วัดแก้วเจริญ
วัดแก้วเจริญ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดแก้วเจริญ, วัดแก้ว |
ที่ตั้ง | ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระครูรัตนภาวนาวิสุทธิ์ (คำนวณ ปริสุทฺโธ) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดแก้วเจริญ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดแก้วเจริญ เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง และมีนามเดิมชื่อว่าวัดอะไร เพราะได้รกร้างมาเป็นเวลานาน มีเรื่องเล่าว่า ชาวบ้านท่าใหญ่กรุงศรีอยุธยาได้อพยพหลบภัยพม่า เมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310 มาถึงสถานที่แห่งนี้แล้วเห็นว่ามีทำเลเหมาะสม จึงช่วยกันแผ้วถางป่าลึก เข้าไปประมาณ 3 เส้น ได้พบวัดร้าง มีซากอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแลง ปางต่าง ๆ มากมาย และพระพุทธรูปสร้างด้วยแก้ว มีใบเสมารอบอุโบสถ พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสมฤทธิ์ไม่มีผ้าพาด ซึ่งเรียกว่าพระกรวยอยู่เป็นอันมาก มีเจดีย์รามัญ 2 องค์ ชำรุดหักพังอยู่ ชาวบ้านเห็นว่าคงไม่เหมาะกับการสร้างที่อยู่อาศัยเพราะมีวัดร้างอยู่ จึงไปแผ้วถางสถานที่แห่งใหม่ ห่างจากวัดประมาณ 5 เส้น ตั้งเป็นหมู่บ้านท่าใหญ่ตามชื่อเดิมของผู้อพยพ
จนกระทั่ง พ.ศ. 2340 เจ้าอาวาส ชื่อ พระอธิการต่าย ได้ปฏิสังขรณ์วัดให้มีสภาพดีขึ้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างด้วยแก้ว เป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญ ประชาชนจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดแก้ว ต่อมาพระพุทธรูปแก้วองค์นี้ เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงเห็นว่า ควรจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัย จึงฝังไว้ที่ใต้ฐานชุกชีของพระประธาน ปัจจุบันอยู่ภายนอกฐานชุกชีแล้ว วัดประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2375 ชื่อว่า "วัดแก้วเจริญ" และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2529 มีใบเสมาคู่ คงจะทำพิธีผูกพัทธสีมา 2 ครั้ง แต่ไม่ทราบว่ากระทำในสมัยใด[1]
ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปโบราณคู่มากับวัด ไม่มีพระนามปรากฏแกะสลักด้วยศิลาแดง พระพุทธรูปนอกอุโบสถเป็นพระพุทธรูปศิลาแลงทั้งสิ้น ปางต่าง ๆ ได้แก่ ปางป่าเลไลยก์ ปางไสยาสน์ และปางมารวิชัย อาคารเสนาสนะ ได้แก่ กุฏิสงฆ์ และหอฉันเป็นเรือนไทย และศาลาการเปรียญอาคารไม้สักเรือนไทยประยุกต์สองชั้นสร้างเชื่อมต่อกันจำนวนสามหลังอาคารหลังกลางมีขนาดใหญ่หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ภาพจิตรกรรมบนเพดานนี้ได้รับการตกแต่งทาสีใหม่ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 5–6)[2] วัดมีพิพิธภัณฑ์เรือชนิดต่าง ๆ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดแก้วเจริญ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดแก้วเจริญ". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.