ข้ามไปเนื้อหา

วัดตระกวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดตระกวน
เจดีย์ระฆังทรงกลม และอุโบสถของวัดตระกวน
วัดตระกวนตั้งอยู่ในจังหวัดสุโขทัย
วัดตระกวน
ที่ตั้งของวัดตระกวนในจังหวัดสุโขทัย
วัดตระกวนตั้งอยู่ในประเทศไทย
วัดตระกวน
วัดตระกวน (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ประเภทวัด
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ความเป็นมา
สร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20
ละทิ้งไม่ปรากฏ
สมัยสุโขทัย
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพซากปรักหักพัง
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 06.00-21.00 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัย
เกณฑ์วัฒนธรรม: (i), (iii)
ขึ้นเมื่อ1991
เป็นส่วนหนึ่งของเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
เลขอ้างอิง574
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดตระกวน
ขึ้นเมื่อ8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เลขอ้างอิง0004057

วัดตระกวน เป็นโบราณสถานภายในกำแพงของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยทางทิศตะวันตกของวัดติดกับตระพังตระกวน

ลักษณะทางกายภาพ

[แก้]
เจดีย์ระฆังทรงกลม
ของวัดตระกวน
ด้านหน้า
ด้านหลัง

โบราณสถานปรากฏภายในวัดมีเจดีย์ระฆังทรงกลม ก่ออิฐ และมีอุโบสถประกอบที่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำรวจวัดตระกวนเมื่อ พ.ศ. 2450 พบวัดที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดตะกอน หรือวัดตาควน ทรงสันนิษฐานว่าชื่อวัดที่ถูกน่าจะเป็น วัดตระกวน ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่า ผักบุ้ง ในภาษาไทย[1]: 36–37 

ขณะทรงสำรวจบริเวณวัดตระกวนมีเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยว มีโบสถ์ทางทิศตะวันออกหลังหนึ่ง นอกจากนั้นยังพบหัวมังกร (มกร) ตกอยู่ หน้าตาเป็นมังกรไทย ทำด้วยดินเผาเคลือบสีขาว (สังคโลก) มีลายดำเหมือนกับชามสวรรคโลก ทรงเข้าใจว่าน่าจะใช้ครอบปลายราวบันไดเช่นเดียวกับบันไดนาค หรืออาจเป็นเครื่องประดับอื่น เช่น ช่อฟ้า และใบระกา[1] ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้พบหลักฐานจากการขุดวัดทั่วไปในสมัยสุโขทัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้เป็นเครื่องประดับหลังคาตามที่พระองค์ทรงสันนิษฐานไว้[2]: 32 

ชื่อวัดตระกวนปรากฏในจารึกวัดสรศักดิ์ ที่เล่าเรื่องเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 กล่าวถึงมหาเถรธรรมไตรโลก เป็นน้าพระยาของพ่อเจ้าอยู่หัว พ่อเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมารับมหาเถรไปจอดไว้ในวัดตระกวน ก่อนที่จะทำการฉลองวัดสรศักดิ์ที่สร้างใหม่[3] แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นวัดที่อยู่ใกล้กับวัดสรศักดิ์ ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าวัดนี้มีอยู่ก่อนวัดสรศักดิ์[2]: 32 

ข้อมูลจากจารึกวัดสรศักดิ์ทำให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า เจดีย์ระฆังทรงกลมที่ปรากฏในวัดตระกวน น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่ากลางพุทธศตวรรษที่ 20

โบราณวัตถุ

[แก้]

วัดตระกวนมีการค้นพบพระพุทธรูปสุโขทัยแบบหนึ่งที่ลักษณะทางศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะเชียงแสนกับศิลปะสุโขทัย เรียกว่า พระพุทธรูปแบบหมวดวัดตระกวน หรือหมวดเบ็ดเตล็ด[2]: 114 [4]: 45 [5]: 18 

ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธรูปหมวดนี้คือ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร มีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ในศิลปะล้านนา อันได้รับอิทธิพลมาจากวิวัฒนาการของพระพุทธรูปปาละ ผ่านมาทางพุกามของพม่า และเข้ามาในศิลปะหริภุญชัยและล้านนา ลักษณะที่สำคัญคือขัดสมาธิเพชร เห็นฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้าง พระพักตร์กลมอมยิ้ม ขทวดพระเกศาใหญ่ รัศมีเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระถัน[2]: 114 

อายุของพระพุทธรูปหมวดวัดตระกวนมีผู้สันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของศิลปะสุโขทัย เนื่องจากมีอิทธิพลจากศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก[5]: 18 [4]: 45 

ในขณะที่คงเดช ประพัฒน์ทอง และศักดิ์ชัย สายสิงห์ ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางศิลปกรรมและประวัติศาสตร์แล้วเสนอว่า พระพุทธรูปหมวดวัดตระกวนนี้ มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 20 หรืออาจเป็นช่วงพุทธศตวรรษที่ 21[2]: 114–117 

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 สำรวจ. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2520.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม. 2547.
  3. ฉ่ำ ทองคำวรรณ. ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต. 2508.
  4. 4.0 4.1 สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปสุโขทัย. 2521.
  5. 5.0 5.1 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. 2546.