วาเลนตินา มัตวิเยนโก
วาเลนตินา อีวานอฟนา มัตวิเยนโก (รัสเซีย: Валенти́на Ива́новна Матвие́нко, เกิด 7 เมษายน ค.ศ. 1949 ในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน) ปัจจุบันเป็นนักการเมืองสตรีตำแหน่งสูงสุดในรัสเซีย อดีตผู้ว่าการเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และประธานสภาสหพันธ์แห่งรัสเซีย เกิดในยูเครน มัตวิเยนโกเริ่มอาชีพการเมืองในคริสต์ทศวรรษ 1980 ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (สมัยนั้นเรียก เลนินกราด) และเลขานุการเอกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตเขตครัสนอกวาร์เดย์สกี ของนคร ตั้งแต่ ค.ศ. 1984 ถึง 1986[1] ในคริสต์ทศวรรษ 1990 เธอดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำมอลตา (ค.ศ. 1991-1995) และกรีซ (ค.ศ. 1997-1998)[1] ระหว่าง ค.ศ. 1998-2003 มัตวิเยนโกเป็นรองนายกรัฐมนตรีรัสเซียฝ่ายสวัสดิการ และเป็นรัฐทูตประธานาธิบดีไปยังเขตสหพันธ์ตะวันตกเฉียงเหนือใน ค.ศ. 2003 ขณะนั้นเธอเป็นพันธมิตรอย่างมั่นคงกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน พันธมิตรซึ่งประกันชัยชนะของเธอในการเลือกตั้งผู้ว่าการนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองเกิดของปูติน
มัตวิเยนโกเป็นผู้นำหญิงคนแรกของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เช่นเดียวกับผู้ว่าการหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์รัสเซีย[2] นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นตำแหน่งของเธอในฐานะผู้ว่าการ เงินภาษีสัดส่วนมากถูกโอนจากงบประมาณสหพันธ์มาสู่ระดับท้องถิ่น และร่วมกับเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟูและบรรยากาศแห่งการพัฒนาการลงทุน ทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ในนครดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ระดับรายได้สูงใกล้เคียงกับกรุงมอสโก และเหนือกว่าเขตการปกครองอื่นของรัสเซียอย่างมาก บทบาทของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในการเมืองรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากการย้ายศาลรัฐธรรมนูญแห่งรัสเซียจากกรุงมอสโกใน ค.ศ. 2008
มัตวิเยนโกพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการในด้านที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างถนนวงแหวนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งรวมถึงสะพานบิกโอบูฮอฟสกี (สะพานข้ามแม่น้ำเนวาเพียงแห่งเดียวในนครที่ไม่ใช่สะพานชัก), การก่อสร้างเขื่อนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจนแล้วเสร็จ ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อยุติอุทกภัยในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, การเปิดทางรถไฟใต้ดินเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสาย 5 และเริ่มต้นการนำที่ดินที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะกลับมาใช้ประโยชน์ (land reclamation) ในอ่าวเนวา สำหรับทำเป็น Marine Facade ใหม่ของนคร (โครงการพัฒนาเขตริมฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป)[3] ซึ่งมีท่านิวซีแพสเซนเจอร์ด้วย บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายรายถูกดึงดูดมายังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กหรือพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีทั้งโตโยตา เจเนอรัลมอเตอร์ นิสสัน ฮุนไดมอเตอร์ ซูซูกิ แมกนาอินเตอร์เนชันแนล สแกเนีย และ MAN SE (ทั้งหมดมีโรงงานในเขตอุตสาหกรรมชูชารีอยู่แล้ว) จึงเปลี่ยนแปลงนครเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในรัสเซีย โดยเน้นบริษัทต่างชาติ การพัฒนาอีกอย่างหนึ่งของมัตวิเยนโก คือ การท่องเที่ยว โดยจนถึง ค.ศ. 2010 จำนวนนักท่องเที่ยวในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและแตะระดับ 5.2 ล้านคน ซึ่งทำให้นครดังกล่าวอยู่ในห้าศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญของยุโรป[4][5]
วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2011 ไม่นานหลังการก่อสร้างเขื่อนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเสร็จสิ้น มัตวิเยนโกลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการนคร ในฐานะสมาชิกของพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2011 เธอได้รับเลือกเป็นประธานสภาสหพันธ์แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย[6] ตำแหน่งที่ได้จากการเลือกตั้งสูงสุดเป็นอันดับสามของประเทศ และเป็นตำแหน่งทางการเมืองสูงที่สุดที่ผู้หญิงดำรงในรัสเซียนับตั้งแต่สมัยจักรพรรดินีแคทเธอรีนมหาราชินี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Valentina Matvienko at petersburgcity.com
- ↑ A journey from Saint Petersburg to Moscow RIAN
- ↑ Marine faсade Official website
- ↑ Saint Petersburg expects 5 million tourists by the end of the year RIAN
- ↑ "Petersburg among the top five tourist centers in Europe". Maris-spb.ru. สืบค้นเมื่อ 22 September 2011.
- ↑ Matviyenko takes Russian upper house speaker post RIAN