วันขอบคุณแรงงาน
วันขอบคุณแรงงาน | |
---|---|
จัดขึ้นโดย | ญี่ปุ่น |
ประเภท | วันหยุดประจำชาติ |
ความสำคัญ | ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงาน |
การถือปฏิบัติ | การขอบคุณซึ่งกันและกัน |
วันที่ | 23 พฤศจิกายน |
ความถี่ | ทุกปี |
ครั้งแรก | ค.ศ. 1948 |
วันขอบคุณแรงงาน (ญี่ปุ่น: 勤労感謝の日; โรมาจิ: Kinrō kansha no hi) (อังกฤษ: Labor Thanksgiving Day) เป็นวันหยุดราชการในประเทศญี่ปุ่น ถูกจัดขึ้นเป็นประจำในวันที่ 23 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยกฎหมายได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นการรำลึกถึงแรงงานที่ทำงานด้วยมือ การผลิต และการให้ความขอบคุณแก่ผู้อื่น
ในวันนี้ มีการจัดเทศกาลขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่นในเทศกาลแรงงานนางาโนะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกทางด้านสิ่งแวดล้อม สันติภาพและสิทธิมนุษยชน
ประวัติ
[แก้]วันขอบคุณแรงงานเป็นชื่อเรียกใหม่สำหรับเทศกาลเก็บเกี่ยวข้าวเดิม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า (ญี่ปุ่น: 新嘗祭; โรมาจิ: Niiname-sai) ซึ่งเชื่อกันว่าจัดขึ้นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 678 ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิม เทศกาลดังกล่าวถูกจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการทำงานหนักระหว่างปี และจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นจะทรงอุทิศผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ให้กับวิญญาณ และลิ้มรสข้าวเป็นครั้งแรก
วันหยุดราชการสมัยใหม่ถูกจัดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1948 เพื่อเป็นการรำลึกถึงรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการแก้ไขหลังจากสงคราม รวมทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน Niiname-sai เป็นเทศกาลที่ถูกจัดขึ้นโดยราชวงศ์ญี่ปุ่น ในขณะที่วันขอบคุณแรงงานเป็นวันหยุดราชการ
นอกจากนี้ วันที่ 1 พฤษภาคม ยังมีการเฉลิมฉลองวันแรงงานด้วยเช่นกัน โดยสหภาพแรงงานหลายแห่งในประเทศ ซึ่งมีการรวมตัวและเดินขบวนเรียกร้องในโตเกียว จังหวัดโอซากะ และเมืองนาโงยะ