ข้ามไปเนื้อหา

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ
ชื่อเต็มพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ
ชื่อสามัญพระพุทธนิมิต
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะอยุธยา
ความกว้าง4.5 เมตร
ความสูง6 เมตร
วัสดุหล่อสำริดลงรักปิดทอง
สถานที่ประดิษฐานพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ความสำคัญเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาโดยแท้ มีขนาดใหญ่และยังมีสภาพสมบูรณ์
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา
รายละเอียดพระพักตร์

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ นิยมเรียกโดยย่อว่า พระพุทธนิมิต เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ประดิษฐานอยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ มีพุทธลักษณะงดงาม และเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร นิยมเรียกโดยย่อว่า วัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดพระเมรุ ตั้งอยู่ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ขนาดและลักษณะพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี บ้างเรียกว่า ปางทรมานพระยามหาชมพู หล่อด้วยทองสำริดลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างประมาณ 4.5 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์[1] บ้างว่าเป็นพระพุทธรูปประจำปีกุนด้วย

ประวัติการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นพร้อมวัดหน้าพระเมรุในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ต่อมาสันนิษฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปูนปั้น ที่ประดิษฐานอยู่ภายในเมรุทิศ เมรุมุมของระเบียงคต วัดไชยวัฒนาราม ที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์[2] วัดนี้ยังได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ วัดหน้าพระเมรุรอดพ้นจากการถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุและพระประธานองค์นี้ และพระราชทานนามพระประธานว่า พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ [3] โดย พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 3 ในขณะนั้นได้ปฏิสังขรณ์โดยรักษาแบบอย่างของเดิมไว้เป็นส่วนมาก รวมถึงคงลักษณะที่วัดนี้ไม่ได้ทำหน้าต่างไว้ มีแต่ช่องลูกกรงช่องเล็ก ๆ ซึ่งเป็นแบบนิยมในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาตอนต้น สมัยนั้นพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งรวมถึงภาพภิกษุณี แต่ผู้ซ่อมแซมในสมัยต่อ ๆ มาได้ฉาบปูนขาวทับไว้เสียหมด[4]

พระพุทธนิมิตมีการกล่าวถึงในงานวรรณกรรมของ สุนทรภู่ โดยกล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (หลังสิ้นรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นสมัยที่สุนทรภู่ได้รับราชการอยู่) ว่า

...มาจดหน้าท่าวัดพระเมรุข้าม
ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน
บ้างขึ้นล่องร้องรำเล่นสำราญ
ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง
...บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ
ระนาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง
มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสามเพ็ง (สำเพ็ง)
เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู
...อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก
ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเหนื่อยหู
ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู
จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอน
...ได้ฟังเล่นต่างต่างที่ข้างวัด
ดึกสงัดเงียบหลับลงกับหมอน
ประมาณสามยามคล้ำในอัมพร
อ้ายโจรจรจู่จ้วงเข้าล้วงเรือ
...นาวาเอียงเสียงกุกลุกขึ้นร้อง
มันดำล่องน้ำไปช่างไวเหลือ
ไม่เห็นหน้าสานุศิษย์ที่ชิดเชื้อ
เหมือนเนื้อเบื้อบ้าเลอะดูเซอะซะ
...แต่หนูพัดจัดแจงจุดเทียนส่อง
ไม่เสียของขาวเหลืองเครื่องอัฏฐะ
ด้วยเดชะตบะบุญกับคุณพระ
ชัยชนะมารได้ดังใจปอง ฯ [5]

ในกลอน 6 บทของนิราศภูเขาทองนี้ สุนทรภู่เล่าว่ามาจอดเรือพักที่ท่าน้ำข้างวัดหน้าพระเมรุ เพื่อจะพักผ่อนนอนหลับ รอไปสักการะเจดีย์ภูเขาทองในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้นมีงานวัด พอพักหลับไปได้ กลางดึกมีเสียงกุกกักในเรือแสดงว่ามีคนเข้ามาค้นในเรือแล้วกระโดดน้ำหนีไป สุนทรภู่ที่ตกใจตื่นกับผู้ติดตามก็จุดเทียนขึ้นส่องและตรวจดูข้าวของ ก็พบว่าเครื่องอัฐบริขารที่ตั้งใจนำมานั้นยังอยู่ครบ ก็นึกถึงคุณงามความดีที่เคยบำเพ็ญมา ซึ่งก็คงหมายถึงที่ได้บวชเรียน และขอบคุณในพุทธคุณของพระพุทธรูปที่ช่วยให้ชนะผู้ร้ายได้ ดังที่กล่าวว่า '...ด้วยเดชะตบะบุญกับคุณพระ ชัยชนะมารได้ดังใจปอง...' คาดว่าคงพูดถึงพระพุทธนิมิต เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่แสดงถึงการเอาชนะมารขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ้างอิง

[แก้]
  1. [Ebook] ๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน กรมการศาสนา http://www.dra.go.th/th/cmsdetail-4-59-1-3213.html[ลิงก์เสีย]
  2. ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2560). ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน พิมพ์ครั้งที่ 4. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ หน้า 148-149.
  3. พระพุทธปฏิมากรองค์สำคัญของประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547
  4. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของ นายตรี อมาตยกุล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปณกิจศพนางริ้ว ประกาศสุขการ และนายสุธี ธันวาคม พ.ศ. 2509 หน้า 57 ถึง 60 และหน้า 60 ถึง 61
  5. ชีวิตและงานของสุนทรภู่ กรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ (ประวัติ พร้อมนิราศและสุภาษิต) พิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2518