วัดอ้อมน้อย
วัดอ้อมน้อย | |
---|---|
![]() | |
![]() | |
ชื่อสามัญ | วัดอ้อมน้อย, วัดใหม่ตาอ่วม, วัดใหม่ปลายคลอง |
ที่ตั้ง | เลขที่ 1 หมู่ที่ 4 ซอยเพชรเกษม 95/1 ถนนเพชรเกษม ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 74130 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระประธาน | หลวงพ่อเพ็ง |
เจ้าอาวาส | พระครูสาครเขมคุณ (มนูญ เขมวํโส) รามัญอุดม |
![]() |
วัดอ้อมน้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 บ้านแถว ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน อาณาเขตทั้งสี่ทิศ จดที่เอกชน มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 6 แปลง เนื้อที่ 68 ไร่
ประวัติ
[แก้]วัดอ้อมน้อยสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2410 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดใหม่ตาอ่วม หรือ วัดใหม่ปลายคลอง โดยอุบาสิกาฉิม เกิดเจริญ มีจิตศรัทธายกที่ดินให้ 16 ไร่ 3 งาน และอุบาสกอ่วม เกิดเจริญ เป็นผู้สร้างวัดให้โดยปลูกกุฏิขึ้น 2 ห้อง หอสวดมนต์ 1 หลัง 3 ห้อง ฝากรุด้วยกระแชงอ่อน ได้อาราธนาพระภิกษุผันมาเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาได้สร้างอุโบสถขึ้น 1 หลัง มุงด้วยจาก ฝากรุด้วยจากเช่นกัน
จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอธิการผันได้ข้อพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2425 ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตเสร็จสมบูรณ์ วัดมีความเจริญขึ้นตามลำดับ ได้เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาอุโบสถมาเป็นหลังคากระเบื้อง จนกระทั่งถึงเจ้าอาวาสวัดอ้อมน้อยรูปที่ 9 คือพระอาจารย์เล้ง จนฺทสุวณฺโณ ท่านได้สร้างสาธารณูปการให้เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น สร้างถนนก่ออิฐถือปูน เปลี่ยนแปลงกุฏิหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น ทั้งยังสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 8 หลัง สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้น 1 หลัง สร้างสุสานเก็บศพ สร้างศาลาการเปรียญด้วยไม้สักยาว 1 วา กว้าง 6 วา เป็นศาลาอเนกประสงค์ และอื่น ๆ
ในสมัยที่พระมหาสว่าง ญาณทีโป เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมกุฏิสงฆ์ที่ทรุดโทรมให้ดีขึ้น สร้างกุฏิอีก 2 หลัง สร้างหอฉัน สร้างหอระฆัง มีช่อฟ้าและใบระกา ซ่อมแซมอุโบสถด้วยการฉาบปูนทั้งข้างนอกและข้างใน สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล ขุดสระน้ำ ซ่อมแซมโรงเรียนประชาบาล และนางสาวอาบได้ถวายที่ดินเป็นธรณีสงฆ์ของวัด จำนวน 21 ไร่ 3 งาน[1]
อาคารเสนาสนะ
[แก้]อุโบสถกว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า หลวงพ่อเพ็ง[2] ขนาดหน้าตักกว้าง 44 นิ้ว สูง 69 นิ้ว จีวรลายดอกพิกุล สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์มีจำนวน 10 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 9 หลัง และตึก 1 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศลมีจำนวน 5 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หอพระไตรปิฎกมีจำนวน 1 หลัง และโรงเรียนพระปริยัติธรรมมีจำนวน 1 หลัง[3]
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- พระอธิการผัน
- พระอธิการฉาย
- พระอธิการเนตร
- พระอธิการจู
- พระอธิการแดง
- พระอธิการรอด
- พระครูสังฆรักษ์ขิต (ปลั่ง)
- พระอธิการหรั่ง
- พระอธิการเล้ง จนฺทสุวณฺโณ
- พระอธิการป่วน
- พระครูวิบูลย์สุตาธิการ (สว่าง เสือบำรุง)
- พระครูโสภณธรรมสาคร (ณรงค์ฤทธิ์ ฉิมมณี)
- พระครูสาครธรรมานุวัตร (ชลิต อมโร)
- พระครูสาครธรรมาภรณ์ (ชุบ อธิปญฺโญ) ชัยสิทธิ์
- พระครูสาครเขมคุณ (มนูญ เขมวํโส) รามัญอุดม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดอ้อมน้อย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-20. สืบค้นเมื่อ 2021-02-08.
- ↑ "วัดอ้อมน้อย". กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "วัดอ้อมน้อย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/4a/Commons-logo.svg/30px-Commons-logo.svg.png)