ข้ามไปเนื้อหา

วรรณกรรมกรีกโบราณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้ากระดาษจากหนังสือเรื่อง งานและวัน ของเฮสิโอด ฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. 1539

วรรณกรรมกรีกโบราณ คือ วรรณคดีที่เขียนด้วยภาษากรีกโบราณ ตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการจารึกเป็นภาษากรีกต่อมาจนถึงสมัยจักรวรรดิไบเซนไทน์ งานวรรณคดีภาษากรีกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลือตกทอดมา คือ มหากาพย์สองเรื่องที่กวีโฮเมอร์รจนาขึ้นในยุคอาร์เคอิก หรือประมาณศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ได้แก่ อีเลียด และโอดิสซี ซึ่งเล่าเหตุการที่เกิดขึ้นในยุคขุนศึกของอารยธรรมไมซีนี มหากาพย์สองเรื่องนี้ กับงานเขียนร้อยกรองในยุคเดียวกัน ได้แก่ เพลงสวดโฮเมอริค (Homeric Hymns) และบทกวีอีกสองเรื่องของเฮสิโอด คือ ธีออโกนี (Theogony) และ งานและวัน (works and days) ถือได้ว่าเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและรากฐานของธรรมเนียมทางวรรณกรรมของชาวกรีก สืบต่อไปถึงยุคคลาสสิค, สมัยอารยธรรมเฮเลนิสติก และยังเป็นรากฐานให้กับวรรณคดีของชาวโรมันอีกด้วย

งานวรรณกรรมกรีกโบราณ เริ่มต้นขึ้นจากบทกวีขับร้องประกอบการเล่นดนตรีอย่างเช่น มหากาพย์ของโฮเมอร์ และบทกวีไลริค (lyric poetry) ซึ่งมีกวีนามอุโฆษ เช่น แซพโพ อัลซีอัส และพินดาร์ เป็นแบบอย่างที่มีอิทธิพลในช่วงยุคบุกเบิกของศิลปะทางกวีนิพนธ์ ต่อมามีการพัฒนาศิลปะการละครขึ้น งานนาฏกรรมบทละครที่ตกทอดมาได้แก่ของ เอสคิลัส (ราว 525-456 ก.คริสต์) ซอโฟคลีส (497-406 ก.คริสต์) ยูริพิดีส (480-406 ก.คริสต์) และอริสโตฟานีส (446-436 ก.คริสต์) ในบรรดานาฏศิลปินทั้งสี่ เอสคิลัสเป็นนักประพันธ์ละครคนแรกสุดที่มีงานตกทอดมาถึงเราอย่างสมบูรณ์ ซอโฟคลีสเป็นนักแต่งบทละครที่มีชื่อเสียงจากงานโศกนาฏกรรมไตรภาคเกี่ยวกับอีดิปัส โดยเฉพาะเรื่องพระเจ้าอีดิปัส (Oedipus Rex) และแอนติโกเน่ฯ ยูริพิดีสมีชื่อเสียงจากการสร้างงานประพันธ์ที่พยายามท้าทายขอบเขตของโศกนาฏกรรม ส่วนนักประพันธ์สุขนาฏกรรม (หรือ หัสนาฏกรรม) อริสโตฟานีสมีปรีชาสามารถในสาขางานสุขนาฏกรรมแบบดั้งเดิม (old comedy) ในขณะที่เมแนนเดอร์เป็นผู้บุกเบิกสุขนาฏกรรมใหม่

ภาพวาดจากซีนในบทสนทนา ซิมโพเซียม (ปรัชญาว่าด้วยความรัก) ของเพลโต (Anselm Feuerbach, 1873)

สำหรับงานร้อยแก้วมีเฮโรโดตัส และธิวซิดิดีส เป็นผู้บุกเบิกงานเขียนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกรีซในช่วงศตวรรษที่ 5 (และความเป็นมาก่อนหน้านั้น) ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งสองท่านมีชีวิตอยู่ เพลโตถ่ายทอดความคิดเชิงปรัชญาผ่านบทสนทนา ซึ่งมีโสเครตีสผู้เป็นอาจารย์ของท่านเป็นจุดศูนย์กลาง ในขณะที่อริสโตเติ้ลลูกศิษย์ของเพลโตบุกเบิกสาขาปรัชญาใหม่ๆ รวมทั้งพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หลายแขนง รวมทั้งการจำแนกหมวดหมู่สัตว์ และทฤษฎีทางกลศาสตร์ซึ่งเป็นชุดความรู้ที่สังคมตะวันตกยึดถือกันต่อมาอีกเกือบสองพันปีจนกระทั่งถูกเปลี่ยนแปลงในสมัยของไอแซก นิวตัน

คุณค่าการศึกษาวรรณกรรมและภาษากรีก

[แก้]

ความโดดเด่นของวรรณกรรมกรีก อยู่ที่ความเป็นเอกภาพของทัศนวิสัยที่ชาวกรีกมีต่อโลก และสรรพสิ่งต่างๆ แม้วรรณกรรมกรีกจะมีมากมายหลายประเภท แต่นักเขียนกรีกในทุกๆสาขาไม่ว่าจะเป็นกวี นักประวัติศาสตร์ หรือนักปรัชญา ก็ล้วนแต่มีความมุ่งมั่นที่จะไต่ถาม หรือขุดค้นไปให้ถึงสาเหตุความเป็นมา หรือเหตุผลในการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ[1] ชาวกรีกเป็นชนชาติที่ฝักใฝ่การกีฬา และการแข่งขัน ทำให้มีชาวกรีกรูปร่างแข็งแรงสมส่วน สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาในปรัชญา สถาปัตยกรรม ศิลปะ และวรรณกรรมกรีก[2] สถาปัตยกรรมของกรีกสะท้อนความเรียบง่ายและเน้นที่ความเป็นสมมาตร งานปฏิมากรรมของกรีกจะแสดงออกถึงลักษณะตามอุดมคติ และความสมส่วนของร่างกายมนุษย์ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อใดนักเขียนกรีกถ่ายทอดความคิดลงเป็นหนังสือ จะถูกชักนำด้วยสำนึกของความพอเหมาะพอดีเสมอ ด้วยเหตุนี้นักเขียนกรีกจะไม่นิยมใช้คำที่เย่อเย้อ ยืดยาว หรือสื่อถึงความคิด/ความรู้สึกที่เกินจริง นักประพันธ์ชาวกรีกจึงให้ความเอาใจใส่อย่างมากต่อรูปแบบและสไตล์การเขียน โดยเหนือสิ่งอื่นใดชาวกรีกมีสำนึกว่างานเขียนจะต้องสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนเสมอ[3] การเล่นคำหรือการใช้สำบัดสำนวนจนเกินพอดีเป็นสิ่งที่เลว นอกจากนี้นักเขียนกรีกจะเลือกเอารูปแบบ หรือประเภทวรรณคดีที่เหมาะสมกับเนื้อหาของงาน[3] เช่น งานบทละครจะใช้ประเภทของร้องกรองที่มีฉันทลักษณ์แตกต่างไปจากวรรณคดีมหากาพย์ หรืองานเขียนทางกฎหมาย และการแสดงสุนทรพจน์ (oratory) ก็จะมีลักษณะต่างไปจากงานเขียนทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ยุคก่อนสมัยคลาสสิก และสมัยคลาสสิก

[แก้]

สมัยเฮลเลนิสต์

[แก้]

สมัยโรมัน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Jebb, Richard C. (1884). Greek Literature. New York, D. Appleton & Co. p. 6.
  2. Jebb (1884) & p.7.
  3. 3.0 3.1 Jebb (1884) & p.8.

บรรณานุกรม

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]