ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์เทวราชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วงศ์เทวราชา บ้างเขียน วงศเทวราชา เป็นบทละครประพันธ์โดยหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่งขึ้นในปีใดไม่ปรากฏแน่ชัด รู้แต่ว่าผู้แต่ง แต่งเมื่อครั้งยังเป็นขุนจบพลรักษ์ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบทละครมีเนื้อเรื่องแบบนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ

บทละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมจากกลุ่มที่นิยมอ่านนิทานคำกลอนหรือเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ จากโรงพิมพ์วัดเกาะ โดยหลวงพัฒนพงศ์ภักดีแต่งบทละครนี้ขึ้นเพื่อให้ละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเล่น แต่เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเห็นว่าไม่เหมาะที่จะใช้เล่นละครจึงให้พิมพ์ขายในราคาเล่มละสลึง แต่มิได้บอกว่าผู้ใดแต่งบทละครเรื่องนี้[1]

จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ประทับอยู่แต่ในห้อง จึงทรงเรียกหาหนังสือที่ยังไม่เคยทรงฟังให้มาอ่านถวาย ซึ่งก็ได้อ่านบทละครเรื่องนี้ ต่อมาพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอีกสำนวนหนึ่งล้อเรื่องเดิมและล้อเลียนคนสมัยนั้นซึ่งเป็นบุคคลจริงเพิ่มเติมไปด้วย โดยฉบับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2427[2] ฉบับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อหาเริ่มตั้งแต่พระวงศ์เทวราชสั่งไปรับนางบุษบงมาจัดพิธีอภิเษก[3] พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ระหว่างประชวร ใช้เวลาประพันธ์ 43 วัน โดยมิได้ตรวจตราแก้ไข หนังสือนี้จึงมีแต่ฉบับข้างที่กับที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายฝ่ายในคัดสำเนาไปน้อยฉบับด้วยกัน[4]

ฉบับของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) มีโอกาสตีพิมพ์เมื่อคราวเปิดตึกมาลินีที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฉบับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2469

เนื้อหา

[แก้]

นางสุวรรณมณฑาละเลยการเข้าเฝ้าพระอิศวรและถูกสาปให้มาเป็นมนุษย์และอาศัยอยู่กับพระฤๅษีพรหมลิขิตมุนี พระอินทร์ลงมาสมพาสกับนางแล้วกลับสวรรค์ ต่อมานางได้ให้กำเนิดพระวงศ์เทวราชและเลี้ยงดูจนอายุได้ 13 ปี ต้องการรู้จักพระบิดา พระอินทร์จึงลงมาประทานพรพร้อมทั้งของวิเศษคือแก้วสารพัดนึก ม้าวิเศษ พญาครุฑมนตร์เรียกสัตว์ป่าและแหวนวิเศษ

พระอินทร์ได้กลับมารับนางสุวรรณมณฑากลับสวรรค์ พระวงศ์เทวราชออกเดินทางท่องเที่ยวผจญภัยไปในป่าและได้บริวารเพิ่มคือวานรสังขปัดกับราชสีห์สิงหราชเป็นทหารเอก จากนั้นได้ไปร่วมพิธียกศรเพื่อชิงนางบุษบงซึ่งเป็นธิดาของท้าวนพศูรผู้เป็นยักษ์ครองเมืองสมุทรคีรี แต่พระวงศ์เทวราชลอบเข้าหานางก่อน เมื่อท้าวนพศูรรู้เรื่องจึงกริ้วมากและเกิดสงครามระหว่า ในที่สุดพระวงศ์เทวราชก็ได้รับชัยชนะด้วยฝีมือและกลอุบายต่างๆ แต่ท้าวนพศูรยังมีความแคลงใจในคุณสมบัติของพระวงศ์เทวราช พระวงศ์เทวราชได้ยกศรีเพื่อแสดงว่าตนมีความสามารถคู่ควรกับนางบุษบง

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วงศเทวราช 1". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
  2. เครือหวาย พรหมมา. "วงศ์เทวราชฉบับหลวงพัฒนพงศ์ภักดีกับขนบการแต่งบทละครโบราณ". วารสารมนุษยศาสตร์. 20.
  3. นิดา มีสุข (เมษายน–กันยายน 2545). "วงศ์เทวราชา : ภาพล้อสังคมใหม่ในแบบละครเก่า" (PDF). วารสารปาริชาต. 15 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-09-26. สืบค้นเมื่อ 2024-09-26.{{cite journal}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  4. "ความจริงในมนุษยศาสตร์" (PDF).