ข้ามไปเนื้อหา

วัดบางแพรก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางแพรก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางแพรก, วัดละครทำ
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 11110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูเกษมธีร์คุณ (สรธร ญาณเมธี)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดบางแพรก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 11 บ้านบางแพรกน้อย ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี วัดตั้งอยู่ภายในชุมชนชาวสวนริมคลองบางแพรกซึ่งเป็นคลองแยกจากคลองอ้อม มีถนนเข้าวัดแยกมาจากถนนรัตนาธิเบศร์

ประวัติ

[แก้]

วัดบางแพรกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2240 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ วัดละครทำ ชื่อนี้ว่ากันว่ามาจากคณะบุคคลที่มาสร้างวัดแห่งนี้เป็นชาวคณะละครรำ[1] แต่เนื่องจากตั้งอยู่ริมคลองบางแพรกจึงเรียกชื่อวัดตามชื่อคลอง ตามหนังสือ ทำเนียบคณะสงฆ์ ของกระทรวงธรรมการ พิมพ์เมื่อ ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2448) ได้มีชื่อวัดบางแพรกแล้ว วัดได้กลายเป็นวัดร้างในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ อีกหลายวัดในบริเวณคลองอ้อมนนท์ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีชาวบ้านมาอยู่ที่ชุมชนบางแพรก และมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาที่วัดบางแพรกและได้บูรณะจนเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ประจำเรื่อยมา

วัดบางแพรกได้มีการบูรณะเสนาสนะต่อเนื่อง จน พ.ศ. 2364 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปัจจุบันพระครูเกษมธีรคุณ (สรธร ญาณเมธี) หรือพระอาจารย์มหาธีร์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

สิ่งก่อสร้างสมัยอยุธยาทรุดโทรมหมดและมาสร้างใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ อุโบสถมีขนาด 5 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น ด้านหน้ามีมุขคลุมชานชาลา มีประตูด้านหน้า 2 ประตู ด้านหลังก่ออิฐทึบแบบโบสถ์มหาอุด ประตูหน้าต่างไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง ฐานเอวขันอุโบสถเป็นฐานปัทม์ อุโบสถมีเครื่องลำยอง หน้าบันเป็นปูนปั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิล้อมด้วยลายกระหนก หน้าบันคอสองเป็นรูปเทพนมล้อมด้วยกระหนกก้านขด รวงผึ้งและสาหร่ายเป็นปูนปั้น ปลายสาหร่ายเป็นรูปพญานาค มุขด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปยืน 2 องค์ ภายนอกอุโบสถมีกำแพงแก้วแบบกำแพงบัวหลังเจียด

อุโบสถหลังใหม่มีขนาด 5 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น มีหลังคาซ้อนกัน 3 ตับ มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง ฐานเอวขันที่รองรับอาคารอุโบสถเป็นแบบฐานปัทม์มีความสูงที่ฐานเอวขันนี้เป็นชั้นล่างของอุโบสถด้วย ผนังด้านนอกทำเสาอิงอยู่ระหว่างช่องหน้าต่างมุข ทั้งสองด้านมีเสาเหลี่ยมย่อมุมรับมุขด้านละ 4 ต้น บัวหัวเสาเป็นบัวกลีบยาว โคนกลีบ ประดับด้วยกระจังปฏิญาณ คอเสาเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ประดับด้วยกระจังใบเทศ บ่าเสาเป็นบัวคอเสื้อประดับด้วยกระจังปฏิญาณคว่ำและรักร้อยรอบบ่าเสา ที่ชายคามีคันทวยรับชายคา

ศาลาการเปรียญเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น มีพาไลรอบทั้ง 4 ด้าน หมู่กุฏิและหอสวดมนต์อยู่ทางด้านทิศใต้ของศาลาการเปรียญ ด้านหน้าของหมู่กุฏิริมคลองบางแพรกมีศาลาท่าน้ำของเก่าที่เป็นศาลาไม้ทั้งหลัง[2]

วัตถุมงคล

[แก้]

ในสมัยพระอาจารย์มหาธีร์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ท่านได้สร้างวัตถุมงคลต่าง ๆ เช่น พระขุนแผนพรายชมจันทร์ พระขุนแผนพรายเทวะประสิทธิ์และพระขุนแผนพรายเสน่ห์จันทร์ รวมถึง ไอ้ไข่โคตรรวย ที่มีผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาจีนนำไปเขียนเป็นข่าว[3]

รายนามเจ้าอาวาส

[แก้]
  • พระอธิการอิ่ม
  • พระอธิการส่วน
  • พระอธิการโต๊ะ
  • พระอธิการแจ้ง
  • พระอธิการศรี
  • พระอธิการโต
  • พระครูอุดมนนทคุณ
  • พระครูเกษมธีรคุณ (สรธร ญาณเมธี)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พระขุนแผนพรายเสน่ห์จันทร์ รำลึกศรัทธา 300 ปี "วัดละครทำ"". ไทยรัฐฉบับพิมพ์. 16 กันยายน 2561.
  2. พิศาล บุญผูก (2551). วัดในอำเภอบางบัวทอง (PDF). มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. p. 69–77. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-08. สืบค้นเมื่อ 2021-02-05.
  3. "จับตา "ไอ้ไข่โคตรรวย วัดแพรก เมืองนนท์" ทำไมสื่อต่างชาติให้ความสนใจในกระแส ขอได้-ไหว้รวย". คมชัดลึก. 22 สิงหาคม 2563.