ระบบพิกัดสุริยวิถี
ระบบพิกัดสุริยวิถี (ecliptic coordinate system) เป็นระบบพิกัดทรงกลมท้องฟ้ารูปแบบหนึ่งสำหรับแสดงตำแหน่งของวัตถุทางดาราศาสตร์บนทรงกลมท้องฟ้า โดยยืนพื้นตามแนวสุริยวิถี
ภาพรวม
[แก้]ระบบพิกัดสุริยวิถีใช้ ละติจูดสุริยวิถี (β) และลองจิจูดสุริยวิถี (λ) บนทรงกลมท้องฟ้า ในทำนองเดียวกันกับที่ใช้ละติจูดและลองจิจูดแสดงตำแหน่งพิกัดบนพื้นโลก
ละติจูดสุริยวิถีจะมีค่าเป็น 0 องศาที่ระนาบสุริยวิถี (หรือก็คือระนาบการโคจรของโลก) และจะมีค่าเป็น 90 องศาเมื่ออยู่ในทิศทางตั้งฉากกับสุริยวิถี ค่าจะเป็น + ในด้านที่มองเห็นการโคจรของโลกปรากฏเป็นทวนเข็มนาฬิกา และจะเป็น - ถ้าเห็นเป็นตามเข็มนาฬิกา ตำแหน่งที่ละติจูดสุริยวิถีอยู่ที่ +90 องศาเรียกว่า ขั้วสุริยวิถีเหนือ และตำแหน่งที่ละติจูดสุริยวิถีอยู่ที่ -90 องศาเรียกว่า ขั้วสุริยวิถีใต้ ขั้วสุริยวิถีเหนืออยู่ในกลุ่มดาวมังกร (ใกล้กับเนบิวลาตาแมว) และขั้วสุริยวิถีใต้อยู่ในกลุ่มดาวปลากระโทงแทง
การเคลื่อนที่ของขั้วท้องฟ้าเหนือ และขั้วท้องฟ้าใต้เนื่องจากการหมุนควงของโลกบนทรงกลมท้องฟ้าสามารถมองได้ว่าเป็นการเคลื่อนที่วงกลมโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ขั้วสุริยวิถีเหนือและขั้วสุริยวิถีใต้[1][2]
ลองจิจูดสุริยวิถีเริ่มต้นที่ 0 องศาที่จุดวสันตวิษุวัต และค่าเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนที่ปรากฏของดวงอาทิตย์บนสุริยวิถี โดยนับถึง 360 องศาเมื่อกลับเข้าสู่จุดวสันตวิษุวัตอีกครั้ง ดังนั้นจุดครีษมายันอยู่ที่ลองจิจูดสุริยวิถี 90 องศา ส่วนจุดศารทวิษุวัตอยู่ที่ 180 องศา และจุดเหมายันคือ 270 องศา เมื่อการหมุนควงของโลกทำให้ตำแหน่งของจุดวสันตวิษุวัตเคลื่อนไปตามสุริยวิถี ค่าของลองจิจูดสุริยวิถีจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ระบบพิกัดสุริยวิถีเป็นพิกัดสัมพัทธ์กับระนาบการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก ดังนั้นจึงมักใช้เพื่อแสดงการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะ
ศูนย์กลางของระบบพิกัด
[แก้]ศูนย์กลางของระบบพิกัดสุริยวิถีอาจอยู่ที่โลกหรือที่ดวงอาทิตย์ก็ได้[3] ระบบพิกัดสุริยวิถีเมื่อมองจากบนโลกเรียกว่าระบบพิกัดสุริยวิถีแบบโลกเป็นศูนย์กลาง (geocentric) และพิกัดสุริยวิถีเมื่อมองจากดวงอาทิตย์เรียกว่า ระบบพิกัดสุริยวิถีแบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง (heliocentric)
พิกัดสุริยวิถีของวัตถุท้องฟ้าที่เห็นจากพื้นโลกและพิกัดสุริยวิถีของวัตถุท้องฟ้าที่เห็นจากดวงอาทิตย์จะมีความต่างกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นในกรณีของจันทร์แรม ดวงจันทร์ในข้างแรมนั้นจะอยู่ในตำแหน่งระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ แต่ตำแหน่งที่ของดวงจันทร์บนทรงกลมท้องฟ้าเมื่อมองจากโลกและตำแหน่งของดวงจันทร์บนทรงกลมท้องฟ้าเมื่อมองจากดวงอาทิตย์นั้นจะอยู่ตรงข้ามกัน 180 องศา
ดังนั้นแล้ว เมื่อแสดงวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะด้วยพิกัดสุริยวิถี จึงจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่าพิกัดสุริยวิถีมองจากโลกหรือดวงอาทิตย์ ระบบพิกัดสุริยวิถีแบบโลกเป็นศูนย์กลางมักใช้เพื่ออธิบายตำแหน่งของดาวเทียมที่โคจรรอบโลก ในขณะที่พิกัดสุริยวิถีแบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางมักใช้เพื่ออธิบายตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าเช่นดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง รวมถึงดาวเคราะห์เทียม ที่หมุนรอบดวงอาทิตย์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Explanatory Supplement (1961), pp. 20, 28
- ↑ U.S. Naval Observatory, Nautical Almanac Office (1992). P. Kenneth Seidelmann (บ.ก.). Explanatory Supplement to the Astronomical Almanac. University Science Books, Mill Valley, CA (reprint 2005). pp. 11–13. ISBN 1-891389-45-9.
- ↑ Nautical Almanac Office, U.S. Naval Observatory; H.M. Nautical Almanac Office, Royal Greenwich Observatory (1961). Explanatory Supplement to the Astronomical Ephemeris and the American Ephemeris and Nautical Almanac. H.M. Stationery Office, London (reprint 1974). pp. 24–27.