วัดเชิงเลน (จังหวัดนนทบุรี)
วัดเชิงเลน | |
---|---|
ที่ตั้ง | เลขที่ 1 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระครูนนทคุณพิพัฒน์ (ประเสริฐ อมโร ป.ธ.4) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดเชิงเลน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในหมู่ที่ 8 บ้านหัวเตย ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ตั้งวัด 16 ไร่
สันนิษฐานว่าวัดเชิงเลนสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง พร้อมกับวัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ แต่วัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่าไม่มีภิกษุจำพรรษาจึงกลายเป็นวัดร้างไป[1] แต่เดิมนั้นบริเวณวัดเป็นที่สระหรือเชิงเลน จึงมีนามว่า "วัดเชิงเลน" ตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งวัด ต่อมาใน พ.ศ. 2450 นายเอี่ยมและนางพร อำแดง ได้บริจาคที่ดินและปรับปรุงวัด ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงใหม่จากกุฏิทรงโบราณเป็นทรงปั้นหยา วัดได้รับการอุปภัมภ์จากตระกูลนุ่มไทย[2] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 ในสมัยพระครูนนทคุณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้พัฒนาวัดโดยสร้างอาสนะต่าง ๆ รวมทั้งจัดการศึกษาและสาธารณูปโภค
อาคารเสนาสนะที่สำคัญได้แก่ อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น กุฏิสงฆ์ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้และเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาอเนกประสงค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2545 และศาลาบำเพ็ญกุศล สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก[3] วัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญได้แก่ ธรรมาสน์แบบโบราณ 1 หลัง และตู้พระไตรปิฎก 1 หลัง นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปอยู่ในศาลาการเปรียญอีก 1 องค์[4]
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ ต่อมากรมชลประทานได้ย้ายหน่วยงานบางส่วนมาจากเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มาตั้งที่อำเภอปากเกร็ดและอำเภอเมืองนนทบุรี จึงเวนคืนที่ดินตั้งแต่ที่ติดกับถนนติวานนท์ฝั่งตะวันตกจรดถึงแม่น้ำเจ้าพระยา วัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่าอยู่ในเขตพื้นที่เวนคืนที่ดินของกรมชลประทาน ประกอบด้วยไม่มีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษา กรมการศาสนาจึงประกาศยกเลิกวัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่า ภายหลังชาวบ้านพากันเรียกชื่อวัดท้ายอ่าวว่าวัดหน้าโบสถ์บ้าง วัดหลวงพ่อเสือบ้าง
- ↑ "วัดเชิงเลน". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "วัดเชิงเลน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ สมคิด ทองสิมา, บุญมา ศรีสุรเมธี (2526). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. p. 403.