ข้ามไปเนื้อหา

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

พิกัด: 13°44′37″N 100°29′20″E / 13.743710°N 100.488966°E / 13.743710; 100.488966
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดอรุณ)
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอรุณ, วัดแจ้ง
ที่ตั้งเลขที่ 34 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก
ชนิดราชวรมหาวิหาร[1]
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธชัมพูนุช พระแจ้ง พระพุทธนฤมิตร
เจ้าอาวาสพระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท)
ความพิเศษวัดประจำรัชกาลที่ 2
จุดสนใจพระพุทธชัมพูนุช พระจุฬามณี
กิจกรรม9 วันหลังออกพรรษา
ประเพณีทอดผ้าพระกฐิน พระราชทาน
เว็บไซต์https://www.watarun1.com
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดอรุณราชวราราม
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000140
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดอรุณ หรือ วัดแจ้ง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ระหว่างคลองวัดแจ้งกับพระราชวังเดิมทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยามีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชื่อเดิมว่า วัดบางมะกอก หรือ วัดมะกอก ชื่อวัดอรุณหรือวัดแจ้งมาจากชื่อที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานนามให้หลังจากเสด็จยกทัพกลับมาเป็นเวลาเช้ารุ่งอรุณที่หน้าวัดแห่งนี้หลังจากกอบกู้กรุงศรีอยุธยาหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

ประวัติ

[แก้]

สมัยอยุธยา

[แก้]

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารมีชื่อเดิมว่า วัดบางมะกอก[2] สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[3]: 4  ปรากฏหลักฐานในแผนที่ของชาวฝรั่งเศส มีพระอุโบสถ และพระวิหารของเก่าอยู่บริเวณหน้าพระปรางค์เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา[4][3]: 4 

ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเข้าใจว่าคงจะเรียกชื่อวัดคล้อยตามชื่อตำบลที่ตั้งตามคติการเรียกชื่อวัดไทยสมัยโบราณ ซึ่งแต่เดิมวัดอรุณตั้งอยู่ ณ ตำบลบางมะกอก ตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายหลังเสียงหดลงคงเรียกสั้น ๆ ว่า วัดมะกอก[3]: 1  และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก[3]: 1 


วัดมะกอก ในแผนที่ฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1688 ของมอนซิเออร์ ช็อง โวลลอง เดส์ แวร์แกงส์ (Jean Vollant des Verquains) จัดทำโดยเชอวาเลีย เดอ ฟอบัง[5]
วัดมะกอก
วัดมะกอก
วัดมะกอก ในแผนที่ฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1688 ของมอนซิเออร์ ช็อง โวลลอง เดส์ แวร์แกงส์ (Jean Vollant des Verquains) จัดทำโดยเชอวาเลีย เดอ ฟอบัง[5]


สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคยทูลสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ไว้ว่า :–

หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ในแผนที่นั้นมีแต่วัดเลียบกับวัดแจ้ง แต่วัดโพธิ์หามีไม่ ตรงที่วัดพระเชตุพนนั้นยังเป็นชานป้อมใหญ่ ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างขึ้นเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ฯ มาแล้ว[6]

แผนที่ที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึง คือ แผนที่ที่จัดทำโดยเชอวาเลีย เดอ ฟอบัง (Claude de Forbin) กับ เดอะ ลามาร์ (de Lamare) ตีพิมพ์ในหนังสือ Histoire de la Révolution de Siam arrivée en l'année 1688 ของมอนซิเออร์ ช็อง โวลลอง เดส์ แวร์แกงส์ (Jean Vollant des Verquains) เมื่อ ค.ศ. 1691 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา[7][3]: 3 

สมัยกรุงธนบุรี

[แก้]

มูลเหตุการเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็นชื่อวัดแจ้งนั้นมีเรื่องเล่าว่า หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2310 แล้ว มีพระราชประสงค์โปรด ฯ ให้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่ ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาทัพโดยกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ครั้นมาถึงหน้าวัดมะกอกนอกก็เป็นเวลาอรุณรุ่งแจ้งพอดี พระองค์ทรงมีพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรด ฯ ให้เทียบเรือพระที่นั่ง ณ ท่าน้ำ วัดมะกอกนอก แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปสักการบูชาพระปรางค์พระมหาธาตุ สูงราว 8 วา (16 เมตร) ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าวัดสร้างแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงเสด็จประทับแรม ณ ศาลาการเปรียญใกล้ร่มโพธิ์ ต่อมาจึงโปรด ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมะกอกนอกแล้วโปรด ฯ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดแจ้ง[3]: 2 

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322[3]: 15  ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี พ.ศ. 2327[3]: 8 

สมัยรัตนโกสินทร์

[แก้]
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และกระบวนพยุหยาตราชลมารคโดยเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ รัชกาลที่ 9 ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2510

สมัยรัชกาลที่ 1 ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายพระนครใหม่ไปข้างฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีกว่า การย้ายพระนครในขณะนั้นโปรดให้รื้ออิฐกำแพงวัดแจ้งด้วย แล้วทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) จากวัดแจ้งไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ พ.ศ. 2327 (ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2326 ตามปฏิทินสุริยคติไทย) วัดแจ้งจึงกลายเป็นวัดอยู่นอกพระนคร โปรดให้เป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษาต่อไปได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระปลัดฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)[8]: 97  วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นพระโพธิวงศาจารย์ (ศรี) และทรงตั้งพระครูเมธังกร วัดระฆัง ฯ เป็นพระศรีสมโพธิ จำพรรษาวัดแจ้งพร้อมกัน[8]: 16 

ต่อมาจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมใต้วัดแจ้ง ทรงมอบหน้าที่ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อไปทั้งวัด สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ได้สำเร็จเพียงกุฏิสงฆ์ แต่พระอุโบสถ และพระวิหารยังไม่แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2352[8]: 17 

สมัยรัชกาลที่ 2 ครั้นสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเสด็จขึ้นผ่านพิภพสืบราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และพระวิหารวัดแจ้งสืบต่อไปจนสำเร็จ และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม[9][8]: 18  โปรดให้มีการมหรสพสมโภชฉลองวัดเมื่อปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ (พ.ศ. 2363) มีการแสดงละครหลวงโรงเล็กเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนบุศลพ[10] พพระองค์ยังทรงพระราชอุตสาหะปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ แล้วโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดแจ้ง (ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามพระประธานว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก) ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน โปรดให้สร้างศาลาการเปรียญเพิ่ม กุฏิสงฆ์ที่สร้างในรัชกาลที่ 1 ก็โปรดให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่กองปรับปรุงใหม่ และสร้างพระเมรุปูนขนาดใหญ่ไว้หลังวัด ส่วนซุ้ม (ปรก) ที่พระสงฆ์ไว้อยู่ปริวาสกรรมที่เหลือก็โปรดให้เป็นที่ประกอบพิธีแรกนาขวัญ[8]: 18 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชศรัทธาที่จะเสริมสร้างพระปรางค์วัดอรุณ ฯ ให้สูงขึ้น ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระปรางค์เดิมสูง 8 วายังคงอยู่ถึงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ยังไม่มีพระมหาธาตุ ควรจะเสริมสร้างให้ใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร จึงโปรดให้กำหนดขุดรากแต่กำหนดยังค้างอยู่จึงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2367[8]: 18–19 

วัดอรุณราชวราราม

สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม[9]

สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างปฏิสังขรณ์วัดแจ้งหลายอย่าง อาทิ ทำบุษบกยอดปรางค์ขึ้นที่ผนังหุ้มกลองตรงมุขพระอุโบสถด้านหน้าสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องต้น ทำผนังหุ้มกลองตรงมุขพระอุโบสถด้านหลังสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ 2 องค์ โปรดให้นำกระเบื้องลายดอกไม้ และใบไม้ที่สั่งมาจากเมืองจีนมาประดับเพิ่มเติมตลอดจนเสาหน้ามุข เสาลายเฉลียงรอบพระอุโบสถประดับเป็นลายดอกไม้ทั้งหมด แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามพระประธานฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 ว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เมื่อปฏิสังขรณ์พระอุโบสถแล้วเสร็จ จึงโปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธาน มีรูปตราครุฑตรงผ้าทิพย์เป็นเครื่องหมาย ส่วนพระวิหารนั้น โปรดให้ประดับด้วยกระเบื้องลายดอกไม้จีนก้านแย่งขบวนไทย[8]: 20–22 

เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชวรราม และโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปพระอรุณ (พระแจ้ง) ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทร์มาประดิษฐานบนฐานชุกชีหน้าพระพุทธชัมพูนุชด้วยทรงพระราชดำริว่ามีพระนามพ้องกับชื่อวัด[8]: 22–23 

เมื่อ พ.ศ. 2401 สมัยรัชกาลที่ 4 อ็องรี มูโอ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังสยามเขียนบันทึกบรรยายภาพวัดอรุณราชวราราม ตีพิมพ์ในหนังสือ Voyage dans les royaumes de Siam, de Cambodge, de Laos เมื่อปี ค.ศ. 1868 กรุงปารีสไว้ว่า :–

Nous devons ajouter que la plus belle pagode de Bangkok, celle de Wat-Chang, n’est cependant pas renfermée dans l’enceinte du palais, mais s’élève vis-à-vis, sur la rive droite du Ménam. Sa flèche, haute de deux cents pieds, est le premier indice de la capitale qu’aperçoit le voyageur qui remonte le fleuve en venant de la mer.[11]

(คำแปลโดย รศ.ดร.กรรณิกา จรรย์แสง): ขอเล่าเพิ่มเติ่มไว้ในที่นี่ด้วยว่า วัดแจ้ง อันเป็นวัดที่งดงามที่สุดของเมืองบางกอกไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตพระราชวัง แต่ตั้งตระหง่านอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ ยอดแหลมของเจดีย์ซึ่งสูงกว่า ๒๐๐ ฟุต เป็นเครื่องหมายแรกที่บ่งชี้ให้นักเดินทางซึ่งล่องทวนแม่น้ำมาจากปากน้ำแจ้งแก่ใจว่าตนมาถึงเมืองหลวงแล้ว[12]

— Henri MOUHOT (1826–61), Voyage dans les royaumes de Siam, de Cambodge, de Laos et autres parties centrales de l'Indo-Chine : relation extraite du journal et de la correspondance de l'auteur, 1868.
พระปรางค์วัดอรุณเมื่อ ค.ศ. 1858 ตามบันทึกอ็องรี มูโอ

สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดอรุณ ฯ เป็นการใหญ่เกือบทั้งวัด เริ่มตั้งแต่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระวิหารซึ่งกำลังทรุดโทรมลงในเวลานั้น โปรดให้สร้างพระบุษบกที่มุขหน้า และมุขหลังของพระอุโบสถที่ค้างไว้จนเสร็จบริบูรณ์เพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับขณะนั้นเป็นเวลาที่พระองค์ทรงดำรงสิริราชสมบัติเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมภาคาภิเษกแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธนฤมิตรมาประดิษฐาน ณ บุษบกที่มุขหน้าพระอุโบสถ วัดอรุณ ฯ[3]: 23 

วัดอรุณราชวราราม

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2438 เวลา 16.00 น. เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถโดยมีเหตุลูกไฟปลิวมาจากโรงถ่านซึ่งตั้งอยู่เหนือคลองวัดแจ้งในสมัยพระราชมุนี (ปุ่น ปุณฺณโก) เป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรีบเสด็จพระราชดำเนินไปอำนวยการดับเพลง แล้วทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยออกมาได้ทัน ความเสียจากเพลิงไหม้ครั้งนี้ปรากฏในรายงานการตรวจของสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ และพระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) ลงวันที่ 4 มกราคม รัตนโกสินทร์ศก 114 (พ.ศ.2439) แล้วทรงปฏิสังขรณ์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 12,800 บาท โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ วัดอรุณ ฯ จนแล้วเสร็จแล้วจึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทวีธาภิเศก[3]: 28 

สมัยรัชกาลที่ 6 สภาพวัดอรุณ ฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังบริบูรณ์อยู่มากจึงมีเพียงการปฏิสังขรณ์ปลีกย่อยที่ทางวัดกับผู้ร่วมมีจิตศรัทธาร่วมกันดำเนินการ เช่น การก่อเขื่อนหน้าวัดทางด้านที่จะขึ้นพระปรางค์ ซ่อมรูป และแขนยักษ์หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎ สร้างและปฏิสังขรณ์กุฏิต่าง ๆ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างถนนระหว่างกุฏิกับโรงเรียนทวีธาภิเศก ซ่อมศาลานายนกและนายเรือง เป็นต้น[8]: 52–53  สมัยรัชกาลที่ 8 มีการปฏิสังขรณ์วัดหลายอย่าง เช่น ทำถนนในวัดให้มั่นคง ทำเขื่อนหน้าวัดให้แข็งแรงเนื่องจากของเดิมชำรุดทรุดโทรมมาก[8]: 54 

สมัยรัชกาลที่ 9 มีการปฏิสังขรณ์วัดหลายประการตลอดรัชกาล เช่น ซ่อมถนน และซ่อมฐานพระศรีมหาโพธิ์หน้าวัด สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเผือกวิทยาประสาธน์ ซ่อมกุฏิ ศาลาราย ประตู กำแพงวัด รั้วเหล็กรอบพระปรางค์ ช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์พระระเบียง ปฏิสังขรณ์พระวิหาร โบสถ์น้อย และวิหารน้อย สร้างเขื่อนปากคลองหน้าวัด ก่อกำแพงด้านหลังวัด และหน้าพระอุโบสถ เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาพระอุโบสถ กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแผนการบูรณะวัดอรุณ ฯ และคณะอนุกรรมการสำรวจความชำรุดของพระปรางค์โดยมี ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน[8]: 54–63  เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอรุณ ฯ

วัดอรุณราชวราราม

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]

นับแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วัดอรุณราชวรารามมีเจ้าอาวาสสืบลำดับมา ดังนี้

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระโพธิวงศาจารย์ (ไม่ปรากฏนามเดิม)[8]: 97  พ.ศ. 2326 ?
2 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ไม่ปรากฏนามเดิม)[8]: 97  ? ?
3 พระพุทธโฆษาจารย์ (คง) พ.ศ. 2362 ?
4 สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ? พ.ศ. 2419
5 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ทอง) พ.ศ. 2419 พ.ศ. 2424
6 พระเทพโมลี (ฑิต อุทโย) พ.ศ. 2424 พ.ศ. 2431
7 พระราชมุนี (ปุ่น ปุณฺณโก) พ.ศ. 2438 พ.ศ. 2441
8 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธมฺมสิริ) พ.ศ. 2444 พ.ศ. 2456
9 พระธรรมเจดีย์ (อุ่ม ธมฺมธโร) พ.ศ. 2456 พ.ศ. 2467
10 พระพิมลธรรม (นาค สุมนนาโค) พ.ศ. 2468 พ.ศ. 2488
11 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2520
12 พระธรรมคุณาภรณ์ (เจียร ปภสฺสโร) พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2524
13 พระธรรมสิริชัย (บุญเลิศ โฆสโก) พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2551
14 พระธรรมมงคลเจดีย์ (เฉลียว ฐิตปุญฺโญ) พ.ศ. 2552 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
15 พระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท) 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ปัจจุบัน

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง, เล่ม 32, ตอน 0 ก, 3 ตุลาคม พ.ศ. 2458, หน้า 289
  2. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2524). "ประวัติวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)," ประวัติวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตอน ๑. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ. หน้า 18.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 กรมศิลปากร. (2521). ประวัติวัดอรุณราชวราราม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). คณะสงฆ์วัดอรุณราชวรารามจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาณมหาเถร) อดีดเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
  4. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2505). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 42.
  5. Suriyothin, Phanchalath et al. (2022). History of Wat Arun Ratchawararam. Arun-Sawas.com : The Research on Creating electronic media on cultural heritage to promote tourism at Wat Arun Ratchawararam. Bangkok: Faculty of Architecture Chulalongkorn University.
  6. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา และนริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2502). “ทูลสนองเรื่องงที่ยังค้าง,” สาส์นสมเด็จ ภาค ๔๘. พระนคร: กรมศิลปากร. หน้า 30.
  7. Vollant des Verquains. (1691). Histoire de la Révolution de Siam arrivée en l’année 1688. Lille: Jean Chrysostome Malte.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 กรมศิลปากร. (2511). ประวัติวัดอรุณราชวราราม พร้อมด้วยแผนผังภาพปูชนียวัตถุสถานและถาวรวัตถุ. คณะกรรมการพิจารณาแผนการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณาราชวรารามจัดพิมพ์ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงยกพระมหามงกุฎยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ในงานฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑. พระนคร: กรมศิลปากร.
  9. 9.0 9.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2467). เรื่องตำนานสถานที่และวัดถุต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง นับเปนประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕. (พิมพ์ครั้งที่ 2). พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 70.
  10. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2533). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. หน้า 155. ISBN 978-974-4-17035-4
  11. MOUHOT, H. and LANOYE, FERDINAND DE. (1868). Voyage dans les royaumes de Siam, de Cambodge, de Laos et autres parties centrales de l'Indo-Chine : relation extraite du journal et de la correspondance de l'auteur. Paris: Librai de L. Hachette & Cie. p. 24.
  12. มูโอต์, อ็องรี และกรรณิการ จรรย์แสง. (2558). บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดนจีนตอนกลางส่วนอื่น ๆ. (แปลโดยกรรณิการ จรรย์แสง). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 39. ISBN 978-974-02-1436-6

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′37″N 100°29′20″E / 13.743710°N 100.488966°E / 13.743710; 100.488966