ข้ามไปเนื้อหา

วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร
วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ซอยพระราชวีริยาภรณ์ 8 ถนนพระยาราชวิริยาภรณ์ ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
ประเภทพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระวชิรธาดา (ไพรัช ฐิตสิริ)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 5 ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีสถาปัตยกรรมแบบวัดพุทธจีน

ประวัติ

[แก้]

พงศาวดารระบุว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จ โดยได้มีการสร้างป้อมเพชรหึงษ์และขุดคลองลัดขึ้นด้วย กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงสร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งในคลองลัด พระราชทานนามว่า "วัดไพชยนต์พลเสพย์" แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่า เมื่อแรกสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดนี้น่าจะเรียกว่า วัดกรมศักดิ หรือ วัดปากลัด และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คงเรียกว่า วัดวังหน้า จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดไพชยนต์พลเสพย์"[1]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ

[แก้]

พระอุโบสถลักษณะก่ออิฐถือปูน ทรงจีน กว้าง 8 วา 3 ศอก ยาว 12 วา ด้านในมีเสารายใหญ่ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา แต่มีใบเสมาหินทรายสีเขียว หัวบันไดประดับหินสิงโตจีน ภายในผสมผสานศิลปะไทย สลักลายรดน้ำ ลงรักปิดทองเป็นรูปป่าหิมพานต์และสิงสาราสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่บานหน้าต่าง[2] ยังมีวิหารทิศอีก 4 หลัง ลักษณะทรงจีนเช่นกัน ภายในวิหารมีกลุ่มประติมากรรมรูปเทวดาซึ่งมีสีกายต่าง ๆ รวมถึงพระพรหมซึ่งมีสี่หน้า เชื่อว่าเป็นเทวดาประดับพระเมรุวังหน้า รัชกาลที่ 3[3]

พระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษ ประดิษฐานบนบุษบกทำด้วยไม้สัก บุษบกยอดปรางค์นี้ กรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แต่เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต มีผู้ร้ายขึ้นลักเครื่องบูชาในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จึงได้มีการเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนบุษบกยอดปรางค์ยังอยู่ในพระที่นั่นพุทไธสวรรย์ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ไม่ได้เชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้วังหน้า บุษบกนั้นตั้งว่างอยู่เปล่า จนในสมัยรัชกาลที่ 3 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ จึงโปรดฯ ให้เอาบุษบกยอดปรางค์มาประดิษฐานพระประธานที่ในพระอุโบสถวัดไพชยนต์พลเสพย์

พระพุทธรูปหล่อ ปางหลวงพ่อเนตร ที่ซุ้มมุขหน้าพระวิหาร 1 องค์ สูง 1 วา 9 นิ้ว ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด คูหาตามฝาผนังวิหารชั้นในมีพระพุทธรูปนั่งอยู่รอบรวม 44 องค์ หน้าตักกว้างประมาณ 16 นิ้ว ในซุ้มมุขหลังพระวิหารมีรอยพระพุทธบาทจำลอง

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร". สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดสมุทรปราการ.
  2. "วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
  3. "เปิดภาพชุดพร้อมข้อมูลหุ่นปริศนาที่วัดไพชยนต์ฯ นักปวศ.เชื่อเป็นเทวดาประดับพระเมรุ วังหน้า ร.3". มติชน. 24 พฤศจิกายน 2559.