ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิบะอษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลัทธิบะอษ์
อุดมการณ์
จุดยืนฝ่ายซ้าย[2]

ลัทธิบะอษ์ (อังกฤษ: Ba'athism, Baathism) เป็นอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับที่ส่งเสริมการสร้างและพัฒนารัฐอาหรับเดียวผ่านการนำโดยพรรคแนวหน้าของรัฐบาลสังคมนิยมปฏิวัติ อุดมการณ์นี้อิงจากทฤษฎีของมีชีล อัฟลัก (พรรคบะอษ์อิรัก), ซะกี อัลอัรซูซี (พรรคบะอษ์ซีเรีย) และเศาะลาห์ อัดดีน อัลบีฏอร[3] ซึ่งทั้งสามเป็นปัญญาชนชาวซีเรีย ผู้นำบะอษ์สมัยใหม่คนสำคัญ ได้แก่ ซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรัก, ฮาฟิซ อัลอะซัด อดีตประธานาธิบดีซีเรีย และบัชชาร อัลอะซัด ประธานาธิบดีซีเรียคนปัจจุบัน

ลัทธิบะอษ์สนับสนุน "ยุคเรืองปัญญาของชาวอาหรับ" รวมถึงการฟื้นฟูวัฒนธรรม คุณค่าและสังคม บะอษ์ยังส่งเสริมการจัดตั้งรัฐพรรคการเมืองเดียวและปฏิเสธแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองโดยไม่ระบุช่วงเวลา ซึ่งพรรคบะอษ์จะใช้ช่วงเวลาที่ไม่ระบุนี้ในการพัฒนาสังคมอาหรับที่ "รุ่งเรือง" ลัทธิบะอษ์อิงจากหลักโลกิยนิยม ชาตินิยมอาหรับ อุดมการณ์รวมกลุ่มอาหรับและสังคมนิยมอาหรับ ลัทธิบะอษ์มีมุมมองคล้ายกับลัทธิมากซ์ที่มองศาสนาเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำดั้งเดิมในการกดขี่ผู้ที่อ่อนแอกว่าในสังคมและรักษาระเบียบทางสังคมของพวกตน[4]

ลัทธิบะอษ์สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เช่น รัฐมีอำนาจควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ จำกัดการนำเข้าจากประเทศอื่น กระจายการถือครองที่ดินให้ชาวไร่ชาวนาและนิยมระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน นักคิดบะอษ์ยุคแรกปฏิเสธการต่อสู้ระหว่างชนชั้นแม้จะได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่จากกลุ่มสังคมนิยมตะวันตกก็ตาม โดยแย้งว่ามันขัดขวางเอกภาพของชาวอาหรับ พวกเขายืนกรานว่าสังคมนิยมเป็นหนทางเดียวในการพัฒนาสังคมอาหรับให้เป็นหนึ่งเดียว[5]

ชื่อลัทธิบะอษ์มาจากวลีภาษาอาหรับว่า อัลบะอ์ษียะฮ์ (البعثية) ซึ่งมาจากคำว่า บะอษ์ (بعث)[6] หมายถึง "การเกิดใหม่" หรือ "การคืนชีพ"[6] รัฐที่พรรคบะอษ์ปกครองในอดีตและปัจจุบัน (อิรักและซีเรียตามลำดับ) กีดกันการวิจารณ์อุดมการณ์พรรคผ่านการปกครองแบบอำนาจนิยม ซิเปรียน บลาไมเอิร์ส วิจารณ์ลัทธิบะอษ์ว่าเป็น "ลัทธิฟาสซิสต์สายพันธุ์ตะวันออกกลาง" เนื่องจากมีลักษณะหลายอย่างร่วมกับลัทธิฟาสซิสต์ในยุโรป เช่น ความพยายามในการผสาน "ชาตินิยมมูลวิวัติแบบไม่เสรี สังคมนิยมที่ไม่ใช่มากซ์และวิสัยทัศน์แบบนักปฏิวัติของชนชั้นนำ เพื่อสร้าง 'สิ่งใหม่' และ 'รื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ในอดีต'"[7] ขณะที่อับราฮัม เบน-ซูร์ ขนานนามพรรคบะอษ์ที่เถลิงอำนาจในซีเรียหลังรัฐประหารใน ค.ศ. 1963 ว่าเป็น "ลัทธิบะอษ์ใหม่" เนื่องจากไปไกลกว่าอุดมการณ์รวมกลุ่มอาหรับและเน้นย้ำความสำคัญทางทหาร[8] ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเดิมของอัฟลักและอัลบีฏอร

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ker-Lindsay, James (27 April 2023). "Is Syria No Longer a Pariah State?". World Politics Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 June 2023.
  2. Ker-Lindsay, James (27 April 2023). "Is Syria No Longer a Pariah State?". World Politics Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 June 2023.
  3. Devlin 1975, p. 8.
  4. "Bashar's Syria: The Regime and its Strategic Worldview" (PDF). pp. 364–365. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 July 2011. สืบค้นเมื่อ 8 March 2013.
  5. "Bashar's Syria: The Regime and its Strategic Worldview" (PDF). pp. 364, 365. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 July 2011. สืบค้นเมื่อ 8 March 2013. In practice, the economic doctrine of the Ba’th eschewed private enterprise and called for a state directed economy, much like the USSR. According to the basic documents of the party: the national wealth is the property of the state; the traditional distribution (i.e. the holding of most arable land by absentee landowners who leaded the land out to the peasants) is unjust and therefore it must be corrected; farming land should be allocated according to the capability to husband it; factories will be cooperative; trade will be controlled by the state.
  6. 6.0 6.1 "Mawrid Reader". ejtaal.net. p. 80. สืบค้นเมื่อ 2023-10-24.
  7. Blamires 2006, p. 84.
  8. Ben-Tzur 1968.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]