ข้ามไปเนื้อหา

วัดคันลัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดคันลัด
แผนที่
ชื่อสามัญวัดคันลัด
ที่ตั้งเลขที่ 4 หมู่ที่ 9 ถนนเพชรหึงษ์ ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อมัณฑะเลย์
เจ้าอาวาสพระครูสุภัทรกิจจาทร (พระอาจารย์หลาย)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดคันลัด เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ในหมู่ที่ 9 บ้านหัวรอ ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติ

[แก้]

วัดสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2349 (สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เมื่อครั้งชาวรามัญได้อพยพจากเมืองประทุมธานีและนนทบุรี พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม (ทอมา คชเสนี) ผู้แป็นเจ้าเมืองได้นำชาวรามัญมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ โดยมีผู้มาอยู่ที่ตำบลทรงคนอง และเลือกวัดคันลัดที่มีอยู่เดิมแล้ว เป็นวัดประจำหมู่บ้าน แล้วก็นิมนต์เอาพระชาวรามัญมาปกครองวัด

เดิมวัดเป็นที่ฝังช้างหลวงเรียกว่า สุสานช้างหลวง มีหลักฐานว่าในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อพระยาเศวตคชลักษณ์ล้ม และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระยามงคลหัสดินทร์ล้ม ก็โปรดเกล้าฯ ให้นำศพพระยาช้างไปฝังที่นี่ มีการขุดพบกระดูกช้างเป็นจำนวนมากในวัดแห่งนี้[1]

วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2513 ได้ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518

อาคารเสนาสนะ

[แก้]
พระอุโบสถเเละเจดีย์
ศาลาการเปรียญวัดคันลัดหลังปัจจุบัน

พระอุโบสถหลังเดิมก่ออิฐถือปูน หน้าบันมีจานกระเบื้องประดับ หลังคาไม่มีช่อฟ้า ใบระกา กำแพงแก้ว พระอุโบสถเคยได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร มีพระประธานจีวรมีลายดอกพิกุล ปัจจุบันย้ายไปพระอุโบสถหลังใหม่ ส่วนพระอุโบสถหลังใหม่สร้างปี พ.ศ. 2512 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2517 มีความกว้าง 8 เมตร ยาว 22 เมตร เป็นอาคารทรงไทย ประตู หน้าต่าง ไม้แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง เดิมมีศาลาการเปรียญหลังเดิมเป็นศาลาไม้ 3 หลัง ติดต่อกัน แต่ปัจจุบันได้รื้อไปแล้ว และได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

มีเจดีย์ทรงไม้ย่อมุมสี่เหลี่ยม จำนวน 2 องค์ ขณะนี้ยังมีอยู่แต่ทรงได้เปลี่ยนไป เนื่องจากได้มีการถมที่หนีน้ำท่วม และเทพื้นเป็นลานจอดรถ ด้านหน้าอุโบสถมีเจดีย์สถูปบรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาส และพระที่มรณภาพ ทรงยุโรป มีหอระฆังโบราณ มีเสาหงส์ต้นใหม่ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ฝั่งเดียวกันกับเสาหงส์ต้นเดิมก็ยังมีศาลา 2 แท่น

วัดมีศาลาราหูอมจันทร์ กุฏิสงฆ์ไม้ทรงไทย 2 ชั้น หอสวดมนต์-หอฉัน ทรงไทยก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น เมรุเผาศพ ประกอบด้วยศาลาบำเพ็ญกุศลศพ 5 หลังศาลาทรงไทยหลังสูง 2 ชั้น นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนประชาบาล สถานีอนามัย อาศัยพื้นที่ของวัด[2]

วัดมีพระพุทธรูปเก่าแก่จากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า[3] เรียกว่า หลวงพ่อมัณฑะเลย์ พระพุทธรูปศิลปะมอญ เดิมอยู่ในตู้ลายไม้สักตั้งอยู่ที่หอสวดมนต์แต่ภายหลังมีโจรชอบมาขโมยพระ

รายนามเจ้าอาวาส

[แก้]
  • พระครูหนู
  • พระอาจารย์แกล้ง
  • พระอุปัชฌาย์ เชย ทองเจริญ พ.ศ. 2416–2490
  • พระครูบรรจง ทองเจริญ พ.ศ. 2492–2511
  • พระสมุทรพัฒนโสภณ เจ้าคณะอำเภอพระประแดง (เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2512–2554)
  • พระครูสุภัทรกิจจาทร (พระอาจารย์หลาย) เจ้าอาวาสวัดคันลัดองค์ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เรียนรู้วัฒนธรรมมอญ". สวนศรีนครเขื่อนขันธ์.
  2. รัฐมนตรี ดิษฐเจริญ (23 พฤษภาคม 2558). "งานแสดงมุฑิตาจิตทำบุญอายุวัฒนมงคล พระอาจารย์หลาย เจ้าอาวาสวัดคันลัด พระประแดง". แนวหน้า.
  3. "วัดคันลัด". ไทยตำบล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-12. สืบค้นเมื่อ 2020-08-17.