ข้ามไปเนื้อหา

ลิงซ์ไอบีเรีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลิงซ์สเปน)

ลิงซ์ไอบีเรีย
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่:
สมัยไพลสโตซีนตอนต้น[1] - ปัจจุบัน 1–0Ma
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อันดับ: อันดับสัตว์กินเนื้อ
อันดับย่อย: เฟลิฟอเมีย
วงศ์: เสือและแมว
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยแมว
สกุล: Lynx
(Temminck, 1827)
สปีชีส์: Lynx pardinus
ชื่อทวินาม
Lynx pardinus
(Temminck, 1827)
การกระจายพันธุ์ของลิงซ์ไอบีเรียใน ค.ศ. 2015[ต้องการการอัปเดต]

ลิงซ์ไอบีเรีย (อังกฤษ: Iberian lynx) หรือ ลิงซ์สเปน (Spanish lynx) เป็นหนึ่งในแมวป่าสี่ชนิดที่ยังไม่สูญพันธุ์ในสกุล Lynx เป็นสัตว์ประจำถิ่นของคาบสมุทรไอบีเรียในยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ ทางบัญชีแดงไอยูซีเอ็นจัดให้มีสถานะเกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์[3] ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประชากรลิงซ์ไอบีเรียลดลงเนื่องจากการล่ามากเกิน การบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์ การแตกเป็นหย่อมของแหล่งที่อยู่ และการลดลงของเหยื่อหลักอย่างกระต่ายยุโรป (Oryctolagus cuniculus) ซึ่งมีสาเหตุจากโรคมิกโซมาโทซิสและโรคเลือดออกในกระต่าย[4][5][6]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ลิงซ์ไอบีเรียมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เนื่องจากเหลือสัตว์ชนิดนี้เพียง 94 ตัวอยู่ในกลุ่มประชากรย่อยที่แยกจากกัน 2 กลุ่มในแคว้นอันดาลูซิอาเมื่อ ค.ศ. 2002 นับแต่นั้นมาจึงมีการใช้มาตรการอนุรักษ์ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัย การเพิ่มจำนวนกระต่ายใหม่ การเคลื่อนย้าย การส่งคืนสู่ธรรมชาติ และการเฝ้าสังเกต ณ ค.ศ. 2012 ประชากรลิงซ์เพิ่มขึ้นเป็น 326 ตัว[7] จากนั้นจึงเพิ่มเป็น 855 ตัวใน ค.ศ. 2020[8] 1,111 ตัวใน ค.ศ. 2021[9] 1,668 ตัวใน ค.ศ. 2023[10] และ 2,021 ตัวใน ค.ศ. 2024 นำไปสู่การปรับสถานะใหม่จาก "ใกล้สูญพันธุ์" เป็น "เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์"[11]

อนุกรมวิธาน[แก้]

Felis pardina เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ที่เสนอโดยกุนราด ยาโกบ แต็มมิงก์ ใน ค.ศ. 1827 เขาบรรยายหนังของลิงซ์ไอบีเรียที่ถูกฆ่าในแถบแม่น้ำเทกัสในประเทศโปรตุเกสแล้วนำไปขายในปารีสและลอนดอน[12] สัตว์ชนิดนี้มีเพียงชนิดเดียว[13]

วิวัฒนาการชาติพันธุ์[แก้]

มีการเสนอแนะว่าลิงซ์ไอบีเรียมีวิวัฒนาการมาจาก Lynx issiodorensis[14][15] ซากดึกดำบรรพ์ชิ้นแรกสุดเท่าที่พบมีอายุย้อนไปถึงปลายสมัยไพลสโตซีนตอนต้นประมาณ 1 ล้านปีก่อน[1]

ลิงซ์ไอบีเรียแยกพันธุกรรมเป็นชนิดจำเพาะเมื่อ 1.98 ถึง 0.7 ล้านปีก่อน ญาติที่มีชีวิตที่ใกล้เคียงที่สุดคือลิงซ์ยูเรเชีย (Lynx lynx) โดยอาศัยร่วมกันในระดับหนึ่งจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20[16][17]

ลักษณะ[แก้]

ลิงซ์ไอบีเรียมีน้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 12.8 กิโลกรัม ตัวเมีย 9.3 กิโลกรัม ซึ่งหนักใกล้เคียงกับลิงซ์แคนาดาและบอบแคตในทวีปอเมริกา[18]

ถิ่นที่อยู่อาศัย[แก้]

ลิงซ์ไอบีเรียพบในป่าไม้ของแถบเมดิเตอร์เรเนียน ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ที่มีไม้พุ่มหรือป่าละเมาะที่แน่นทึบสำหรับเป็นที่กำบังสลับกับพื้นที่เปิดสำหรับล่ากระต่าย ไม่ชอบพื้นที่เกษตรกรรม จากการติดตามด้วยวิทยุ พบว่าลิงซ์ไอบีเรียใช้เวลา 90 เปอร์เซ็นต์ตอนกลางวันในการหลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ทึบ

ลิงซ์ไอบีเรียมักพบที่ระดับความสูง 400–900 เมตร แต่อาจพบได้สูงถึง 1,600 เมตร

นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลิงซ์ไอบีเรียได้กลายเป็นสัตว์หายากมากในสเปนตอนเหนือ แม้จะยังยังพบได้มากในตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ พอมาถึงคริสต์ทศวรรษ 1960 พื้นที่หากินถูกจำกัดอยู่เพียงทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรเท่านั้น พื้นที่นี้มีอาณาเขตประมาณ 57,000 ตารางกิโลเมตรและอาจยังต่อเนื่องกันอยู่ แต่ปัจจุบันพื้นที่หากินของลิงซ์ในสเปนเหลือเพียง 14,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ผสมพันธุ์ประมาณ 11,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกินพื้นที่เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น สำหรับเขตกระจายพันธุ์ของลิงซ์ไอบีเรียที่อยู่ในโปรตุเกสยังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่ก็ลดลงไปมากนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1940 ปัจจุบันคาดว่าเหลืออยู่เพียงสามแห่งซึ่งมีพื้นที่รวมเพียง 700 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเขตสงวนธรรมชาติแซราดามัลกาตาและทิวเขาอัลการ์วึทางตอนใต้สุดของประเทศ

จากการศึกษาลิงซ์ไอบีเรียในอุทยานแห่งชาติดอญญานาด้วยวิทยุติดตามที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2526 พบว่า ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่คุณภาพดี จะมีความหนาแน่นประชากรลิงซ์ (รวมลิงซ์วัยรุ่น) ประมาณ 16 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร พื้นที่หากินของลิงซ์ตัวผู้กว้างเฉลี่ยประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ในแต่ละเดือนประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร พื้นที่หากินของลิงซ์ไอบีเรียตัวเมียประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ต่อเดือนประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร ลิงซ์เพศเดียวกันจะมีหากินแยกจากกัน ส่วนตัวผู้และตัวเมียจะมีพื้นที่ซ้อนเหลื่อมกัน

อุปนิสัย[แก้]

อาหารของลิงซ์ไอบีเรียในฤดูร้อนเป็นกระต่ายเสีย 93 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ในฤดูหนาว สัดส่วนของกระต่ายในอาหารลดน้อยลงไปพร้อมกับจำนวนประชากรในธรรมชาติในรอบปีก็ลดลงด้วย ในช่วงเวลานี้ลิงซ์ไอบีเรียจะจับลูกกวางแดง กวางฟาลโลว์ และลูกมูฟฟลอนไปแทน ส่วนในพื้นที่ชุ่มน้ำดอญญานาที่อยู่ทางชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน เป็ดได้เป็นอาหารหลักสำคัญในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ ลิงซ์ไอบีเรียหนึ่งตัวต้องการเหยื่อขนาดกระต่ายหนึ่งตัวต่อวัน

จากการติดตามด้วยวิทยุที่อุทยานแห่งชาติดอญญานาแสดงว่า ลิงซ์ไอบีเรียหากินตอนกลางคืนเป็นหลัก เริ่มออกหากินในโพล้เพล้ เดินทางวันหนึ่งเฉลี่ยราวเจ็ดกิโลเมตร ตัวผู้มักเดินทางไกลกว่าตัวเมีย และในฤดูหนาวจะหันหากินตอนกลางวันมากขึ้น

ชีววิทยา[แก้]

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม สูงสุดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ แม่ลิงซ์ตั้งท้องนานประมาณสองเดือน ออกลูกในเดือนมีนาคม–เมษายน ออกลูกคราวละ 2–3 ตัว จำนวนอาจต่างกันมากตั้งแต่ 1–5 ตัว

เมื่ออายุได้ราว 7–10 เดือน ลูกลิงซ์ก็เป็นอิสระจากแม่ หลังจากที่เป็นอิสระแล้วจะยังคงหากินอยู่ในอาณาเขตบ้านเกิดเป็นระยะหนึ่งก่อนจนกระทั่งอายุราว 20 เดือน (8–28 เดือน) จึงออกไปหาที่อยู่ใหม่

ลิงซ์สาวจะพร้อมผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่ฤดูหนาวแรก แต่เวลาที่ตั้งท้องได้ครั้งแรกขึ้นอยู่กับปัจจัยทางประชากรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่นในอุทยานแห่งชาติดอญญานา ตัวเมียจะตั้งท้องครั้งแรกได้เมื่อได้ครอบครองพื้นที่หากินได้แล้ว ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของพื้นที่เดิมตายลงหรือถูกขับไล่ออกไป มีบันทึกว่าตัวเมียตัวหนึ่งกว่าจะตั้งท้องครั้งแรกต้องรอถึงอายุ 5 ปี ซึ่งเป็นเวลาหลังจากได้ครอบครองพื้นที่แทนแม่ที่ตายไป

ลิงซ์ตั้งท้องครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 10 ปี ในธรรมชาติ ลิงซ์มีอายุขัยราว 13 ปี

ภัยคุกคาม[แก้]

ลิงซ์ไอบีเรียตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่อยู่อาศัย อุบัติเหตุทางถนน และการล่าสัตว์แบบผิดกฎหมาย[2] การสูญเสียที่อยู่อาศัยโดยหลักมาจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและสถานตากอากาศ และการปลูกพืชชนิดเดียว ซึ่งทำให้ประชากรลิงซ์กระจัดกระจาย ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โรคในกระต่ายอย่างโรคมิกโซมาโทซิสและโรคเลือดออกทำให้ประชากรเหยื่อหลักลดลงอย่างมาก[19] ลิงซ์ถูกล่าในฐานะ "สัตว์รบกวน" ภายใต้การกฎหมายที่ผ่านในสมัยฟรันซิสโก ฟรังโก ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 ไปจนกระทั่งปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 เมื่อการล่าลิงซ์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การล่าลิงซ์อย่างลับ ๆ ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน และกำลังกลายเป็นปัญหาร้ายแรง[20] กับดักกระต่ายและสุนัขจิ้งจอกที่ผิดกฎหมายนำไปสู่การตายของลิงซ์ในคริสต์ทศวรรษ 1990[21] นอกจากนี้ ในแต่ละปียังมีลิงซ์ไอบีเรียหลายตัวตายจากการพยายามข้ามทางหลวงที่มีการจราจรหนาแน่น[4] ซึ่งกลายเป็นสาเหตุการตายของลิงซ์ส่วนใหญ่[22] ใน ค.ศ. 2013 ลิงซ์ไอบีดรียตายบนถนน 14 ตัว และใน ค.ศ. 2014 มีลิงซ์ไอบีเรียตาย 21 ตัว[23] ใน ค.ศ. 2023 มีลิงซ์ตายบนท้องถนน 144 ตัว[11]

ใน ค.ศ. 2007 ลิงซ์ไอบีเรียหลายตัวตายจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว[24][25]

การติดต่อกับมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นและการแพร่กระจายยีนต้านทานยาปฏิชีวนะในหมู่ประชากรลิงซ์อาจเป็นภัยคุกคามที่สำคัญไม่เพียงแต่กับลิงซ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงมนุษย์ด้วย[26]

สถานภาพ[แก้]

ลิงซ์ไอบีเรีย

จำนวนประชากรในธรรมชาติรวมวัยรุ่น ไม่รวมลูกแมว คาดว่าไม่เกิน 1,200 ตัว เป็นตัวเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 350 ตัว จากการสำรวจอย่างละเอียดในสเปน พบว่าพื้นที่หากินแยกออกเป็นผืนเล็กผืนน้อยมากมายถึง 48 แห่ง และยังมีอีก 50 แห่งที่อาจมีอยู่แต่ไม่มีการยืนยัน พื้นที่แต่ละแห่งถูกตัดออกจากกันด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและหมู่บ้าน

เทียบกับแมวในสกุลลิงซ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกแล้ว สถานภาพของลิงซ์ไอบีเรียอยู่ในระดับร้ายแรงที่สุด ปัจจุบันลิงซ์ไอบีเรียหายากมากในคาบสมุทรไอบีเรียพบได้เฉพาะที่ป่าสงวนดอญญานาทางตอนใต้ของสเปนและพื้นที่โดดเดี่ยวบางแห่งในโปรตุเกสเท่านั้น พื้นที่ตอนกลางของประเทศสเปนซึ่งประกอบด้วยเขตหากินสามเขตเป็นพื้นที่เดียวเท่านั้นที่มีศักยภาพในการรักษาเผ่าพันธุ์ลิงซ์ชนิดนี้ได้ ประชากรปัจจุบันคือประมาณ 800 ตัว ส่วนในพื้นที่อื่นคาดว่ามีอยู่ตั้งแต่ 13–63 ตัว จำนวนที่หลงเหลือเพียงน้อยนิดแสดงถึงการถูกคุกคามอย่างร้ายแรง ในจำนวนป่าที่มีพื้นที่น้อยกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตรที่เคยมีลิงซ์อาศัยอยู่ก่อนปี 2503 มีถึง 91 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพื้นที่ที่ไม่มีลิงซ์อีกแล้ว

ชื่อลิงซ์ไอบีเรียอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส ไอยูซีเอ็นเคยจัดสถานภาพไว้ในระดับใกล้สูญพันธุ์ในช่วง ค.ศ. 2014 ถึง 2024[2] ใน ค.ศ. 2024 มีการปรับสถานะเป็นเกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์[3] หลังมีประชากรลิงซ์ที่อายุน้อยและโตเต็มที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 ตัว[27] ลิงซ์ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาลสเปนและโปรตุเกส

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Boscaini, A.; Alba, D.M.; Beltrán, J.F.; Moya-Sola, S. & Madurell-Malapeira, J. (2016). "Latest Early Pleistocene remains of Lynx pardinus (Carnivora, Felidae) from the Iberian Peninsula: taxonomy and evolutionary implications". Quaternary Science Reviews. 143: 96–106. Bibcode:2016QSRv..143...96B. doi:10.1016/j.quascirev.2016.05.015.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Rodríguez, A. & Calzada, J. (2020) [errata version of 2015 assessment]. "Lynx pardinus". IUCN Red List of Threatened Species. 2015: e.T12520A174111773. doi:10.2305/IUCN.UK.2015-2.RLTS.T12520A174111773.en. สืบค้นเมื่อ 16 January 2022.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Iberian lynx rebounding thanks to conservation action – IUCN Red List – Press release | IUCN". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2024. สืบค้นเมื่อ 20 June 2024.
  4. 4.0 4.1 Simón, M.A. (2012). Ten years conserving the Iberian lynx. Seville: Consejería de Agricultura, Pesca y Medio Ambiente. Junta de Andalusía. ISBN 978-84-92807-80-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2024. สืบค้นเมื่อ 3 January 2017.
  5. Rodríguez-Hidalgo, A.; Lloveras, L.; Moreno-García, M.; Saladié, P.; Canals, A. & Nadal, J. (2013). "Feeding behaviour and taphonomic characterization of non-ingested rabbit remains produced by the Iberian lynx (Lynx pardinus)". Journal of Archaeological Science. 40 (7): 3031–3045. Bibcode:2013JArSc..40.3031R. doi:10.1016/j.jas.2013.03.006. hdl:10261/153608. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2024. สืบค้นเมื่อ 29 January 2019.
  6. Fordham, D.A.; Akçakaya, H.R.; Brook, B.W.; Rodríguez, A.; Alves, P.C.; Civantos, E.; Trivino, M.; Watts, M.J. & Araujo, M.B. (2013). "Adapted conservation measures are required to save the Iberian lynx in a changing climate" (PDF). Nature Climate Change. 3 (10): 899–903. Bibcode:2013NatCC...3..899F. doi:10.1038/nclimate1954. hdl:10261/84387. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 3 January 2017. สืบค้นเมื่อ 2 January 2017.
  7. Lopez, G.; Lopez, M.; Fernandez, L.; Ruiz, G.; Arenas, R.; Del Rey, T.; Gil, J.M.; Garrote, G.; Garcia, M. & Simon, M. (2012). "Population development of the Iberian lynx since 2002". Cat News. 57: 34.
  8. Jones, S. (2020). "The lynx effect: Iberian cat claws its way back from brink of extinction". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 October 2020. สืบค้นเมื่อ 29 October 2020.
  9. Lusa (2021). "Pela primeira vez em 20 anos, há mais de 1000 linces-ibéricos". Público. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2021. สืบค้นเมื่อ 28 May 2021.
  10. "La población de linces ibéricos alcanza su máximo histórico: 1.668 ejemplares". www.miteco.gob.es. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2023. สืบค้นเมื่อ 7 June 2023.
  11. 11.0 11.1 Jones, Sam (20 June 2024). "Iberian lynx no longer endangered after numbers improve in Spain and Portugal". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2024. สืบค้นเมื่อ 20 June 2024.
  12. Temminck, C. J. (1827). "Felis pardina". Monographies de mammalogie, ou description de quelques genres de mammifères, dont les espèces ont été observées dans les différens musées de l'Europe. Vol. 1. Leiden: C. C. Vander Hoek. pp. 116–117.
  13. Kitchener, A. C.; Breitenmoser-Würsten, C.; Eizirik, E.; Gentry, A.; Werdelin, L.; Wilting, A.; Yamaguchi, N.; Abramov, A. V.; Christiansen, P.; Driscoll, C.; Duckworth, J. W.; Johnson, W.; Luo, S.-J.; Meijaard, E.; O'Donoghue, P.; Sanderson, J.; Seymour, K.; Bruford, M.; Groves, C.; Hoffmann, M.; Nowell, K.; Timmons, Z.; Tobe, S. (2017). "A revised taxonomy of the Felidae: The final report of the Cat Classification Task Force of the IUCN Cat Specialist Group" (PDF). Cat News. Special Issue 11: 45. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 17 January 2020. สืบค้นเมื่อ 23 February 2020.
  14. Kurtén, B. (1968). Pleistocene Mammals of Europe. London, New Brunswick: Aldine Transaction.
  15. Cuccu, Andrea; Valenciano, Alberto; Azanza, Beatriz; DeMiguel, Daniel (2023-01-02). "A new lynx mandible from the Early Pleistocene of Spain (La Puebla de Valverde, Teruel) and a taxonomical multivariate approach of medium-sized felids". Historical Biology (ภาษาอังกฤษ). 35 (1): 127–138. Bibcode:2023HBio...35..127C. doi:10.1080/08912963.2021.2024181. ISSN 0891-2963. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2024. สืบค้นเมื่อ 10 April 2024.
  16. Johnson, W. E.; Godoy, J. A.; Palomares, F.; Delibes, M.; Fernandes, M.; Revilla, E. & O'Brien, S. J. (2004). "Phylogenetic and Phylogeographic Analysis of Iberian Lynx Populations". Journal of Heredity. 95 (1): 19–28. doi:10.1093/jhered/esh006. hdl:10261/50302. PMID 14757726. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 June 2020. สืบค้นเมื่อ 26 November 2020.
  17. Rodríguez-Varela, R.; Garcia, N.; Nores, C.; Álvarez-Lao, D.; Barnett, R.; Arsuaga, J.L. & Valdiosera, C. (2016). "Ancient DNA reveals past existence of Eurasian lynx in Spain". Journal of Zoology. 298 (2): 94–102. doi:10.1111/jzo.12289. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2024. สืบค้นเมื่อ 9 December 2020.
  18. ลิงซ์ไอบีเรีย เก็บถาวร 2014-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เสือและแมวนักล่าผู้สง่างาม, โลกสีเขียว
  19. Delibes-Mateos, M.; Ferreira, C.; Carro, F.; Escudero, M. A. & Gortázar, C. (2014). "Ecosystem effects of variant Rabbit hemorrhagic disease virus, Iberian Peninsula". Emerging Infectious Diseases. 20 (12): 2166–2168. doi:10.3201/eid2012.140517. PMC 4257825. PMID 25417710.
  20. Keeley, Graham. "Breeding project boosts Iberian lynx numbers from 94 to 1,100". Al Jazeera (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 November 2023. สืบค้นเมื่อ 21 June 2024.
  21. Ferreras, P.; Aldama, J.J.; Beltran, J. & Delibes, M. (1992). "Rates and causes of mortality in a fragmented population of Iberian lynx Felis pardina Temminck, 1824". Biological Conservation. 62 (3): 197–202. Bibcode:1992BCons..61..197F. doi:10.1016/0006-3207(92)91116-a. hdl:10261/50936.
  22. Amante, Helena. "How the Iberian Lynx Bounced Back From the Brink of Extinction". Smithsonian Magazine (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2024. สืบค้นเมื่อ 20 June 2024.
  23. Donaire, G. (2015). "Rise in Iberian lynx road deaths speeds up protection plans". El País. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 March 2015. สืบค้นเมื่อ 1 March 2015.
  24. López, G.; López-Parra, M.; Fernández, L.; Martínez-Granados, C.; Martínez, F.; Meli, M.L.; Gil-Sánchez, J.M.; Viqueira, N.; Díaz-Portero, M.A.; Cadenas, R.; Lutz, H.; Vargas, A. & Simón, M.A. (2009). "Management measures to control a feline leukemia virus outbreak in the endangered Iberian lynx". Animal Conservation. 12 (3): 173–182. Bibcode:2009AnCon..12..173L. doi:10.1111/j.1469-1795.2009.00241.x.
  25. Palomares, F.; López-Bao, J.V. & Rodríguez, A. (2011). "Feline leukaemia virus outbreak in the endangered Iberian lynx and the role of feeding stations: a cautionary tale". Animal Conservation. 14 (3): 242–245. Bibcode:2011AnCon..14..242P. doi:10.1111/j.1469-1795.2010.00403.x. hdl:10261/39812. S2CID 83959394.
  26. Sousa, M.; Gonçalves, A.; Silva, N.; Serra, R.; Alcaide, E.; Zorrilla, I.; Torres, C.; Caniça, M.; Igrejas, G.; Poeta, P. (2014). "Acquired antibiotic resistance among wild animals: the case of Iberian Lynx (Lynx pardinus)". Veterinary Quarterly. 34 (2): 105–112. doi:10.1080/01652176.2014.949391. PMID 25220796. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2023. สืบค้นเมื่อ 16 October 2023.
  27. Cursino, Malu. "One of world's rarest cats no longer endangered – conservation agency". www.bbc.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2024. สืบค้นเมื่อ 20 June 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]