ข้ามไปเนื้อหา

พิกุลทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิกุลทอง
ชื่ออื่นไม่ปรากฏ
กวีไม่ปรากฏ
ประเภทบทละครนอก
คำประพันธ์กลอนบทละคร
ยุคอยุธยา
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

เรื่องนางพิกุลทอง นี้เป็น ละครนอก หนึ่งใน 14 เรื่อง ที่นิยมนำมาเล่นกันมากเรื่องหนึ่งตั้งแต่ครั้ง สมัยอยุธยา ปัจจุบันยังพบว่ามีต้นฉบับหนังสือตัวเขียนที่เหลือรอดจากการถูกพม่าทำลายคราวเสียกรุง เก็บรักษาไว้อยู่ที่ หอสมุดแห่งชาติ เป็นสมุดข่อยสีขาว ตัวหมึกดำ ลายมือกึ่งบรรจงแกมหวัด ตัวอักษรไม่สม่ำเสมอและมีบันทึกว่า หมู่กลอนบทละคร ชื่อ พิกุลทอง เล่ม 1 (สำนวนเก่า) เลขที่ 20 ตู้ที่ 114 ชั้น 2/1 มัด 39 ประวัติ สมบัติเดิมของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งมีเนื้อความเริ่มตั้งแต่นางพิกุลทองสรงน้ำ จนจบตอนท้ายคือปราบนางยักษ์กาขาวและยังไม่ได้รับตรวจสอบชำระฉบับที่เหลืออื่น ๆ หรือตีพิมพ์จากกรมศิลปากร ส่วนเรื่องนางพิกุลทองต่อจากสำนวนเดิมที่เป็นการผจญภัยยืดยาวถึงรุ่นลูกนั้น มาจากกลอนอ่านสำนวนของ นายบุศย์ รจนา จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์วัดเกาะราวปี พ.ศ. 2433 ตรงกับสมัย รัชกาลที่ 5 ซึ่งนายบุศย์ผู้นี้ได้นำนิทานไทยครั้งกรุงเก่ามาแต่งสำนวนใหม่เป็น "กลอนอ่าน" หรือ กลอนสวด อยู่หลายเรื่อง เช่น แก้วหน้าม้า, จันทโครพ, สุวรรณหงส์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อสังเกตตามเนื้อเรื่อง สำนวนกลอนค่อนข้างจะรวบรัดและไม่สละสลวยเท่าใดนัก เพราะผู้แต่งคงมีจุดประสงค์เพียงไว้สำหรับเล่นละครเท่านั้น แม้การบอกเพลงหน้าพาทย์ก็ไม่ชัดเจนแน่นอน มีตอนที่กล่าวถึง พระสังข์ศิลป์ชัยและนางศรีสุพรรณ ซึ่งเป็นตัวละครจากบทละครนอกเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย พร้อมทั้งมีของวิเศษที่เหมือนกันทุกประการ อันได้แก่ สังข์ ศร และพระขรรค์ จึงสันนิษฐานว่า ผู้แต่งคงมีจุดประสงค์ดำเนินเรื่องให้เป็นภาคต่อจากเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย เพราะเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย ก็ไม่ได้กล่าวถึงการผจญภัยในรุ่นลูกไว้เลย

บทละครในสมุดไทย

[แก้]

นิทานเรื่องนางพิกุลทอง บทละครนอกที่ปรากฏในสมุดไทยแต่ครั้งสมัย กรุงศรีอยุธยา นั้นจับเรื่องตั้งแต่นางพิกุลทองสรงน้ำ จนถึงตอนนางพิกุลทองลุยไฟ ส่วนนิทานกลอนของนายบุศย์ โรงพิมพ์วัดเกาะจะแต่งเพิ่มต่อจนจบเรื่อง

"นางพิกุลทอง" เป็นธิดาของ "ท้าวสัณนุราช" กับพระมเหสี คือ "นางพิกุลจันทรา" ผู้ครองเมืองสรรพบุรี (ในสมุดไทยเขียนว่าเมือง สันทบุรี) เมื่อย่างเข้าวัยรุ่นสาว ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือว่ายากที่จะหาผู้หญิงคนใดเสมอเหมือนได้ ซึ่งนอกจากเวลาพูดกับใครจะมีดอกพิกุลทองร่วงจากปาก แล้วยังมีเส้นผมที่หอมอีกด้วย วันหนึ่งนางพิกุลทองเกิดร้อนรุ่มกลุ้มอุรา จึงได้ลาท้าวสัณนุราชไปเล่นน้ำกับพระพี่เลี้ยงในลำธาร ท้าวสัณนุราชจึงให้วางตาข่ายและทุ่นไว้รอบท่าน้ำ เพราะโหรทำนายว่านางจะต้องพลัดพรากจากเมือง

จะกล่าวถึงพญาแร้งชื่อว่า "ท้าวสุบรรณปักษา" บินมาเห็นซากสุนัขเน่าจึงโฉบนำกลับไปจิกกินลอยมาใกล้บริเวณที่นางพิกุลทองกับพี่เลี้ยงเล่นน้ำอยู่ นางพิกุลทองได้กลิ่นเหม็นเน่าจึงใช้ให้พี่เลี้ยงไปดูก็พบพญาแร้งกำลังกินซากนั้นอยู่จึงได้พากันด่าว่าแล้วขับไล่ด้วยคำหยาบช้าต่าง ๆ นานา ฝ่ายท้าวปักษาก็โกรธจัดกล่าวว่า สุนัขเน่านี้ คือ อาหารของตนอยู่แล้ว นางพิกุลทองเป็นลูกเจ้าท้าวพระยาไม่น่ามากล่าวเจรจาด่าว่าขับไล่ตนเช่นนี้ว่าแล้วก็บินหนีไป แต่ท้าวปักษีก็ยังคิดจะแก้แค้นนางพิกุลทองให้ได้จึงออกอุบายแปลงกายเป็นหนุ่มรูปงามไปขออาศัยอยู่ที่กระท่อมท้ายสวนขวัญของเมืองสรรพบุรี แล้วคอยเนรมิตทองคำให้ 2 ตายายใช้จนร่ำรวย โดยบอกว่าตนไปพบตอนขุดเผือกมัน อยู่มาวันหนึ่งจึงรบเร้าขอให้ 2 ตายายเข้าไปสู่ขอนางพิกุลทองมาเป็นภรรยา 2 ตายายฟังแล้วหัวใจแทบวายกล่าวว่าคิดเกินตัวอย่างนี้จะถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร ท้าวปักษาแปลงจึงแสร้งทำเป็นตรอมใจใกล้ตาย 2 ตายายจึงจำใจเข้าไปทูลสู่ขอนางพิกุลทองจากท้าวสัณนุราชได้ทราบความดังกล่าวก็กริ้วจัด กล่าวว่าถ้าคิดว่าหลานชายมีบุญวาสนาจะได้คู่กับนางจริงใกล้สร้างสะพานเงินสะพานทองจากท้ายสวนมาถึงพระราชวังภายใน 3 วันมิเช่นนั้นจะประหารทั้งโคตร 2 ตายายหลังจากกลับมาถึงบ้านแล้วก็นั่งซึม เอาแต่ร้องไห้แล้วต่อว่าท้าวปักษาที่หาเรื่องเดือดร้อนมาให้ตน ครั้นท้าวปักษาได้ทราบเรื่องต้องสร้างสะพานทองแล้วจึงกล่าวปลอบใจว่าถ้าตนทำไม่เสร็จจะยอมตายแทน 2 ตายายจึงค่อยโล่งใจบ้าง พอตกค่ำท้าวปักษาก็บอกว่าจะขอออกไปทำธุระข้างนอกจากนั้นก็แปลงเป็นพญาแร้งขนาดมหึมาบินกลับไปยังเขานินทะกาลา แล้วเกณฑ์ไพร่พลทั้งหลายให้มาช่วยสร้างสะพานจนแล้วเสร็จ

ครั้นรุ่งเช้า ท้าวสัณนุราชกับพระมเหสีมองออกไปเห็นสะพานเงินสะพานทองเป็นอัศจรรย์ เสร็จตามข้อตกลงดังกล่าวจึงคิดว่ามาณพผู้นี้คงจะมีบุญ แล้วจัดอภิเษกสมรสนางพิกุลทองให้กับท้าวปักษาและนางพิกุลทอง ซึ่งตลอดเวลาเมื่ออยู่ใกล้กันนางพิกุลทองก็ได้กลิ่นสาบแร้งจนเวียนหัวบ่นว่าต่าง ๆ นานา ส่วนท้าวปักษาก็มิอาจจะเข้าใกล้สมัครสังวาสได้ เพราะไม่ได้นึกรัก ประกอบกับเทวดาดลใจ คงมีแต่ความแค้นที่นางเคยด่าว่า

ครั้นอยู่มาได้ 3 วัน ท้าวปักษาจึงออกอุบายว่าจะชวนนางกลับไปกราบบิดามารดาของตน จากนั้นก็พากันลงเรือสำเภา 500 ลำล่องไปได้ 3 เดือน ก็มาถึงหาดแก้วพยัคฆีหน้าเมือง ท้าวปักษาจึงให้นางรออยู่ในเรือเพื่อจะขึ้นไปแจ้งให้บิดามารดาตนทราบก่อน แท้ที่จริงท้าวปักษากลับไปเกณฑ์บริเวณนกแร้งทั้งหลายให้มากินคนบนเรือเสียให้หายแค้น ส่วนนางพิกุลทองนั้นตนจะจัดการกินเองห้ามนกตัวไหนแตะต้องมีโทษถึงตาย ฝูงนกก็ดีใจพากันบินมาจับไพร่พลบนเรือกินเสียหมดทั้ง 500 ลำ ส่วนนางพิกุลทองนั้นได้รับความช่วยเหลือจาก แม่ย่านาง วิญญาณประจำเรือ รู้ว่าพญาแร้งคิดไม่ซื่อ จึงเนรมิตห้องคูหาแล้วนำนางพิกุลทองไปซ่อนไว้ในปลายเสากระโดงเรือ พญาแร้งโกรธมากด่าว่าลูกน้องไม่เชื่อฟังหาว่ากินไม่ดูตามาตาเรือดันไปกินเอานางพิกุลทองไปด้วยแล้วก็พากันบินกลับไป แต่กระนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่านางตายจริง ก็จึงให้บริวารบางส่วนคอยเฝ้าดูเรือไว้

ฝ่ายแม่ย่านางครั้นเห็นพญาแร้งกับบริวารบินกลับไปหมดแล้ว จึงได้พานางพิกุลทองออกมาจากที่ซ่อนเพื่อสรงน้ำ เส้นผมของนางที่ไม่เคยหลุดร่วงเลย ก็ร่วงลงมา นางสงสัยว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น นางจึงเสี่ยงทายเสยเอาเส้นผม และดอกพิกุลทองใส่ผอบพร้อมจารึกชื่อ และเรื่องราวลงไปด้วยเพื่อหาผู้มีบุญมาช่วยเหลือ ผอบทองลอยไปจนถึง "เมืองพรหมกุฏปัญจาละ" ซึ่งมี "พระสังข์ศิลป์ชัย" และ "นางสุพรรณ" ปกครอง มีพระโอรสเก่งกล้าองค์หนึ่งชื่อ "พระพิชัยมงกุฏ" (ในฉบับตัวเขียนว่าชื่อ "พระพิไชยวงศ์กุฏ") ขณะนั้นทั้ง 3 กษัตริย์ได้มาสรงน้ำที่ท่าน้ำนอกเมือง เห็นผอบทองลอยทวนน้ำมา พระพิชัยมงกุฏจึงเสี่ยงพระสังข์วิเศษไปกล่าวว่าถ้ามาดีให้ช้อนขึ้นมา ถ้ามาร้ายให้สังข์วิเศษทำลายเสีย ปรากฏว่าสังข์ก็ไปช้อนผอบขึ้นมา เมื่อเปิดข้อความดูเห็นเส้นผม, ดอกพิกุล และจารึกเรื่องราวก็ถึงกับหลงไหลกินไม่ได้นอนไม่หลับ พระสังข์ศิลป์ชัยได้ทราบอาการก็ตกพระทัย พระพิชัยมงกุฏจึงขอลาไปตามหานางพิกุลทอง จึงโปรดให้สังข์ ศร และพระขรรค์วิเศษไปป้องกันตัวและให้จัดแต่งเรือสำเภาพร้อมไพร่พลไปตามประสงค์ กองเรือแล่นมาหลายวันจนกระทั่งถึงเกาะใหญ่กลางทะเล ซึ่งเป็นเขตของ "นางยักษ์กาขาว" ซึ่งลอบเข้ามาในเรือด้วยความสงสัย ครั้นเห็นพระพิชัยมงกุฏรูปร่างสง่างามก็หลงรัก จึงแอบอุ้มพาไปขณะหลับ แล้วเนรมิตเมืองขึ้นบนเกาะแล้วแปลงเป็นหญิงสาวอยู่ในเมืองนั้น ครั้นพระพิชัยมงกุฏตื่นมาเห็นบ้านเมืองกับหญิงงามก็เข้าใจว่าเป็นนางพิกุลทอง จึงเกี้ยวนางจนได้เป็นภรรยา แต่ยังสงสัยว่าได้กลิ่นสาปสาง, ผมไม่หอมของนางยักษ์กาขาว ตกดึกเทพารักษ์จึงได้มาบอกให้รีบหนีไปเพราะนางเป็นยักษ์แปลงมาแล้วบอกทางให้แล่นเรือไปทางตะวันออก 3 วันก็จะถึงหาดแก้วพยัคฆี ครั้นพระพิชัยมงกุฏเดินทางมาถึงเห็นกองเรือร้างจอดอยู่ จึงให้ไปค้นเรือทุกลำก็พบแต่กระดูก ฝ่ายนางพิกุลทองได้ยินเสียงจึงลาแม่ย่านางออกมาจากเสากระโดงเรือและเข้าพบกับพระพิชัยมงกุฏด้วยความยินดี

(โอด) เมื่อนั้น พระไชยวงศ์กุฏเห็นนางเร่งหรรษา
เห็นนางทรงโศกโศกา หอมเส้นเกศาตระลบไป
พิกุลทองตกลงจากโอษฐ์ ให้โปรดพิศวงหลงใหล
ยอกรฟักฟูมเข้าอุ้มไว้ ฟังพี่อย่าได้โศกา
พี่ได้ผอบมาติดตาม ประสบสมดังความปรารถนา
ขอเชิญนงเยาเล่ากิจจา แรกเริ่มเดิมมาประการใด

ขณะนั้นบริวารของพญาแร้งเห็นผู้คนมาเอะอะวุ่นวายจึงรีบบินไปบอกแก่ท้าวปักษา กล่าวว่าชะรอยนางพิกุลทองจะยังไม่ตาย ท้าวปักษาจึงรีบพาบริวารมาทันที ครั้นเห็นนางพิกุลทองหลบอยู่กับพระพิชัยมงกุฏก็เจรจาตอบโต้อยู่พักหนึ่งแล้วทำการรบกัน พระพิชัยมงกุฏจึงแผลงศรวิเศษไปถูกอกท้าวปักษาตายกลางอากาศพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ครั้นเสร็จศึกแล้ว จึงพานางพิกุลทองกลับไปยังบ้านเมืองของตนต่อไป ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ครั้นตื่นขึ้นมาไม่เห็นพระพิชัยมงกุฏ จึงคว้ากระบองออกไล่ติดตามไปถึงเมืองพรหมกุฏปัญจาละ แต่เกรงอำนาจจึงเข้าเมืองไม่ได้ ก็ซ่อนตัวอยู่ที่ต้นไทรในสวน

หลังจากพิธีอภิเษกสมรสแล้ว ต่อมานางพิกุลทองก็ประสูติพระโอรส 2 พระองค์ คนพี่มีนามว่า "พระลักษณา" ส่วนโอรสองค์รองนามว่า "พระยมยศ" อยู่มาวันหนึ่งทั้ง 4 กษัตริย์ก็เสด็จประพาสที่บึงบัวเพื่อเก็บบัวมาบูชาพระปฏิมา ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ครั้นรู้ว่าพระพิชัยมงกุฏได้อภิเษกกับนางพิกุลทองแล้ว ก็ให้เคียดแค้นเป็นยิ่งนักหมายจะทำร้ายนางพิกุลทองเสียให้หายแค้น จึงแปลงร่างเป็นดอกบัวทองอยู่ใต้น้ำ ครั้นเรือผ่านมานางพิกุลทองเห็นเข้าก็ประหลาดใจในความงามจึงเอื้อมมือลงไปเด็ด นางยักษ์กาขาวได้ทีจึงฉุดนางพิกุลทองลงไปใต้น้ำแล้วสาปให้กลายร่างเป็นนางชะนีพิกุลทอง จะพ้นสาปได้ก็ต่อเมื่อนำเลือดของนางยักษ์กาขาวมาชโลมตัว ส่วนนางยักษ์กาขาวก็จดจำและแปลงร่างเป็นนางพิกุลทองแทน ครั้นพระพิชัยมงกุฏช่วยฉุดขึ้นมาครั้งแรกเป็นนางยักษ์กาขาวแปลง นางยักษ์กาขาวก็รีบเป่ามนต์สะกดใส่พระพิชัยมงกุฏให้หลงไหลและอยู่ภายใต้อำนาจ พระรักและพระยมก็ร้องไห้บอกว่าไม่ใช่คุณแม่ของตน แต่เมื่อเห็นนางชะนีพิกุลทองผุดขึ้นมาจากน้ำกลับร้องว่าเป็นคุณแม่และไม่ยอมกลับวัง พระพิชัยมงกุฏด้วยมนต์สะกดของนางยักษ์กาขาวจึงกริ้วขับไล่ให้ไปอยู่กับนางชะนีพิกุลทองในป่า แล้วพระองค์ก็พานางยักษ์กาขาวแปลงกลับเข้าวัง 2 พี่น้องร้องไห้หาคุณแม่จนหิว แต่นางชะนีพิกุลทองก็กำลังคลุ้มคลั่งด้วยมนต์ของนางยักษ์กาขาว คอยแต่จะหนีเข้าป่าท่าเดียว

(เพลง) เมื่อนั้น พระกุมารอุ้มน้องแล้วร้องไห้
ค่อยลอดลัดตัดเดินดำเนินไป ถึงที่ต้นไทรพระมารดา
จึงร้องเรียกอยู่แจ้วแจ้ว ลูกมาถึงแล้วพระแม่ขา
ลงมาส่งนมพระลูกยา น้องข้าอยากนมเป็นเหลือใจ
แม่เจ้าประคุณของลูกเอ๋ย กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้
ทูลหัวนั่งนิ่งบนกิ่งไม้ ไขหูเสียใยไม่นำพา
ร้องเรียกมารดาขึ้นไปเล่า แม่เจ้าประคุณลูกมาหา
น้องยมอยากนมพ้นปัญญา ส่งนมลูกเถิดราแม่ดวงใจ

พอมีสติขึ้นบ้างก็เล่าเรื่องให้ลูกฟังแล้วให้เก็บดอกพิกุลทองที่หล่นออกมาเอาไปขายเพื่อซื้อข้าวกิน ครั้นนางวิเสทชาววังออกมาเห็นก็พา 2 พระโอรสเข้าไปในเมืองแล้วกราบทูลให้พระสังข์ศิลป์ชัยทราบ 2 พี่น้องจึงเล่าเหตุการณ์นางยักษ์กาขาวแปลงให้พระอัยกาฟัง พระสังข์ศิลป์ชัยและพระมเหสีถึงกับกริ้วจัด ตรัสให้เรียกพระพิชัยมงกุฏเข้าเฝ้าแล้วสอบสวนเรื่องนางพิกุลทอง นางยักษ์กาขาวแปลงก็พูดตลบแตลงวกวนไปมา พระนางสุพรรณจึงกระซิบให้พระพิชัยมงกุฏดูอาการของนางยักษ์กาขาวที่ไม่มีแววตาและไม่มีดอกพิกุลทองร่วงจากปาก แล้วออกอุบายให้พระโอรสบอกกับนางยักษ์กาขาวแปลงว่าจะออกไปคล้องช้างเผือก ครั้นพระพิชัยมงกุฏ พระลักษณา และพระยมยศเข้าไปทำจั่นจนดักได้ตัวนางชะนีพิกุลทอง เมื่อเห็นพระพิชัยมงกุฏก็ร้องเรียก "ผัว ๆ" จนถามนางชะนีได้ความว่าต้องฆ่านางยักษ์กาขาวแล้วเอาเลือดมารดก็จะหายเป็นปกติ ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ซึ่งลอบเห็นเหตุการณ์รู้ว่าความแตกจึงกลับคืนร่างเดิมออกอาละวาด แต่ถูกพระพิชัยมงกุฏสังหารนางยักษ์ แล้วรองเอาเลือดมารดนางพิกุลทองจนกลับร่างเป็นมนุษย์ตามเดิม

ต่อมานางพิกุลทองก็จะกลับไปเยี่ยมท้าวสัณนุราชที่เมืองสรรพบุรี จึงล่องเรือสำเภาไปในทะเลได้ 7 ราตรี "นางยักษ์กาสุวรรณ" ซึ่งเป็นน้องสาวของนางยักษ์กาขาว ทราบข่าวว่า พี่สาวตนถูกพระพิชัยมงกุฏฆ่าตายก็แค้นใจตามมาอาละวาดจนเรือแตกผู้คนตายหมด จน 4 กษัตริย์พลัดพรากจากกัน โดยที่เทวดาบังตาไว้ไม่ให้นางยักษ์กาสุวรรณเห็นกษัตริย์ทั้ง 4 องค์นางพิกุลทองถูกน้ำซัดไปอีกทางหนึ่ง "พระสมุทรเทวา" เกิดความสงสารจึงเนรมิตขอนไม้ใหญ่ให้นางเกาะมาจนกระทั่งชายหาด "เมืองเวฬุจักร" นางจึงถอดแหวนเสี่ยงทายว่าหากโอรสและภัสดาตายแล้วก็ให้แหวนจม ปรากฏว่าแหวนลอยขึ้นนางจึงค่อยโล่งใจขึ้นบ้าง จึงฉีกชายผ้าสไบเขียนบอกเรื่องราวผูกไว้ที่พระไทรแล้วฝากกราบพระไทรให้ช่วยบอกทางหากสามีมาพบ นางพิกุลทองเดินซัดเซพเนจรไปในป่าจนเข้ามาในเขตเมืองเวรุจักร ซึ่งมี "พญายักษ์วิรุณจักร" ปกครองอยู่นางก็หลับอยู่ในศาลาหน้าเมือง ท้าววิรุณจักรมาพบเข้าก็เกี้ยวพาราสี นางพิกุลทองก็ว่าตนมีสามีและลูกแล้ว แต่พญายักษ์กลับไม่ฟังเสียงบังคับนางขึ้นรถพาเข้าไปในวัง ท้าววิรุณจักรก็เพียรพยายามเกี้ยวพาราสีนางพิกุลทอง แต่นางไม่ยอมซ้ำกลับต่อว่าเปรียบเปรยต่าง ๆ นานา ท้าววิรุณจักรโกรธมากจึงใช้พระขรรค์ฟันนาง แต่ด้วยสัจจบารมีที่นางซื่อสัตย์ต่อสามี ทำให้พระขรรค์หักเป็น 2 เสี่ยง เมื่อท้าววิรุณจักรไม่สามารถทำอันตรายแก่นางได้ จึงขับไล่ให้เป็นทาสรับใช้อยู่ในครัว

ฝ่าย 3 พ่อลูกครั้นเรือแตกแล้ว พระพิชัยมงกุฏจึงขว้างสังข์วิเศษไปสังหารนางยักษ์กาสุวรรณจนสิ้นชีพ แล้วเนรมิตขึ้นขี่สังข์ออกตามหานางพิกุลทอง จนพบชายผ้าสไบที่นางผูกไว้ พระไทรจึงปรากฏกายแล้วชี้ทางให้ไปทางทิศตะวันออก จึงพากันเดินไปตามทางพบอาศรมพระฤๅษี ก็ตรวจดวงชะตาว่าพระพิชัยมงกุฏนั้นจะได้ชายาอีก 1 คน ส่วนนางพิกุลทองนั้นพอครบ 1 เดือนจึงพ้นเคราะห์กรรม แล้วพระดาบสจึงสั่งสอนวิชาเหาะเหินเดินอากาศให้ พร้อมทั้งมอบแหวนเนาวรัตน์กายสิทธิ์และพระขรรค์แก้ว ให้กับพระพิชัยมงกุฏเพื่อนำไปต่อสู้กับยักษ์ ทั้ง 3 ก็กราบลาพระฤๅษี แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองวิรุณจักร จึงพากันแปลงกายเป็นนกขุนทองบินเข้าไปในสวนขวัญเพื่อสืบเรื่องราว

จะกล่าวถึงท้าววิรุณจักรมีธิดาโสภาอันเกิดแต่นางมนุษย์อยู่องค์หนึ่งชื่อว่า "นางอรุณวดี" อยู่มาคืนหนึ่งกลับฝันเห็นพญานาค 7 เศียรเลื้อยเวียนรอบปราสาทแล้วเข้ารัดนาง ครั้นตื่นขึ้นจึงปรึกษานางยักษ์พี่เลี้ยง ก็ทำนายว่าสงสัยจะได้คู่ ทำเอานางร้อนรุ่มกล้มอุราจึงพากันไปลงเที่ยวชมสวนพบกับนกสาริกา 3 พ่อลูกคุยกันอยู่ จึงใช้ให้พวกยักษ์จับเข้าไปเลี้ยงในวัง ครั้นตกดึก พระพิชัยมงกุฏจึงแปลงกลับเป็นคนดังเดิม แล้วลอบเข้าหานางอรุณวดีจนได้นางเป็นชายา

ความแตกเมื่อนางกำนัลมาพบเข้าในตอนรุ่งเช้า จึงรีบไปทูลบอกแก่ท้าววิรุณจักร กริ้วโกรธดั่งไฟบรรลัยกัลป์ ตรัสสั่งให้โอรสองค์รองชื่อ "กุมภัณฑสูร" ไปจับ แต่ก็ถูก 2 กุมารฆ่าตาย ท้าววิรุณจักรก็ยิ่งแค้นว่าต้องมาแพ้เด็กเมื่อวานซืน ครั้นจะสู้เองพระมเหสีก็ห้ามว่าท่าทางศัตรูจะมีฤทธิ์มากควรมีหนังสือไปบอกให้สหายคือ "ท้าวกัมพลนาค" ที่เมืองบาดาลกับ "ท้าวหัศจักร" มาช่วยรบดีกว่า ครั้นทั้ง 2 มาถึง ท้าววิรุณจักรก็ให้แต่งทัพออกสู้รบกับพระพิชัยมงกุฏ แต่ก็ถูกพระขรรค์ฟันเสียเป็นแผลหลายแห่งก็แค้นใจ จึงกลับร่างพญานาค 7 เศียรใหญ่พ่นพิษหมายจะให้ตาย พระพิชัยมงกุฏจึงถอดแหวนเนาวรัตน์ที่พระดาบสให้มาขว้างออกไปเป็นพญาครุฑไล่จิกตีท้าวกัมพลนาคจนต้องซมซานหนีลงไปบาดาล ต่อมาท้าวหัสจักรออกรบก็ถูก 2 กุมารฆ่าตายด้วยพระขรรค์แก้ว ฝ่ายท้าววิรุณจักรก็ถูกพระพิชัยมงกุฏยิงด้วยศรวิเศษเสียบอกตายกลางสนามรบ พวกยักษ์ที่เหลือก็พากันครั่นคร้ามไม่กล้าต่อกรด้วย แล้วทูลเชิญให้ขึ้นครองเมือง พระพิชัยมงกุฏจึงให้จัดการถวายพระเพลิงท้าววิรุณจักรตามราชประเพณี

ฝ่ายนางพิกุลทองครั้นทราบว่าผู้ปราบท้าววิรุณจักรได้คือสวามีและพระโอรสก็ยินดี ครั้นเวลานำอาหารถวายนางก็รับอาสาเพราะยักษ์ทำอาหารมนุษย์ไม่เป็น แล้วใส่พิกุลทองลงไปในเครื่องเสวยด้วย 3 พ่อลูกเห็นดอกพิกุลทองก็จำได้จึงให้ไปเรียกคนครัวขึ้นมา เมื่อพบหน้ากันแล้วทั้ง 4 ก็ร้องไห้กันจนสลบ ครั้นฟื้นขึ้นแล้วจึงให้นางพิกุลทองไปทรงเครื่องอย่างนางกษัตริย์ แล้วเรียกนางอรุณวดีมาทำความรู้จัก ฝ่ายนางอรุณวดีนั้นถือตนว่าเป็นลูกเจ้าท้าวกษัตริย์บวกกับความหึงหวงจึงค่อนแคะนางพิกุลทองในทำนองว่า เป็นเมียน้อยบิดาตนมาแล้วกลายเป็นคนครัว คิดจะเป็นนางกษัตริย์เสมอตนมิรู้จักเจียมตัวบ้าง

ฝ่ายนางพิกุลทองครั้นได้ยินดังนี้ก็ให้เจ็บใจ จึงเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วขอพิสูจน์ด้วยการลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ พระอินทร์จึงเอาน้ำอมฤตมาพรมดับไฟ ส่วนนางอรุณวดีลุยไฟแล้วทนร้อนไม่ได้ จึงถูกพระพิชัยมงกุฏลงโทษและให้ขอโทษนางพิกุลทอง นางอรุณวดีเสียใจมากจะผูกคอตาย แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือ ในที่สุดก็ยอมยกมือไหว้นางพิกุลทองในฐานะเมียหลวง และทั้งหมดก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่เมืองเวฬุจักรนับตั้งแต่บัดนั้น

ละครโทรทัศน์

[แก้]
ปี พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2554 พ.ศ. 2565
สถานีออกอากาศ ช่อง 7
ผลิตโดย สามเศียร
บทโทรทัศน์ แก้วกัลยาณี วิลิศมาหรา
กำกับการแสดง คูณฉกาจ วรสิทธิ์
จำนวนตอน 19 45 59 51
ชื่อเรื่อง พิกุลทอง เจ้าหญิงพิกุลทอง
เจ้าหญิงพิกุลทอง / เจ้าหญิงทิพย์เกสร (พิกุล) เยาวเรศ นิสากร ปิยะดา เพ็ญจินดา มาติกา อรรถกรศิริโพธิ์ สุทัศสรณ์ สัจจะภูริภูมิ เกศรินทร์ น้อยผึ้ง
เจ้าชายพิชัยมงกุฎ ศุภชัย เธียรอนันต์ ไชยา มิตรชัย อิทธิกร ท่าจีน กฤชสร เปรมปรีดิ์
อภิธาน สุรศักดิ์ สุวรรณวงษ์
กัญญา เนตรนภา ศรีดาหลง
วโรดม สุพศิน แสงรัตนทองคำ
อโณทัย ธนศักดิ์ จิตตพงษ์
เจ้าหญิงเกษรา (2554)
ชมนาด (2565)
นภิศา ป้อมเสน ชนุชตรา สุขสันต์
นางยักษ์กาขาว กานต์มณี ลือชัยสกุลฤทธิ์ จารุศิริ ภูวนัย ภัทรภร สนธิภักดิ์
นางยักษ์กาสุวรรณ (2554)
นางยักษ์กานิล (2565)
บุศยรินทร์ จันทนิยามานนท์ นิรดา เจษฎาปริยากุล
ยักษ์สุรกาย สุรพล ไพรวัลย์
พญานาค ฉัตรมงคล บำเพ็ญ
พญาสุบรรณปักษา (2531/2545/2565)
พญาเวฬุราช (2554)
ทิชานนท์ นิลตระการ (เสียชีวิตระหว่างถ่ายทำ)[1]
ชินดำ กังสดาน (แทน)
ชมวิชัย เมฆสุวรรณ ชาลี กรรณสูต (ร่างจริง)
เหมวัต ชำนาญยง (ร่างแปลง)
เจ้าหญิงชบาทอง (ชบา) บุศรา เบญจวัฒน์ ตวงรัตน์ คะชะสะ อัญรส ปุณณโกศล
อังกาบ ปิ่นทิพย์ อรชร
ท้าวยศกานต์ (2545/2554)
ท้าวสัณนุราช (2531/2565)
คณธร ฟักทองผล อัมรินทร์ สิมะโรจน์ ณ พบ ประสบลาภ
พระมเหสีจันทรามาศ (2554)
พระมเหสีพิกุลจันทรา (2531/2545/2565)
ธัญธารีย์ โรจนเรืองไชย ครีม ธิชาชา ประถมาภรณ์ รัตนภักดี
ท้าวสังข์ศิลป์ชัย ศุภชัย เธียรอนันต์ ไพโรจน์ สังวริบุตร
พระมเหสีศรีสุพรรณ ธิดา ธีระรัตน์ กิตติยา อุ้ยตระกูล พิมพ์ภัสร์ อภิลพูลลาภ
เจ้าหญิงอรุณวดี จิตติมา กีกะแก้ว ภคมน เจริญวโรดม
ท้าววิรุณจักร ประสิทธิ์ พุฒซ้อน
หมื่นมั่นสัจจา (มั่น) สามารถ พยัคฆ์อรุณ พิพัฒน์พล โกมารทัต พอเจตน์ แก่นเพชร
หมื่นการเวกวาที (เวก) สุรจิต บุญญานนท์ ฆธาวุธ ปิ่นทอง สวีเดน ทะสานนท์
พระนมพะยอมยงค์ (พะยอม) ทัศนีย์ สีดาสมุทร สิริยา นฤนาท
แม่ย่านาง ประถมาภรณ์ รัตนภักดี กัญจน์อมล เคล้าจิตพูลสุข
พระแม่ธรณี สมหญิง จุมพิมาย ธัญธารีย์ โรจนเรืองไชย
พระแม่อัคคี สุชาลักษณ์ ศิขรินทร์ พัชรมัย สุขประเสริฐ
ลักษณา (พระลัก) ด.ช.รัศมินทร์ แอคเคอร์ ด.ช.จารุเดช จันทร์น้อย ด.ช.อคิณ ชาญสิริธรณ์
ยมยศ (พระยม) ด.ช.รักษมันท์ แอคเคอร์ ด.ช.ธีรภพ ทรงวาจา ด.ช.นิธาน วงษ์เส็ง
พิกุลทอง (วัยเด็ก) ด.ญ.ปิยะดา นามรัตน์ ด.ญ.พิชญารัตน์ เกษสำลี ด.ญ.ฟลอร่า มัสซาโร
พิชัยมงกุฎ (วัยเด็ก) ด.ช.ภานุกร วงษ์บุญมาก
ชบา (วัยเด็ก) ด.ญ.ธนารีย์ นิลตระการ ด.ญ.ปานรดา คเชนทร์นุกูล ด.ญ.ปาณิศรา กฤตติกูลภาคิน
หมื่นวัง คทาทัตก์ คุ้มแพรวพรรณ ฉัตรมงคล บำเพ็ญ
ยายเม้า ณัฐมนต์ พังเพ็ง
พระพี่เลี้ยงกันทริมา เกษร น้อยผึ้ง
อำมาตย์สุระ รอง เค้ามูลคดี ธนา สินประสาธน์
คุณท้าวนารีรัตน์ พัชรี เสงี่ยมลักษณ์ สิริยา นฤนาท ลัลลดา แก้วยอดครู
บัวผัน กฤติยา ยอดครู อุภารัตน์ อุตจมัต
บัวเผื่อน
นางยักษ์สกุณา ทัศนีย์ สีดาสมุทร
นางยักษ์กาลี สิดาภา เจิมงามพริ้ง
  1. "ประวัติ ต้น ทิชานนท์ นิลตระการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2022-10-03.