ภีมะ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ภีมะ | |
---|---|
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
คู่สมรส | พระนางเทราปตี นางหิฑิมพี นางวลันธรา |
บุตร | ฆโฎตกัจ (เกิดจากนางหิฑิมพี) ศรุตโสม (เกิดจากพระนางเทราปตี) สรรวัท (เกิดจากนางวลันธรา) |
ภีมะ (สันสกฤต: भीम) เป็นโอรสที่เกิดจากพรของพระพายและเป็นน้องชายต่างมารดาของหนุมาน ซึ่งเกิดวัน เดือน และปีเดียวกับทุรโยธน์ เป็นศิษย์ของพระพลรามผู้เป็นพี่ชายของพระกฤษณะ วันสุดท้ายของสงครามได้ตีหน้าตักของทุรโยธน์แหลกเป็นเสี่ยงตามคำสาบานของภีมะเอง และที่ฤๅษีไมเตรยะเคยสาปไว้ด้วย
ชื่อต่างๆของภีมะ
[แก้]ชื่อ ภีมะ (भीम) แปลว่า ผู้ที่น่ากลัว ส่วนชื่อ ภีมเสน (भीमसेन) แปลว่า นักรบผู้น่ากลัว นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่นๆอีก ได้แก่
- วฤโกทร (वृकोदर) แปลว่า ผู้เสวยอาหารเหมือนหมาป่า
- คทาธร (गदाधर) แปลว่า ผู้ถือคทา
- ชราสันธ์ชิต (जरासन्धजित्) แปลว่า ผู้ชนะท้าวชราสันธ์
- หิฑิมพะภิท (हिडिम्बभिद्) แปลว่า ผู้สังหารากษสหิฑิมพะ
- กิจกะชิต (कीचकजित्) แปลว่า ผู้ชนะกิจกะ
- ชิห์มะโยธิน (जिह्मयोधिन्) แปลว่า นักรบผู้ต่อต้านความเท็จ
- วัลลภ (वल्लभ) แปลว่า พ่อครัว
- หัญเลารยะ (हन्यलौर्य) แปลว่า ผู้สร้างสรรค์
การถูกวางยาพิษและการท่องเมืองบาดาลใต้แม่น้ำยมุนา
[แก้]ศกุนิวางแผนการจะสังหารภีมะ โดยให้ทุรโยธน์ชวนภีมะออกไปเล่น ริมแม่น้ำยมุนา และนำอาหารผสมยาพิษให้ภีมะกิน เมื่อภีมะสลบก็ถูกผลักลงแม่น้ำยมุนา ภีมะจมลงไปถึงเมืองบาดาลของวาสุกรีนาคราช พระพายขอให้วาสุกรีถอนพิษให้ภีมะ เมื่อภีมะฟื้นขึ้นมา วาสุกรีนาคราชก็ให้ภีมะดื่มน้ำอมฤต ถึง 8 เหยือก ทำให้ภีมะ มีพละกำลังมหาศาลเท่ากับช้างหมื่นเชือก และพาภีมะกลับมาส่งคืนให้พระนางกุนตี เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในตอนวัยเยาว์ของภีมะ
พระราชวังขี้ผึ้งลักษาคฤหะ
[แก้]ศกุนิ จ้างปุโรจันให้สร้างพระราชวังที่ทำจากขี้ผึ้ง ชื่อ ลักษาคฤหะ ในวรรณาพรต เพื่อเป็นที่พักของเหล่าปาณฑพ ที่ไปเที่ยวเมืองวรรณาพรต และลอบวางเพลิง ท้าววิทูรรู้ความลับนี้ และส่งคนไปบอกและขุดอุโมงค์ใต้ดินเพื่อที่จะหนี ภีมะสังหารปุโรจัน และพาพี่น้องที่เหลือและพระนางกุนตีหนีออกจากลักษาคฤหะ เข้าไปเดินดงในป่า และต้องการให้ศกุนิเข้าใจว่าพวกเขาถูกไฟคลอกตายแล้ว
ภีมะสังหารพกาสูร
[แก้]หลังหนีออกจากลักษาคฤหะ เหล่าปาณฑพและพระนางกุนตี เดินดงมาจนถึงป่าชายแดนเมืองเอกจักร พบรากษสชื่อ พกาสูร ซึ่งเที่ยวจับชาวบ้านริมชายแดนกินเป็นอาหาร ภีมะอาสาที่จะปราบพกาสูร เมื่อพบกับพกาสูร ภีมะรบกับพกาสูร และใช้ท่อนซุงฟาดพกาสูรจนตาย
ภีมะสังหารหิฑิมพะ และแต่งงานกับนางหิฑิมพี
[แก้]เมื่อเดินดงต่อไปไปพบรากษสหิฑิมพะ ภีมะต่อสู้กับหิฑิมพะและสังหารเขาจนตาย นางหิฑิมพีตกหลุมรักภีมะ และแต่งงานกับภีมะ มีบุตรด้วยกันชื่อ ฆโฎตกัจ หลังจากนั้นเหล่าปาณฑพและพระนางกุนตีเดินทางออกจากป่า ภีษมะมาพบเข้าและพากลับกรุงหัสตินาปุระ
พิธีราชสูยะของยุธิษฐิระและการสังหารท้าวชราสันธ์
[แก้]หลังจากการสร้างกรุงอินทรปรัสถ์ ยุธิษฐิระทำพิธีราชสูยะ เพื่อจะขึ้นครองราชย์ แต่พระกฤษณะแนะนำว่าควรทำลายอิทธิพลของท้าวชราสันธ์และให้ภีมะสังหารพระองค์ พระกฤษณะ ภีมะ และ อรชุน ปลอมตัวเป็นพราหมณ์ เดินทางไปแคว้นมคธ ท้าทายท้าวชราสันธ์ให้มาต่อสู้มวยปล้ำ ภีมะฉีกร่างท้าวชราสันธ์จนขาดครึ่งและโยนออกไปคนละทิศคนละทาง หลังจากท้าวชราสันธ์ตาย บุตรทั้งสองคนของท้าวชราสันธ์ คือ ท้าวสหเทพ และ ชยัตเสน แตกคอกันและแบ่งแยกแคว้นมคธ ท้าวสหเทพไปเข้ากับฝ่ายปาณฑพ พระกฤษณะตั้งให้เขาเป็นพระราชาแคว้นมคธ ส่วนชยัตเสนไม่พอใจที่พี่ชายไปเข้ากับศัตรู เขาจึงไปเข้ากับฝ่ายเการพ
การถูกเนรเทศ 13 ปี
[แก้]หลังแพ้พนันสกา พวกพี่น้องปาณฑพและพระนางเทราปตี ออกเดินป่าโดยการนำของฤๅษีพฤหทัศวะ เข้าสู่ป่ากัมยกะ
ภีมะสังหารกิรมีระ
[แก้]กิรมีระ พี่ชายของพกาสูร และยังเป็นเพื่อนของหิฑิมพะ เขาอาศัยอยู่ในป่ากัมยกะ เขาต้องการแก้แค้นภีมะ เมื่อพบกับภีมะ และสู้รบกัน เขากลับถูกภีมะสังหารจนกระอักเลือดตาย
ภีมะค้นหาดอกบัวเสาคันธิกะ
[แก้]วันหนึ่งพระนางเทราปที ได้กลิ่นดอกบัวทิพย์ ชื่อ เสาคันธิกะ นางต้องการดอกบัวนั้น จึงขอร้องให้ภีมะค้นหาดอกบัวนั้น เขาค้นหาไปจนถึงสระแห่งหนึ่ง ใกล้วังของท้าวกุเวร เขาสังหารรากษสผู้เฝ้าสระ 2 ตน คือ โกรธาวสะ และ มณีมาน หลังสังหารรากษสทั้งสอง ท้าวกุเวรก็ยอมมอบดอกบัวให้กับภีมะ
ภีมะพบหนุมาน
[แก้]วันหนึ่ง ภีมะเดินทางเข้าไปหาของป่า พบลิงแก่ตัวหนึ่งนอนขวางทางอยู่ และท้าทายให้ยกหางมันให้ขึ้น ภีมะทำอย่างไรก็ยกไม่ขึ้น จึงยอมแพ้ ลิงแก่กลายร่างเป็นหนุมาน และให้พรภีมะว่า ตนจะช่วยเหลือฝ่ายปาณฑพในการรบ ด้วยการไปสถิตในธงรถศึกของอรชุน แล้วกล่าวว่า ที่ใดมีธงรูปหนุมาน ที่นั้นจะประสบชัยชนะ
ภีมะสังหารชฎาสูร
[แก้]วันหนึ่ง ภีมะออกไปล่าสัตว์ ชฎาสูร ปลอมตัวเป็นพราหมณ์ มาลักพาตัวพี่น้องปาณฑพที่เหลือและพระนางเทราปตีไป จับพวกปาณฑพขังไว้ ขโมยศาสตราวุธวิเศษ และพยายามข่มขืนพระนางเทราปตี ภีมะตามมาพบ สังหารและตัดหัวชฎาสูร
การลี้ภัยในราชสำนักท้าววิราฎ
[แก้]ภีมะ ปลอมตัวเป็นพ่อครัว ชื่อ วัลลภ ทำงานอยู่ในโรงครัวของท้าววิราฎ ในวรรณกรรมฮินดู มีสองตัวละครที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพ่อครัวมีความสามารถ คือพระนลและภีมะ ภีมะได้ชื่อว่าเป็นผู้คิดค้น Aviyal อาหารที่ขึ้นชื่อในรัฐเกรละทางภาคใต้ของอินเดีย ในระหว่างที่อาศัยในราชสำนักของท้าววิราฎ
ภีมะเอาชนะนักมวยปล้ำชิมูตะ
[แก้]ในเทศกาลสมโภชพระนครของท้าววิราฎ มีนักมวยปล้ำชื่อ ชิมูตะ เดินทางมาและเข้าแข่งขันในการประลองมวยปล้ำ วัลลภ(ภีมะ)เข้าร่วมประลองและสังหารชิมูตะ สร้างชื่อเสียงให้ตนเองเป็นอย่างมาก
ภีมะสังหารกิจกะ
[แก้]กิจกะ เสนาบดีกองทัพของท้าววิราฎ น้องชายของพระนางสุเทศนา พยายามเกี้ยวพาราศี และจะข่มขืนนางไศรันทรี(พระนางเทราปตี) วัลลภ(ภีมะ)รู้เข้า ก็ลอบเข้าไปสังหารกิจกะ และฆ่าเขาด้วยมือเปล่า
ภีมะรบชนะสุศรรมา
[แก้]เมื่อทุรโยธน์รู้ว่าพวกพี่น้องปาณฑพ ลี้ภัยอยู่ในราชสำนักท้าววิราฎ จึงให้สุศรรมา กษัตริย์แคว้นตรีครรตะ ผู้เป็นพี่เขย ยกทัพหน้ามาตีแคว้นมัตสยะ ท้าววิราฎ พร้อมด้วยมหามนตรีกังกะ(ยุธิษฐิระ) วัลลภ(ภีมะ) ครันถิกะ(นกุล) ตันติบาล(สหเทพ) เข้าต่อสู้ ท้าววิราฎเพลี้ยงพล้ำเกือบถูกสุศรรมาสังหาร วัลลภเข้ามาช่วย ท้าสุศรรมาให้มารบกันด้วยกระบอง และเอาชนะสุศรรมา จิกผม กดลงกับพื้น และจับตัวมาให้ท้าววิราฎ ท้าววิราฎทรงเมตตาและให้ปล่อยตัวสุศรรมาไป
บทบาทในสงครามทุ่งกุรุเกษตร
[แก้]- ในวันที่ 2 ภีมะสังหารท้าวศรุตายุษ กษัตริย์แคว้นกาลิงคะ และบุตรทั้งสี่ของเขา คือ สักระเทพ ภานุมัต สัตยเทพ สัตยะ และเจ้าชายเกตุมัต บุตรของเอกลัพย์ และยังทำลายกองทัพช้างแคว้นกาลิงคะจนราบคาบ
- ในวันที่ 3 ภีมะรบกับทุรโยธน์ และยิงธนูใส่ทุรโยธน์จนสลบไป
- ในวันที่ 4 ภีมะรบแพ้ท้าวภาคทัตต์ แต่ได้ฆโฎตกัจ ผู้เป็นบุตรเข้ามาช่วยไว้
- ในวันที่ 5 ภีมะรบกับภีษมะ
- ในวันที่ 11 ภีมะชนะท้าวศัลยะในการรบด้วยกระบอง
- ในวันที่ 14 ภีมะรบชนะโทรณาจารย์และกฤตวรมา แต่พ่ายแพ้ต่อกรรณะ
- ในคืนวันที่ 14 ภีมะสังหารท้าวพาหลีกะ
- ในวันที่ 15 ภีมะสังหารช้างชื่อ อัศวัตถามา เพื่อหลอกโทรณาจารย์ว่า อัศวัตถามา บุตรของโทรณาจารย์ตายแล้ว
- ในวันที่ 16 ภีมะสังหารทุหศาสัน ฉีกแขนทั้งสองข้าง แหวกอกและดื่มเลือดทุหศาสัน เพื่อแก้แค้นให้พระนางเทราปตี
- ตั้งแต่วันที่ 4 - 16 เจ้าชายเการพ น้องชายของทุรโยธน์ 99 คน ถูกสังหารตายจนหมด เหลือเพียงทุรโยธน์ผู้เดียว
- ในวันที่ 18 ภีมะสังหารทุรโยธน์
ชีวิตหลังสงครามและความตาย
[แก้]หลังจากสงครามสิ้นสุด ยุธิษฐิระขึ้นเป็นพระจักรพรรดิกรุงหัสตินาปุระ และได้ปราบดาภิเษกให้ภีมะขึ้นเป็นพระมหาอุปราช 36 ปีต่อมา ราชวงศ์ยาทพสูญสลาย พระพลรามและพระกฤษณะตาย ยุธิษฐิระสละราชบัลลังก์ ให้เจ้าชายปรีกษิต และเดินทางสู่เขาหิมาลัย ทุกคนตกเขาตาย เริ่มจากพระนางเทราปตี สหเทพ นกุล อรชุน และจนกระทั่งถึงภีมะ ก่อนที่ภีมะจะตกลงไป เขาถามยุธิษฐิระว่า ทำไมเขาจึงขึ้นสวรรค์ในขณะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ยุธิษฐิระตอบว่า เพราะเจ้ามีความตะกละ และหยิ่งยโสในพละกำลังของเจ้า เจ้าจึงขึ้นสวรรค์ในขณะมีชีวิตอยู่ไม่ได้