วัดไทร (เขตบางคอแหลม)
วัดไทร | |
---|---|
ที่ตั้ง | เลขที 635 ซอยเจริญราษฎร์ 7 ถนนเจริญราษฎร์ แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร 10120 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระครูนิโครธปัญญาคุณ (ปรีชา ปุณฺณสีโล) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดไทร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]ประวัติการสร้างและผู้ใดสร้างวัดไทรนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่เมื่อสันนิษฐานจากองค์พระพุทธรูปที่มีอยู่ในวิหาร และดูจากพระปรางค์หรือเจดีย์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย ขณะที่เจดีย์บางองค์ระบุ ร.ศ. 123 คือสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากข้อมูลในหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ราว พ.ศ. 2410 ไม่ปรากฏนามและประวัติผู้สร้าง วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2541[1]
อาคารเสนาสนะ
[แก้]อุโบสถหลังใหม่ปัจจุบันซึ่งยกสูงจากระดับพื้น เป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัด คือ พระพุทธชินราชจำลอง ได้เริ่มก่อสร้างและวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2537 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542 หน้าบันอุโบสถมีตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2539 ใบเสมาทำจากหินชนวนขนาดเล็กล้อมรอบอุโบสถ[2] พระอุโบสถหลังเก่าซึ่งปัจจุบันเป็นพระวิหารปิดตาย เนื่องจากถูกขโมยพระพุทธรูปอยู่บ่อยครั้ง เจดีย์พระธาตุสีทองที่สร้างขึ้นในสมัยพระครูโสภณธรรมรังษีเป็นเจ้าอาวาส ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุ และอัฐิหลวงปู่สุ่นและอัฐิหลวงพ่อพูน กิตติสาโร เจ้าอาวาสองค์ก่อน มณฑปหลวงปู่พุ่มภายในมีรูปเหมือนของหลวงปู่พุ่มขนาดเท่าองค์จริง
ศาลเจ้าพ่อเรืองอันเป็นที่นับถือของชาวจีนย่านบางรัก ภายในจะมีรูปหล่อปูนปั้นของเจ้าพ่อเรืองในชุดนักรบมือซ้ายถือดาบ ประวัติของเจ้าพ่อเรืองนั้น สันนิษฐานว่าเป็นขุนเรือง ทหารผู้กล้าในการสู้ศึกสมัยกรุงศรีอยุธยา องค์เจ้าพ่อเรืองลอยมาติดที่ท่าเทียบเรือแถววัดสวนพลู ชาวจีนได้สร้างศาลและอัญเชิญท่านมาอยู่ที่ตรอกไก่ (ถนนศรีเวียงในปัจจุบัน) แต่เมื่อมีการสร้างโรงแรมขึ้น จึงอัญเชิญมายังวัดไทร
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- หลวงพ่อรุ่ง
- หลวงพ่อสุ่น
- อาจารย์แก้ว
- หลวงตาหนู
- หลวงพ่อพูน กิตฺติสาโร
- พระครูโสภณธรรมรังษี (อุดม สุภจาโร (เกตุสืบ))
- พระครูนิโครธปัญญาคุณ (ปรีชา ปุณฺณสีโล)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ทำความรู้จัก "วัดไทร บางโคล่" วัดโบราณในสมัยอยุธยา". เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-25. สืบค้นเมื่อ 2020-10-09.
- ↑ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. "ตามสืบร่องรอยของวัดเก่าชื่อโหลที่กำลังเป็นที่พูดถึงบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์". เดอะคลาวด์.