ข้ามไปเนื้อหา

วรรณกรรมฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Folio 153v แทรริชเซอร์ดูว์ดุกเดอแบรี (ค.ศ. 1412–1416)

วรรณกรรมฝรั่งเศส หมายถึง กลุ่มของงานทางวรรณคดี (literary works) ที่รจนาหรือประพันธ์ขึ้นด้วยภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงงานวรรณกรรมที่เขียนโดยชาวพื้นเมืองฝรั่งเศสซึ่งพูดภาษาดั้งเดิมของฝรั่งเศสนอกเหนือจากภาษาฝรั่งเศส และวรรณกรรมที่เขียนด้วยภาษาฝรั่งเศสโดยพลเมืองของประเทศอื่น ๆ เช่น เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เซเนกัล ตูนิเซีย แอลจีเรีย โมร็อกโก ฯลฯ งานเขียนในภาษาฝรั่งเศสเป็นงานวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมโลกในยุคสมัยใหม่ โดยนักเขียนจากฝรั่งเศสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมากครั้งที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่น ๆ

ความเป็นเลิศทางวรรณคดีของฝรั่งเศสเป็นวัตถุแห่งความภาคภูมิใจสำหรับชาวฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่มีอิทธิพลมากที่สุดของวรรณกรรมของยุโรปมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง[1][2] แม้ว่าความโดดเด่นของยุโรปในวรรณคดีฝรั่งเศสจะถูกบดบังไปบ้างโดยวรรณกรรมที่ถือกำเนิดในอิตาลีในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่วรรณกรรมในฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็ได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่จากโครงการสนับสนุนทางศิลปะของ "ระบอบเก่า" (Ancien Régime) จนวรรณกรรมฝรั่งเศสได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมด้านอักษรศาสตร์ในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ภาษาฝรั่งเศสกลายเป็นภาษากลางในวรรณกรรมและภาษาทางการทูตของยุโรปตะวันตก ทำให้วัฒนธรรมทางอักษรของฝรั่งเศสมีผลกระทบอย่างมากต่อประเพณีวรรณกรรมในยุโรปและอเมริกา แต่ในขณะเดียวกันวรรณคดีฝรั่งเศสก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประเพณีของชาติอื่น ๆ ในแอฟริกาและตะวันออกไกลซึ่งเคยเป็นชาติอาณานิคมของฝรั่งเศส จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเพิ่มประสบการณ์ให้กับวรรณกรรมฝรั่งเศสในปัจจุบัน

วรรณกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้คนในฝรั่งเศสและมีบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกทางอัตลักษณ์ของความเป็นฝรั่งเศส ทัศนคติเช่นนี้ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ เริ่มจากอุดมคติของชนชั้นสูงในระบอบเก่า (honnête homme) จนมาถึงการพัฒนาจิตวิญญาณชาตินิยมของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติ และอุดมการณ์ชาตินิยมทางการศึกษาของสาธารณรัฐที่สามและฝรั่งเศสสมัยใหม่ ชาวฝรั่งเศสมีความผูกพันและความหวงแหนในวัฒนธรรมและสมบัติทางวรรณคดีของตนอย่างลึกซึ้ง ปัจจุบันโรงเรียนภาษาฝรั่งเศสยังคงเน้นการศึกษานวนิยายการละครและบทกวี (มักเรียนรู้ด้วยการท่องจำ) ศิลปะวรรณกรรมได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐ และการรับรางวัลทางวรรณกรรมมักถูกประโคมเป็นข่าวสำคัญ โดยมีอากาเดมีฟร็องแซซ (Académie française) และแอ็งส์ตีตูว์เดอฟร็องส์ (Institut de France) เป็นสถาบันทางภาษาและศิลปะที่สำคัญของชาติ

นักประพันธ์ฝรั่งเศสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมบ่อยครั้งกว่านักประพันธ์ กวี และนักเขียนเรียงความของประเทศใดในโลก (อย่างไรก็ตามนักเขียนในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาอังกฤษจากสหรัฐ สหราชอาณาจักร อินเดีย ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย แคนาดา ไนจีเรีย และเซนต์ลูเซีย รวมกันแล้วได้รับรางวัลโนเบลมากกว่านักเขียนในภาษาฝรั่งเศสถึงสองเท่า) ในปี พ.ศ. 2507 ฌ็อง-ปอล ซาทร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม แต่เขาปฏิเสธโดยระบุว่า "มันจะกลายเป็นคนละเรื่องกันเลย หากผมจะเซ็นชื่อ Jean-Paul Sartre เฉย ๆ กับถ้าผมเซ็นชื่อ Jean-Paul Sartre ในฐานะผู้ได้รับรางวัลโนเบล นักเขียนต้องปฏิเสธที่จะยอมเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นสถาบัน แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่มีเกียรติที่สุดก็ตาม"[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. French literature เก็บถาวร เมษายน 19, 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Discover France
  2. Romance languages and literatures: why study French ? เก็บถาวร เมษายน 19, 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน University of Michigan
  3. "Saying 'No thanks' to Nobel | News | al Jazeera". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-11. สืบค้นเมื่อ 2014-07-30.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]