์กรที่สรุปข้อมูลมะเร็งจากทะเบียนคนไข้ เป็นองค์กรที่ให้ข้อมูลแก่รัฐและกลุ่มสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยติตตามแนวโน้ม/ทิศทางของการวินิจฉัยและการรักษามะเร็ง องค์กรที่ใหญ่สุดและอาจสำคัญสุดแห่งหนึ่งก็คือ Surveillance Epidemiology and End Results (SEER) ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐเป็นผู้บริหาร[4]

อย่างไรก็ดี ความเป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสุขภาพได้ทำให้จำกัดการแชร์ข้อมูลทะเบียนมะเร็ง เช่น กระทรวงทหารผ่านศึกสหรัฐ (VA)[5][6][7] และสถาบันอื่น ๆ[8]

สมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ได้พยากรณ์ว่า ในสหรัฐปี 2012 จะมีคนไข้มะเร็งใหม่ 1,690,000 ราย และผู้เสียชีวิตเพราะมะเร็ง 577,000 ราย (จากประชากรประมาณ 323 ล้านคน)[9]

งานศึกษา

[แก้]

งานศึกษาวิทยาการระบาดแบบสังเกตที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงมะเร็งกับมะเร็งโดยเฉพาะ ๆ โดยมากช่วยสร้างสมมติฐานเกี่ยวกับการรักษาที่อาจลดอุบัติการณ์หรือพยาธิภาวะของโรค ต่อจากนั้น การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCT) จึงตรวจสอบสมมติฐานที่ได้จากงานศึกษาเช่นนั้นและจากการวิจัยแบบทดลองว่า ช่วยลดอุบัติการณ์หรือพยาธิภาวะของโรคจริง ๆ หรือไม่ ในกรณีจำนวนมาก สิ่งที่ค้นพบจากงานศึกษาวิทยาการระบาดแบบสังเกตไม่สามารถยืนยันได้ด้วยงานทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม

ปัจจัยเสี่ยง

[แก้]
ระดับสัมพัทธ์โดยประมาณของเหตุมะเร็งที่ป้องกันได้ในสหรัฐ (ดูเพิ่มที่การป้องกันมะเร็ง)

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดก็คืออายุ ตามนักวิจัยมะเร็งผู้หนึ่ง "ถ้าเรามีชีวิตนานพอ ไม่ช้าก็เร็วทุกคนก็จะเป็นมะเร็ง"[10] โดยพื้นฐานแล้ว ในประเทศอังกฤษ การเพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปี 1901-1905 มาจากช่วงอายุที่ยืนขึ้น[10] แม้การเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตามอายุจะมีหลักฐานที่ชัดเจน แต่รูปแบบตามอายุก็ค่อนข้างซับซ้อน มะเร็งบางอย่าง เช่น มะเร็งอัณฑะ มีอุบัติการณ์สูงสุดในช่วงต้นของชีวิตโดยยังไม่ทราบสาเหตุ อนึ่ง การเกิดมะเร็งต่าง ๆ จะเพิ่มตามอายุตามอัตราที่ต่าง ๆ กัน เช่น อุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากจะเพิ่มเร็วมากกว่ามะเร็งสมอง[11]

มะเร็งทั่วโลกประมาณ 1/3 (แต่ประมาณ 75-80% ในสหรัฐ)[12] เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนได้ ปัจจัยระดับต้น ๆ ทั่วโลกรวมทั้ง

ชายที่เป็นมะเร็งมีโอกาสมีปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนได้เป็นสองเท่าของหญิงที่เป็นมะเร็ง[13]

พฤติกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่รู้ว่ามีผลต่อความเสี่ยงมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นผลบวกหรือลบ รวมทั้งการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ (เช่น การบำบัดด้วยการทดแทนฮอร์โมน คือ HRT อันเป็นเหตุของมะเร็งเต้านม), การรับ/ถูกต้องกับรังสีแตกตัว (ionizing radiation) หรือรังสีอัลตราไวโอเลต และการรับปัจจัยเสี่ยงเช่นสารเคมีเนื่องกับอาชีพ[14]

ทุก ๆ ปี คนอย่างน้อย 200,000 คนเสียชีวิตทั่วโลกเพราะมะเร็งที่เกี่ยวกับอาชีพ[15] ผู้ประกอบอาชีพเป็นล้าน ๆ คนเสี่ยงเกิดมะเร็งเช่น pleural mesothelioma (มะเร็งเยื่อหุ้มปอด) และ peritoneal mesothelioma (มะเร็งเยื่อบุท้อง) เพราะสูดแร่ใยหินเข้าทางอากาศ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพราะได้รับ/ถูกต้องน้ำมันเบนซีนในอาชีพ[15] ปัจจุบัน การตายเพราะมะเร็งเกี่ยวกับปัจจัยทางอาชีพเกิดโดยมากในประเทศพัฒนาแล้ว[15] ในสหรัฐ ประมาณว่า ผู้ตายเพราะมะเร็ง 20,000 รายและคนไข้มะเร็งใหม่ 40,000 รายในแต่ละปีเกี่ยวข้องกับอาชีพ (จากประชากรทั้งหมด 323 ล้านคน)[16]

อัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิต

[แก้]

ในสหรัฐ มะเร็งเป็นเหตุความตายเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจร่วมหลอดเลือด (CVD) เท่านั้น[17] แต่ในสหราชอาณาจักร มันเป็นเหตุอันดับหนึ่ง[18] ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ อุบัติการณ์ของมะเร็ง (ตามที่วัดได้) ดูเหมือนจะต่ำกว่ามาก โดยน่าจะเป็นเพราะอัตราความตายเนื่องกับโรคติดต่อหรือการบาดเจ็บที่สูงกว่า แต่เมื่อควบคุมมาลาเรียและวัณโรคได้ดีขึ้น อุบัติการณ์ของมะเร็งเชื่อว่าจะสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก อุบัติการณ์ของมะเร็งเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้น 100-180% ภายใน 15 ปีข้างหน้าเพราะการคาดหมายคงชีพที่สูงขึ้น จำนวนผู้ชราภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น และการควบคุมโรควัยเด็กได้[19] เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า epidemiological transition (การเปลี่ยนสถานะทางวิทยาการระบาด)

การระบาดของมะเร็งเป็นกระจกส่องปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ มะเร็งเซลล์ตับ (HCC) เกิดในประเทศตะวันตกน้อยแต่เป็นมะเร็งหลักในจีนและประเทศใกล้เคียง โดยน่าจะเป็นเพราะมีไวรัสตับอักเสบ บี และสารพิษอะฟลาทอกซิน เป็นของประจำถิ่น เช่นเดียวกัน เพราะการสูบบุหรี่ได้กลายเป็นเรื่องสามัญในประเทศโลกที่สามต่าง ๆ อุบัติการณ์ของมะเร็งปอดจึงได้เพิ่มตาม

ไทย

[แก้]

ในประเทศไทยระหว่างปี 2013-2015 ชายมีอัตราอุบัติการณ์เฉลี่ยของโรคต่อปีปรับตามอายุ (age-standardized incidence rate, ASR) ต่อประชากร 100,000 คนที่ 143.8 รายและหญิง 134.2 ราย (ชายเกิดโรคทั้งหมด 61,416 คนและหญิง 65,139 คน) เมื่อแบ่งเป็นภาค ๆ อัตราจะสูงสุดในภาคตะวันออก คือ ชายมีอัตรา 164.5 ราย และหญิง 214.8 ราย[20]

มะเร็งที่เกิดในอัตราสูงสุดต่อประชากร 100,000 คนในชายตามลำดับคือ ตับและท่อน้ำดี (33.9 ราย) ท่อลม หลอดลม และปอด (23.0 ราย) ลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (16.2 ราย) และต่อมลูกหมาก (7.5 ราย) มะเร็งที่เกิดในหญิงตามลำดับคือ เต้านม (31.4 ราย) ตับและท่อน้ำดี (12.9 ราย) ปากมดลูก (11.7 ราย) และลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (11.1 ราย)[21]

ตามงานปี 2017 ภาระโรคมะเร็งในประเทศไทย 60% มาจากมะเร็ง 5 อย่าง คือมะเร็งเต้านม ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่กับไส้ตรง ตับ และปอดโดยมีอัตราอุบัติการณ์ที่ 59.2% อัตราตายที่ 63.1% และความชุกโรคภายใน 5 ปีที่ 54.3% ของมะเร็งทั้งหมด[22]

อินเดีย

[แก้]

ตามคณะกรรมการวิจัยการแพทย์แห่งอินเดีย (India Council of Medical Research, ICMR) คนอินเดียเกิน 1,300 คนเสียชีวิตทุกวันเพราะมะเร็ง (ปีละ 474,500 รายจากประชากร 1,327 ล้านคน) ระหว่างปี 2012-2014 อัตราการตายเพราะมะเร็งได้เพิ่มประมาณ 6% ในปี 2012 มีผู้เสียชีวิต 478,180 รายจากคนไข้ 2,934,314 คนที่รายงาน (16.29%) ในปี 2013 มีผู้เสียชีวิต 465,169 รายจากคนไข้ 3,016,628 คน (15.4%) ในปี 2014 มีผู้เสียชีวิต 491,598 รายจากคนไข้ 2,820,179 คน (17.4%)[23]

ตามทะเบียนมะเร็งประชากรของ ICMR อุบัติการณ์และการตายเพราะมะเร็งสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ[24] มะเร็งเต้านมสามัญที่สุด มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นเหตุมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุดในประชากรทั้งหมด มะเร็งเต้านมทำให้หญิงเสียชีวิตมากที่สุด และมะเร็งปอดทำให้ชายเสียชีวิตมากที่สุด[25]

แคนาดา

[แก้]

ในแคนาดาปี 2007 มะเร็งเป็นเหตุให้เสียชีวิตอันดับหนึ่ง คือที่อัตราร้อยละ 29.6 เหตุอันดับสองคือโรคหัวใจร่วมหลอดเลือด (CVD) ในปี 2011 มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งสามัญที่สุดในชาย (คนไข้มะเร็งใหม่ 28%) และมะเร็งเต้านมสามัญที่สุดในหญิง (คนไข้มะเร็งใหม่ 28% เหมือนกัน)

มะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุดทั้งในชายหญิงคือมะเร็งปอด เป็นเหตุให้ตายเพราะมะเร็ง 26.8% ข้อมูลสถิติชี้ว่า ระหว่างอายุ 20-50 ปี อัตราอุบัติการณ์ (incidence rate) ของมะเร็งสูงกว่าในหญิง เทียบกับหลังอายุ 50 ปีที่อัตราอุบัติการณ์ในชายจะสูงขึ้น สมาคมมะเร็งแคนาเดียนพยากรณ์ว่า ในอนาคต อัตราอุบัติการณ์ของมะเร็งจะสูงขึ้นทั้งในชายหญิง ดังนั้น ก็จะคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต

สหรัฐ

[แก้]

ในสหรัฐ มะเร็งเป็นเหตุให้เสียชีวิต 25% โดย 30% จากนั้นมีเหตุจากมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมากสามัญที่สุดในชาย (คนไข้มะเร็งใหม่ 25%) และมะเร็งเต้านมในหญิง (คนไข้มะเร็งใหม่ 25% เช่นกัน) เด็กและวัยรุ่นก็อาจเป็นมะเร็ง แต่ก็ไม่สามัญ (มีกรณี 150 รายต่อล้านคน) โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามัญที่สุด[17] แต่ในปีแรกของชีวิต อุบัติการณ์อยู่ที่ 230 กรณีต่อล้านคน โดยนิวโรบลาสโตมาสามัญที่สุด[26] ข้อมูลปี 2004-2008 บ่งว่า อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งที่ปรับตามอายุ (age-adjusted) โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 460 รายต่อชายหญิง 100,000 คนต่อปี[27]

ในสหรัฐ มะเร็งเป็นเหตุให้เสียชีวิต 25% ส่วนในโลกหลาย ๆ แห่ง ก็เป็นปัญหาหลักทางสาธารณสุขอย่างหนึ่ง ข้อมูลทางสถิติต่อไปเป็นค่าประเมินสำหรับสหรัฐในปี 2008, อาจต่างกับประเทศอื่น ๆ อย่างสำคัญ, ยกเว้นมะเร็งผิวหนังแบบ basal cell และ squamous cell, และยกเว้น carcinoma in situ ในตำแหน่งต่าง ๆ นอกเหนือจากกระเพาะปัสสาวะ[17] ดังที่จะเห็น มะเร็งเต้านม/ต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเหตุของอุบัติการณ์โรคมะเร็งประมาณครึ่งหนึ่ง ในเรื่องการเสียชีวิตเพราะมะเร็งก็เช่นกัน แต่มะเร็งปอดจะเป็นเหตุหลักแทนมะเร็งเต้านม/ต่อมลูกหมาก

ในปี 2016 จะมีคนไข้ที่วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งใหม่ 1,685,210 ราย โดย 595,690 ราย (35.37%) จะเสียชีวิตเพราะโรค (จากประชากรประมาณ 324 ล้านคน)[28]

ชาย หญิง
เกิดสามัญที่สุด[17] ทำให้ตายอย่างสามัญที่สุด[17] เกิดสามัญที่สุด[17] ทำให้ตายอย่างสามัญที่สุด[17]
มะเร็งต่อมลูกหมาก (25%) มะเร็งปอด (31%) มะเร็งเต้านม (26%) มะเร็งปอด (26%)
มะเร็งปอด (15%) มะเร็งต่อมลูกหมาก (10%) มะเร็งปอด (14%) มะเร็งเต้านม (15%)
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (10%) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (8%) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (10%) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (9%)
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (7%) มะเร็งตับอ่อน (6%) มะเร็งเยื่อบุมดลูก (7%) มะเร็งตับอ่อน (6%)
non-Hodgkin lymphoma (5%) มะเร็งตับและท่อน้ำดี (4%) non-Hodgkin lymphoma (4%) มะเร็งรังไข่ (6%)
เมลาโนมาที่ผิวหนัง (5%) มะเร็งเม็ดเลือดขาว (4%) มะเร็งไทรอยด์ (4%) non-Hodgkin lymphoma (3%)
มะเร็งไต (4%) มะเร็งหลอดอาหาร (4%) เมลาโนมาที่ผิวหนัง (4%) มะเร็งเม็ดเลือดขาว (3%)
มะเร็งปากและคอหอย (3%) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (3%) มะเร็งรังไข่ (3%) มะเร็งมดลูก (3%)
มะเร็งเม็ดเลือดขาว (3%) non-Hodgkin lymphoma (3%) มะเร็งไต (3%) มะเร็งตับและท่อน้ำดี (2%)
มะเร็งตับอ่อน (3%) มะเร็งไต (3%) มะเร็งเม็ดเลือดขาว (3%) มะเร็งสมองและระบบประสาทอื่น ๆ (2%)
อื่น ๆ (20%) อื่น ๆ (24%) อื่น ๆ (22%) อื่น ๆ (25%)

มะเร็งอย่างที่สองในคนไข้ที่หายจากมะเร็งอย่างแรก

[แก้]

ในประเทศพัฒนาแล้ว คน 1/3 จะเกิดมะเร็งในช่วงชีวิต ถ้าคนไข้ทั้งหมดรอดชีวิตและมะเร็งเกิดโดยสุ่ม โอกาสการเกิดมะเร็งหลักอย่างที่สอง (ที่ไม่เกี่ยวกับมะเร็งที่เป็นอย่างแรก) ชั่วชีวิตปกติจะอยู่ที่ 1/9[29] แต่จริง ๆ แล้วคนไข้มีโอกาสเป็นมะเร็งหลักอย่างที่สอง 2/9 คือเสี่ยงเป็นมะเร็งอย่างที่สองมากขึ้น[29] คนไข้ประมาณครึ่งหนึ่งดังกล่าวจัดอยู่ในโอกาสเสี่ยง 1 ใน 9 ตามปกติดังที่ว่า[29]

ความเสี่ยงเพิ่มเชื่อว่าเกิดจากปัจจัยเสี่ยงเดียวกันที่ก่อมะเร็งอย่างแรก เช่น กรรมพันธุ์ การสูบบุหรี่ทานแอลกอฮอล์ โรคอ้วน ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม และส่วนหนึ่งเกิดจากการรักษามะเร็งอย่างแรก ซึ่งอาจใช้ยาคีโมหรือการฉายรังสีซึ่งทำให้ยีนกลายพันธุ์ (mutagenic)[29] อนึ่ง ผู้รอดชีวิตอาจทำตามคำแนะนำของแพทย์ให้ตรวจคัดโรคได้ดีกว่า จึงตรวจพบมะเร็งมากกว่าคนทั่วไป[29]

เด็ก

[แก้]

มะเร็งในเด็กและวัยรุ่นมีน้อย (ประมาณ 150 กรณีต่อ 1 ล้านคนต่อปีในสหรัฐ) ในสหรัฐ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ปกติ acute lymphoblastic leukemia) เป็นมะเร็งสามัญที่สุดในเด็กวัยระหว่าง 1-14 ปี ตามด้วยมะเร็งในระบบประสาทกลาง (มะเร็งสมอง), นิวโรบลาสโตมา, Wilms' tumor และ non-Hodgkin's lymphoma[17] สถิติของ SEER แสดงว่า มะเร็งวัยเด็กเพิ่มขึ้น 19% ระหว่างปี 1975-1990 เพราะ acute leukemia เป็นหลัก แต่ตั้งแต่ปี 1990 อัตราก็ได้ลดลง[30]

ทารก

[แก้]

การเกิดมะเร็งวัยเด็กสูงสุดในช่วงปีแรกของชีวิต อุบัติการณ์ต่อปีเฉลี่ยในสหรัฐระหว่างปี 1975-1995 อยู่ที่ 233 รายต่อทารกล้านคน[30] มีค่าประเมินต่าง ๆ ในสหรัฐตาม SEER[30]

  • นิวโรบลาสโตมาเป็นกรณีมะเร็ง 28% ในทารก โดยเป็นมะเร็งสามัญที่สุด (65 รายต่อล้านคน)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว (41 รายต่อล้านคน) สามัญเป็นอันดับต่อมา เป็นกรณีมะเร็ง 17%
  • มะเร็งในระบบประสาทกลางเป็นกรณีมะเร็ง 13% โดยมีอัตราอุบัติการณ์ต่อปีเฉลี่ยเกือบ 30 รายต่อทารกล้านคน
  • ส่วนอัตราอุบัติการณ์เฉลี่ยต่อปีสำหรับมะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ (germ cell) และเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue) ทั้งสองเกือบเท่ากันที่ 15 รายต่อทารกล้านคน โดยแต่ละอย่างเป็นมะเร็งใน 6% ของทารก

เนื้องอกวิรูป (teratoma เป็นเนื้องอกของเซลล์สืบพันธุ์) บางครั้งจัดว่าเป็นเนื้องอกสามัญที่สุดในเด็กวัยนี้ แต่เนื้องอกวิรูปโดยมากตัดออกเมื่อยังไม่ร้าย ดังนั้น อาจจะไม่จัดว่าเป็นมะเร็ง ก่อนเริ่มตรวจทารกในครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงอย่างกว้างขวาง อุบัติการณ์ของ sacrococcygeal teratoma เมื่อคลอดอยู่ที่ 25-29 รายต่อทารกล้านคน

ทารกทั้งหญิงและชายมีอัตราอุบัติการณ์โรคมะเร็งทั่วไปเกือบเท่ากัน ซึ่งต่างกับเด็กที่สูงวัยกว่านี้ ทารกผิวขาวมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงกว่าทารกผิวดำ ความต่างที่มีเกิดจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นส่วนสำคัญ อัตราเฉลี่ยต่อปีของทารกผิวขาว (ที่ 48.7 รายต่อล้านคน) สูงกว่าของทารกผิวดำ 66% (ที่ 29.4 รายต่อล้านคน)[30] การรอดชีวิตโดยสัมพัทธ์ของทารกดีมากสำหรับนิวโรบลาสโตมา, Wilms' tumor และ retinoblastoma และดี (80%) สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่ไม่ดีสำหรับมะเร็งแบบอื่น ๆ

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "WHO Disease and injury country estimates". World Health Organization. 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-11-11.
  2. Brawley, OW (2004). "Prostate cancer screening: clinical applications and challenges". Urol. Oncol. 22 (4): 353–7. doi:10.1016/j.urolonc.2004.04.014. PMID 15283896.
  3. Bedard, PL; Krzyzanowska, MK; Pintilie, M; Tannock, IF (2007). "Statistical power of negative randomized controlled trials presented at American Society for Clinical Oncology annual meetings". J. Clin. Oncol. 25 (23): 3482–7. doi:10.1200/JCO.2007.11.3670. PMID 17687153.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  4. "SEER Surveillance Epidemiology and End Results". สืบค้นเมื่อ 2007-11-02.
  5. Furlow B (September 2007). "Accuracy of US cancer surveillance under threat". Lancet Oncol. 8 (9): 762–3. doi:10.1016/S1470-2045(07)70258-9. PMID 18348351.
  6. "VA Cancer Data Blockade May Imperil Surveillance". Medpage Today. 31 August 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16. สืบค้นเมื่อ 2018-12-03.
  7. "States and V.A. at Odds on Cancer Data". New York Times. 10 October 2007.
  8. "Negative Impact of HIPAA on Population-Based Cancer Registry Research: Update of a Brief Survey" (PDF). IOM Presentation. 14 June 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-05.
  9. "Cancer Facts and Figures 2012". Journalist's Resource.org. 2012-01-09.
  10. 10.0 10.1 Johnson, George (2010-12-28). "Unearthing Prehistoric Tumors, and Debate". The New York Times. If we lived long enough, sooner or later we all would get cancer.
  11. de Magalhaes, JP (2013). "How ageing processes influence cancer". Nature Reviews Cancer. 13 (5): 357–65. doi:10.1038/nrc3497. PMID 23612461.
  12. Doll, R; Peto, R (1981). "The causes of cancer: quantitative estimates of avoidable risks of cancer in the United States today". J. Natl. Cancer Inst. 66 (6): 1191–308. doi:10.1093/jnci/66.6.1192. PMID 7017215.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  13. Danaei, G; S, Vander Hoorn; Lopez, AD; Murray, CJ; Ezzati, M (2005). "Causes of cancer in the world: comparative risk assessment of nine behavioural and environmental risk factors". Lancet. 366 (9499): 1784–93. doi:10.1016/S0140-6736(05)67725-2. PMID 16298215.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  14. Uccello, M; Malaguarnera, G; Corriere, T; Biondi, A; Basile, F; Malaguarnera, M (2012). "Risk of hepatocellular carcinoma in workers exposed to chemicals". Hepat. Mon. 12 (10 HCC): e5943. doi:10.5812/hepatmon.5943. PMC 3496877. PMID 23162599.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  15. 15.0 15.1 15.2 "WHO calls for prevention of cancer through healthy workplaces" (Press release). World Health Organization. 2007-04-27. สืบค้นเมื่อ 2007-10-13.
  16. "National Institute for Occupational Safety and Health- Occupational Cancer". United States National Institute for Occupational Safety and Health. สืบค้นเมื่อ 2007-10-13.
  17. 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 Jemal A, Siegel R, Ward E, และคณะ (2008). "Cancer statistics, 2008". CA Cancer J Clin. 58 (2): 71–96. doi:10.3322/CA.2007.0010. PMID 18287387. S2CID 43737426.
  18. "Cancer: Number one killer". BBC News online. 2000-11-09.
  19. Khatib, O; Aljurf, M (2008). "Cancer prevention and control in the Eastern Mediterranean region: the need for a public health approach". Hematol Oncol Stem Cell Ther. 1 (1): 44–52. doi:10.1016/s1658-3876(08)50060-4. PMID 20063528.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  20. Cancer in Thailand, Vol. IX, 2013-2015 (unpublished) (PDF). กระทรวงสาธารณสุข, กรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, กระทรวงศึกษา. 2018. Table 2.1.2 Mean annual age-standardized incidence rate (ASR per 100,000),all sites, 2013-2015, p. 5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-12-18.
  21. Cancer in Thailand, Vol. IX, 2013-2015 (unpublished) (2018), Figure 2.1.3 Leading cancer in Thailand (mean annual ASR 2013-2015), p. 7
  22. "National and Subnational Population-Based Incidence of Cancer in Thailand: Assessing Cancers with the Highest Burdens". 2017. doi:10.3390/cancers9080108. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) อ้างอิง Ferlay, J.; Soerjomataram, I.; Ervik, M.; Dikshit, R.; Eser, S.; Mathers, C.; Rebelo, M.; Parkin, D.M.; Forman, D.; Bray, F. Globocan. "2012 Cancer Incidence and Mortality Worldwide". สืบค้นเมื่อ 2016-01-26.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  23. "Cancer kills 1300 Indians every day". Delhi Daily News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-18. สืบค้นเมื่อ 2015-05-17.
  24. National Cancer Registry Programme (2013). Three-year report of population based cancer registries: 2009-2011. Bangalore: NCDIR-ICMR.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  25. "Cancer cases on the rise but death rate is falling". The Hindu (ภาษาIndian English). 2015-05-29. ISSN 0971-751X. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-13. สืบค้นเมื่อ 2016-02-27.
  26. SEER 1999, Cancer among infants (PDF) pp. 149-156
  27. "SEER Stat Fact Sheets: All Sites". Surveillance Epidemiology and End Results, U.S. National Cancer Institute. 2011-10-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-29.
  28. "Cancer Statistics". National Cancer Institute. 2015-04-02. สืบค้นเมื่อ 2016-11-17.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 Rheingold, Susan; Neugut, Alfred; Meadows, Anna (2003). "156". ใน Frei, Emil; Kufe, Donald W.; Holland, James F. (บ.ก.). Cancer medicine 6. Hamilton, Ont: BC Decker. ISBN 978-1-55009-213-4.
  30. 30.0 30.1 30.2 30.3 Ries LA, Smith MA, Gurney JG, Linet M, Tamra T, Young JL, Bunin GR, บ.ก. (1999). Cancer Incidence and Survival among Children and Adolescents, United States SEER program 1975–1995. Bethesda MD: National Cancer Institute, SEER Program. NIH Pub. No. 99-4649.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]