ข้ามไปเนื้อหา

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

พิกัด: 13°45′16″N 100°29′30″E / 13.754382°N 100.491546°E / 13.754382; 100.491546
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมหาธาตุ
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต)
ความพิเศษมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งที่ 2 ของไทย
เว็บไซต์http://www.watmahathat.com/
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000062
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อ วัดสลัก สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี และทรงสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ประทับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล นั้น วัดสลักเป็นวัดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักเมื่อ พ.ศ. 2326 พร้อมกับการก่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสลักเป็นวัดนิพพานารามเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่ทำสังคายนาในปี พ.ศ. 2331 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ” และใน พ.ศ. 2346 พระราชทานนามใหม่ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยาที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช

วัดมหาธาตุเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่พระราชทานเพลิงพระบุพโพเจ้านายซึ่งดำรงพระเกียรติยศสูง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ของวัดเป็นที่สร้างเมรุพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศ์ชั้นสูง ในปลาย พ.ศ. 2432 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบาลีวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุ เรียกว่ามหาธาตุวิทยาลัย และย้ายการบอกพระปริยัติธรรมมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมา ใน พ.ศ. 2437 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุ เรียกว่า สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย เพื่อใช้ในงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากนั้น จะทรงอุทิศถวายแก่มหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง ซึ่งจะได้พระราชทานนามว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” แต่อาคารหลังนี้มาสร้างเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดที่วัดบวรสถานสุทธาวาส ใน พ.ศ. 2439 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการบูรณะวัดมหาธาตุและพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”

ศิลปกรรม

[แก้]

พระอุโบสถ

[แก้]
พระอุโบสถ
ภายในพระอุโบสถ

พระอุโบสถตั้งอยู่ในระเบียงคด เป็นหนึ่งใน 3 อาคารหลักในเขตพุทธาวาส โครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงโรงขนาดใหญ่ ผนังภายนอกก่อทึบเเละเจาะช่องหน้าต่างรอบอาคาร มีประตูเข้าทางด้านข้าง 4 ทาง ไม่มีระเบียง ภายในมีเสาร่วมในล้อมรอบ 4 ด้าน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอาคารที่สร้างโดยวังหน้า การสร้างเสาร่วมในล้อมรอบ 4 ด้าน ทำให้พื้นที่ภายในเหมือนถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนชั้นในเป็นที่ประดิษฐานพระประธษนเเละทำกิจกรรมหลัก เช่น กาทำวัตร, การทำสังฆกรรม ส่วนชั้นนอกเป็นแนวทางเดินยาวเหมาะกับการเดินจงกรม ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นทรงบรรพเถลง ใบสีมาพของพระอุโบสถเป็นลักษณะพิเศษของศิปกรรมสกุลช่างวังหน้า คือ มีใบสีมา 7 ใบ ใบสีมาทั้งหมดติดตั้งบนผนัง โดยใบเสมาประจำมุมจะอยู่ภายนอกอาคารเป็นใบสีมารูปครุฑยุดนาค เเละใบเสมาประจำด้านจะอยู่ภายในอาคารเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ลักษณะใบสีมาฝังผนังนี้ยังพบอีกในวัดชนะสงคราม ซึ่งเป็นอีกวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงบูรณะอีกวัด เเละรูปแบบนี้ยังส่งอิทธิพลต่อวัดอื่นๆ ในเวลาต่อมา เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดไพชยนต์พลเสพ ลักษณะโดยรวมของพระอุโบสถคาดว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เเม้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากเรื่องเล่าในพระบรมราชาธิบายในรัชกาล ที่ 4 ว่า สมเด็จพระสังฆราชเเละพระราชาคณะได้ขอให้รัชกาลที่ 3 ทรงบูรณณะวัดมหาธาตุหลายครั้งให้ใหญ่โตเเบบวัดพระเชตุพนฯ เนื่องจากวัดนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช มีพระสงฆ์ทุกสารทิศเดินทางไปมา พระองค์รับสั่งว่า การปฏิสังขรณ์เป็นสิ่งที่ควรทำ เเต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรตามพระราชหฤทัยได้ เพราะสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้เเช่งสาบานต่างๆ ไว้ จะเยื้องยักของท่านก็ไม่ได้ ถ้าท่านเจ้าคุณทั้งปวงจะให้ปฏิสังขรณ์ ของให้พระองค์เเก่ชราเเล้วจึงตกกระไดพลอยโจนทำไปถวาย[1] ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงพระชนมายุครบ 60 พรรษาจึงมีรับสั่งให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้เเละวัดชนะสงคราม เเละวัดอื่นๆ ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้าง โดยการบูรณะพระอุโบสถนี้คงมีเพียงการเสริมผนังเเละเสาพระอุโบสถให้สูงเพิ่มขึ้น 1 ศอก เเละการทำเครื่องหลังคาใหม่[2]

หน้าบันพระอุโบสถ

[แก้]
หน้าบันพระอุโบสถ

เครื่องหลังคาของพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณี อยู่ในผังสามเหลี่ยมผืนผ้า มีเครื่องลำยองประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่มีเอกลักษณ์คือการทำตัวรวยระกาที่พาดเป็นแนวตรงยาวตั้งเเต่ช่อฟ้าถึงหางหงส์ไม่มีหยักโค้งที่เรียกว่า นาคสะดุ้ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบในอาคารที่สร้างขึ้นโดยสกุลช่างวังหน้า เช่น พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระอุโบสถวัดชนะสงคราม ก็มีลักษณะเช่นนี้ พื้นที่หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกตรงกลางเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑล้อมด้วยเทพพนมเเละเทวดาถือพระบรรค์ โดยหน้าบันน่าจะได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีลักษณะที่บ่งชี้คือ การทำลวดลายพื้นหลังเป็นดอกพุดตานเครือเถาก้านเเย่งเต็มพื้นที่ เเละมีการทำกรอบสามเหลี่ยมภายในหน้าบันอีกชั้นล้อไปกับกรอบภายนอก ซึ่งคล้องจองกับรูปแบบของหน้าบันอาคารที่สร้างเเละบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 อื่นๆ เช่น หน้าบันพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนฯ, หน้าบันพระอุโบสถเเละพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ[3]

พระศรีสรรเพชญ์

[แก้]
พระศรีสรรเพชญ์

พระศรีสรรเพชญ์เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน หน้าตักกว้าง 5.16 เมตร สูง 6.96 เมตร สันนิษฐานว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้พระยาเทวารังสรรค์ ผู้เป็นช่างวังหน้าปั้นขึ้นเมื่อคราวพระองค์บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ นามของพระพุทธรูปจึงเรียกตามชื่อเดิมของวัด คือ พระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2387 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้บูรณะวัดนี้ทั้งพระอารามโดยให้ก่อความสูงของพระอุโบสถสูงขึ้น 1 ศอก เเละก่อเสริมพระศรีสรรเพชญ์ให้ใหญ่ขึ้นตามพระอุโบสถ โดยพระยาชำนิรจนาเป็นผู้ปั้น ดังนั้นลักษณะในปัจจุบันจึงน่ามีลักษณะที่เป็นงานช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ปรากฏบางส่วน ลักษณะของพระศรีสรรเพชญ์มีพระพักตร์อบู่ในกรอบสี่เหลี่ยม พระพักตร์ดูเคร่งขรึม พระวรกายหนาใหญ่ เเสดงยังให้เห็นว่ายังมีต้นเค้าของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาปะปนอยู่บ้าง ลักษณะอื่นๆ เช่น การทำนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน การทำสังฆาฏิแผ่นใหญ่อยู่กึ่งกลางพระวรกาย เป็นรูปแบบทั่วไปของการสร้างพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น[4]

พระวิหาร

[แก้]
พระวิหาร

พระวิหารตั้งอยู่ในระเบียงคด เป็นหนึ่งใน 3 อาคารหลักในเขตพุทธาวาส โครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงโรงขนาดใหญ่มีขนาดใหล้เคียงพระอุโบสถ มีมุขโถงด้านหน้า-หลัง การสร้างมุขโถงหน้า-หลังนี้ น่าจะมีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อให้มีัขนาดความยาวเท่าพระอุโบสถ ภายในมีเสาร่วมใน 2 ด้าน ใช้เสาทรงสี่เหลี่ยมทึบตันขนาดใหญ่รับน้ำหนัก เครื่องหลังคาคล้ายพระอุโบสถคือ มีหลังคาชั้นเดียวไม่มีการซ้อนชั้น กระเบื้องหลังคาใช้สีส้มทั้งหลังคา เครื่องลำยองทำตัวรวยระกาพาดเป็นแนวตรงยาวตั้งเเต่ช่อฟ้าถึงหางหงส์ไม่มีหยักโค้งที่เรียกว่า นาคสะดุ้ง คันทวยมีลักษณะพิเศษคือมีลายเถาวัลย์พัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้า พระวิหารได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากการสร้างมุขโถงด้านหน้า-หลัง เเล้ว คงมีการเปลี่ยนเครื่องหลังคาใหม่ด้วย โดยมีการบูรณะใหญ่ครั้งล่าสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธานที่มีลักษณะคล้ายพระศรีสรรเพชญ์พระประธานในพระอุโบสถ รวมถึงเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด มีพระพุทธรูปโบราณ ตู้พระธรรม พระไตรปิฏกใบลาน พระเเสงดาบราวเทียน เเละของโบราณอีกมากมาย[5]

หน้าบันพระวิหาร

[แก้]
หน้าบันพระวิหาร

เครื่องหลังคาของพระวิหารมีลักษณะเหมือนกับเครื่องหลังคาของพระอุโบสถทุกประการ คือ มีหลังคาชั้นเดียวไม่มีการซ้อนชั้น กระเบื้องหลังคาใช้สีส้มทั้งหลังคา เครื่องลำยองทำตัวรวยระกาพาดเป็นแนวตรงยาวตั้งเเต่ช่อฟ้าถึงหางหงส์ไม่มีนาคสะดุ้ง ต่างกันเพียงลวดลายของหน้าบัน หน้าบันพระวิหารเป็นไม้เเกะสลักปิดทองประดับกระจก พื้นหลังสลักเป็นลายดอกพุดตานคล้ายพระอุโบสถ แต่มีส่วนที่ต่างออกไป คือ ตรงกลางเเกะสลักเป็นตราพระราชลัญจกรของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นรูปจุลมงกุฏ (พระเกี้ยวยอด) มีรัศมีเป็นช่อชัยพฤกษ์ มีอักษรพระนามาภิไธยย่อ ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. อยู่ในเเพรเเถบด้านล่าง แต่หน้าบันพระวิหารไม่ปรากฏการทำกรอบสามเหลี่ยมในหน้าบันเหมือนพระอุโบสถ ซึ่งน่าจะได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2439[6]

พระมณฑป

[แก้]
พระมณฑป

พระมณฑปตั้งอยู่ในระเบียงคด เป็นหนึ่งใน 3 อาคารหลักในเขตพุทธาวาส โครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงโรงขนาดสูงใหญ่อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่เดิมหลังคาพระมณฑปเป็นยอดเเบบทรงปราสาทสันนิษฐานว่าคล้ายแบบมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทตั้งใจจะสร้างในพระราชวังบวรสถานมงคล แต่รัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะหลังคาทรงปราสาทเป็นเครื่องยอดสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านััน จึงได้ย้ายเครื่องหลังคาปราสาทมาสร้างที่พระมณฑปแห่งนี้ ต่อมาใน พ.ศ. 2344 ส่วนหลังคาได้เกิดไฟไหม้เนื่องจากดอกไม้ไฟที่สามเณรจุดเล่นเเล้วไปตกบนหลังคา ทำให้เครื่องหลังคาไฟไหม้เสียหายทั้งหมด จึงโปรดให้สร้างหลังคาใหม่เป็นทรงจตุรมุข เเละได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเปลี่ยนหลังคาใหม่เป็นทรงโรงดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ซุ้มประตูพระมณฑปเป็นทรงปราสาท เเละซุ้มหน้าต่างเป็นทรงบรรพเเถลง คันทวยเป็นแบบมีเครือเถาวัลย์พันเเบบเดียวกับพระอุโบสถเเละพระวิหาร[7]

หน้าบันพระมณฑป

[แก้]
หน้าบันพระมณฑป

เครื่องหลังคาพระมณฑป มีลักษณะเเบบเดียวกับพระอุโบสถเเละพระวิหาร คือ มีหลังคาชั้นเดียวไม่มีการซ้อนชั้น กระเบื้องหลังคาใช้สีส้มทั้งหลังคา เครื่องลำยองทำตัวรวยระกาพาดเป็นแนวตรงยาวตั้งเเต่ช่อฟ้าถึงหางหงส์ไม่มีนาคสะดุ้ง โดยหน้าบันของพระมณฑปเป็นไม้เเกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางสลักเป็นรูปพระลักษมณ์ทรงหนุมาน ล้อมรอบด้าลพลกระบี่เหาะซึ่งเป็นพลทหารจากเรื่องรามเกียรติ์ พื้นหลังเเกะาลักเป็นรูปลายเครือเถาเคล้าก้าน โดยรูปพระลักษมณ์ทรงหนุมานนี้เป็นพระราชลัญจกรณ์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งทั้งเครื่องหลังคานี้น่าจะได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3[8]

พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ

[แก้]
พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ

พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ เป็นเจดีย์ขนาดเล็กประดิษฐานในพระมณฑป ตั้งอยู่บนบุษบกไม้ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นที่มาของชื่อวัด เเละเป็นที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกด้วยบนฐานของพระเจดีย์ ลักษณะโดยรวมของพระเจดีย์ คือ เป็นเจดีย์ทรงเครื่อง อยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง มีชุดฐานสิงห์ 2 ชั้น คั่นด้วยชั้นเชิงบาตร 2 ฐาน โดยฐานสิงห์ชั้นล่างประดับสิงห์ด้านละ 2 ตัว ชั้นเชิงบาตรประดับครุฑยุดนาคด้านละ 2 ตัว ต่างจากฐานของเจดีย์ทรงเครื่องทั่วไปซึ่งอาจจะมาจากการต้องการยกฐานะของเจดีย์นี้ให้สูงกว่าเจอีย์ทั่วไป ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังเเละบัลลังก์เป็นทรงเหลี่ยมอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง ไม่มีบัวรองรับองค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว ปลียอด ตามลำดับ รอบพระเจดีย์มีพระพุทธรูปยืนเเละนั่งสลับกันรูปแบบศิลปะสุโขทัย ซึ่งน่าจะเป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย[9]

ลำดับอธิบดีสงฆ์

[แก้]
ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พ.ศ. 2336 พ.ศ. 2359
2 สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พ.ศ. 2359 พ.ศ. 2362
3 สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) พ.ศ. 2362 พ.ศ. 2363
4 สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พ.ศ. 2363 พ.ศ. 2365
5 สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พ.ศ. 2365 พ.ศ. 2385
6 พระญาณไตรโลก (พุก) พ.ศ. 2386 พ.ศ. 2393
7 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) พ.ศ. 2394 พ.ศ. 2400
8 พระราชกวี (คง) พ.ศ. 2400 ?
9 พระศาสนานุรักษ์ (รัก) ? ?
10 พระญาณสมโพธิ (อิ่ม) ? ?
11 พระคุณาจริยาวัตร (คำ) ? ?
12 พระญาณสมโพธิ (คำ) ? พ.ศ. 2432
13 สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) พ.ศ. 2432 พ.ศ. 2466
14 สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) พ.ศ. 2466 พ.ศ. 2486
15 พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) พ.ศ. 2486 พ.ศ. 2490
16 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) พ.ศ. 2490 พ.ศ. 2503 (สมัยที่ 1)
17 พระธรรมปัญญาบดี (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) พ.ศ. 2503 พ.ศ. 2523
18 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) พ.ศ. 2523 พ.ศ. 2532 (สมัยที่ 2)
19 พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ) พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2547
20 พระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต) พ.ศ. 2547 ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 23
  2. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 506-508
  3. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 508-509
  4. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 510-511
  5. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 511-512
  6. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 512
  7. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 514-515
  8. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 516
  9. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 516-518

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′16″N 100°29′30″E / 13.754382°N 100.491546°E / 13.754382; 100.491546