ข้ามไปเนื้อหา

สังข์ศิลป์ชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประติมากรรมรูปสังข์ศิลป์ชัย บนเสาไฟฟ้าริมถนนในเทศบาลนครขอนแก่น

สังศิลป์ชัย หรือ สังข์ศิลป์ไชย เป็นวรรณคดีชิ้นเอกเรื่องหนึ่งในไทยและลาว (ล้านช้างหรือลาวในปัจจุบันเรียก สินไซ[1]) ประพันธ์ขึ้นโดยพระเจ้าสุวรรณปางคำ หรือที่รู้จักในพระนาม เจ้าปางคำ ปฐมกษัตริย์แห่งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ในราว พ.ศ. 2192 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ทุกถ้อยคำที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้มีความหมายไพเราะ แม้ว่าในบทที่แสดงความโกรธแค้นก็ใช้ถ้อยคำสุภาพไม่หยาบคาย และผู้รจนาหนังสือเล่นนี้ยังเป็นปราชญ์ที่มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแตกฉานในภาษาบาลี มีความรู้ภาษาสันสกฤตและราชประเพณีเป็นอย่างดี ภาคเหนือรู้จักในชื่อ สังสิงธนูไชย ภาคอีสานรู้จักในชื่อ สินไซ ภาคกลางเเละใต้รู้จักในชื่อ สังข์ศิลป์ชัย

ประวัติ

[แก้]

แต่เดิมนั้นสังข์ศิลป์ชัยแต่งขึ้นโดยเจ้าปางคำแห่งราชวงศ์เชียงรุ่งแสนหวีโบราณซึ่งได้อพยพไพร่พลครัวเรือนหนีจีนฮ่อมาแต่เชียงรุ่ง และได้เข้ามาพึ่งโพธิสมภารอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งกล่าวว่าท่านแต่งขึ้นมาโดยว่ากันว่าตัดพ้อเรื่องราวของตนที่โดนจีนรุกรานประหนึ่งดั่งพวกยักษ์มาร แต่พระองค์ก็ทรงให้อภัยเมตตาธรรมดำเนิน มีการแต่งเรื่องราวขึ้นที่เป็นร้อยแก้ว และมีการแต่งปรับปรุงโดยมีการเขียนแบบร้อยกรองขึ้นภายหลัง โดยที่ได้ให้ศัพท์โบราณและศัพท์ทางพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง แต่มีความงามในทางอักษรศาสตร์อันเป็นสุนทรียะในบทประพันธ์และมีเนื้อเรื่องชวนติดตาม อันดัดแปลงมาจากปัญญาสชาดก โดยปรากฏชื่อเจ้าปางคำ ผู้รจนากลอนความว่า

          เมื่อนั้น ปางคำคุ้ม คะนึงธรรมทงมาก เห็นรุ่งยามยอดเแก้ว เที่ยวใช้ชาติ
พระองค์ใคร่ จักตกแต่งแปปั่น เป็นไทเอง ชุลีเชินสรวง
ช่วยญาณยามแค้น จตุโลกาก้ำ ไอศวรรย์แสนทีป กับทั้งครุฑนาค
เนานางท้าว เทพคุณเชินช่วย รีร่ำป้อง แปลงกาบกอนปะจิดไว้
แก่ไตร่ตรองบุณ แว่นแยงยามแค้น ตามที่เอง ชุลีเท้าทวานสาม
ประนมนอบมานี้ คุณย่อมยกใส่เก้า ตะเกิงตั้งชู่ยาม
          บัดนี้ ข้าจักปุนแต่งตั้ง ไขชาติแปธรรมก่อน แล้วเป็นที่ยุแยง ฝูงพ่ำเพงพายช้อย
ควรที่ อัศจรรย์ล้ำโลกา โลกเฮานี้ มีในห้าสิบชาติ
แท้เที่ยวใช้ส่งเวร แท้แล้ว

ปัจจุบันพบหลักฐานเนื้อเรื่องเป็นดั้งเดิมเป็นภาษาไทยคือ (นะมัดถุ) เรื่องสังข์ศิลป์ชัยได้รับความนิยมในลาวเช่นกันและทางลาวก็ได้แต่งเพิ่มได้แก่ ยักกะสันบั้น สุบินบั้น บรรพชาบั้น วิปวาสาบั้น[2] ซึ่งที่ลาวได้แต่งขึ้นก็ได้รับความนิยมจากทางอีสานจนมาถึงอยุธยาโดยมีผู้คัดลอกเขียนใส่ใบลานต่อ ๆ กันมาและได้แปลเป็นภาษาไทย และได้จัดรวบทั้งที่ไทยแต่งและลาวแต่งเป็นเรื่องเดียวที่สมบูรณ์

เรื่องย่อ

[แก้]

ที่นครเปงจาล พระยากุศราช เป็นเจ้าเมือง มีน้องสาวรูปงามชื่อนางสุมุณฑา วันหนึ่งนางไปชมสวน มียักษ์กุมภัณฑ์มาอุ้มเอานางไปยังเมืองอโนราช แล้วแต่งตั้งเป็นมเหสี พระยากุศราชเสียใจมาก จึงออกบวชติดตามไปถึงเมืองจำปา และได้พบธิดาทั้ง 7 ของนันทะเศรษฐี จึงสึกและขอนางเป็นมเหสี พระยากุศราชเรียกมเหสีทั้ง 7 มา ให้ทุกนางตั้งจิตอธิษฐานขอเอาลูกชายผู้มีบุญฤทธิ์มาเกิด เพื่อจะได้ติดตามเอานางสุมุณฑากลับคืนมา

พระอินทร์ได้ส่งเทพ 3 องค์มาเกิดในท้องนางทั้งสอง องค์หนึ่งเกิดเป็นสีโห (หัวเป็นช้าง) เกิดในท้องเมียหลวง องค์สองศิลป์ชัย (เป็นคน) และสังข์ทอง (หอยสังข์) เกิดในท้องเมียน้อย เมียหกคนได้คนสามัญมาเกิด โหรหลวงได้ทำนายว่าลูกที่เกิดจากเมียน้อยและเมียหลวงจะเป็นผู้มีบุญ คำทำนายของโหร ไม่เป็นที่พอใจของมเหสีทั้งหก มเหสีทั้งหกจึงว่าจ้างให้โหรทำนายใหม่ โหรเห็นแก่อามิสสินจ้างจึงทำนายใหม่ว่าลูกที่เกิดจากมเหสีทั้ง 6 มีฤทธิ์เดชมาก ลูกที่เกิดจากนางจันทาและนางลุน เป็นทั้งคนทั้งสัตว์ เกิดมาอาภัพอัปปรีย์และจัญไร

เมื่อประสูติ พระยากุศราชจึงขับไล่นางจันทา นางลุน พร้อมพระโอรสออกจากเมือง พระอินทร์เล็งเห็นความทุกข์ยาก จึงมาเนรมิตเมืองไว้ต้อนรับให้ได้อยู่อาศัย ยังเมืองนครศิลป์แห่งนี้ พระยากุศราชเมื่อขับไล่เมียแล้วให้โอรสทั้งหกไปตามเอาน้องสาวของตนคืนจากยักษ์กุมภัณฑ์ โอรสทั้งหกหลงทางมายังเมืองนครศิลป์ และได้โกหกศิลป์ชัย ให้ส่งสัตว์ป่าเข้าเมืองด้วยเพื่อเป็นพยานว่าพวกของตนได้พบกับศิลป์ชัยแล้ว เมื่อถึงเมืองโอรสทั้งหกก็โอ้อวดกับบิดาว่า พวกเขามีอำนาจเรียกสัตว์ทุกชนิดเข้าเมืองได้ ทุกคนก็หลงเชื่อว่าโอรสทั้งหกมีอำนาจ

เมื่อบิดาสั่งให้โอรสทั้งหกติดตามหาอา พวกเขาก็มาโกหกศิลป์ชัยว่าบิดาสั่งให้ศิลป์ชัยไปตามหาอา ถ้าได้อาคืน ความผิดที่แล้วมาพ่อจะยกโทษให้ ศิลป์ชัยและน้องไปถึงด่านงูซวง กุมารทั้งหกไม่กล้าเดินทางต่อไป ให้สังข์ทองกับศิลป์ชัยเดินทางต่อไปรบกับยักษ์ฆ่ายักษ์ตาย เอาอาคืนมาได้ เมื่อถึงแม่น้ำใหญ่ กุมารทั้งหกผลักศิลป์ชัยตกเหว และบอกอาว่าศิลป์ชัยตกน้ำตาย อาไม่เชื่อจึงเอาผ้าสะใบ ปิ่นเกล้าและช้องผมเสี่ยงทายไว้ เมื่อกลับมาถึงเมือง พระยากุศราชได้จัดงานต้อนรับ และทราบความจริงว่ากุมารทั้งหกเป็นคนโกหกมาโดยตลอดจึงถูกลงโทษขังคุกพร้อมมารดาของตน

พระยากุศราชพร้อมน้องสาวเชิญเอานางจันทาและนางลุน พร้อมศิลป์ชัย สีโหและสังข์ทองเข้ามาในเมือง อภิเษกศิลป์ชัยให้เป็นเจ้าเมืองเปงจาล ต่อมาศิลป์ชัยได้ปล่อยให้คนทั้งหมดออกจากคุก ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบมา ส่วนยักษ์กุมภัณฑ์นั้น พระยาเวสสุวัณได้ชุบชีวิตคืนชีพขึ้นมา คิดถึงนางสุมุณฑาผู้เป็นมเหสี จึงไปสู่ขอนางจากศิลป์ชัย และทั้งสองอยู่เป็นสุขตราบสิ้นอายุ[3]

การพรรณนา

[แก้]

พรรณนาความสวยงามของธรรมชาติ

[แก้]
          กอยแฮงขึ้น เขาวงเวระบาด หอมเกษแก้ว โฮยเฮ้าทั่วทรวง
กงสะถานกั่ว เกี้ยงลมเลียบตาด บานเบงต้น แคค้อมแค่ผา
สะพากหญ้า เขียวคู่คอยูง ลางลือประดับ ดอกกาวแกมแก้ว
สาระพันผึ้ง ผายแคคันธะชาติ แมงภู่แส้ว แสวงซ้อนส่วนสน.....

พรรณนาสภาพความเป็นอยู่ของชาวอีสาน

[แก้]
          ......พวกหนึ่ง ให้แต่งตั้ง ประดับช่อทุ่งไซ เลียนเป็นถัน เฮื่อเฮืองเหลืองเหลื่อม
ขาวเหลืองแหล่ แดงออนอิดอ่อน ก็มี เดียระดาษล้อม สองข้างแค่ทาง
พวกหนึ่ง ตั้งหลาดแก้ว ขายจ่ายเอาของ ยูงถ่างทาง เป็นจารไถ่เอา ลือไฮ้
พวกหนึ่งนั้น ตั้งหลาดจ่ายคำเหลือง 5 บาทเป็งต่อ 1 บาทคำ เหลืองแท้
ฝูงหมู่ โยธาชาวเป็งจาล ไถ่เอาเหลือล้น พวกหนึ่งนั้น ตั้งหลาดจ่ายทองแดง ก็มี
ทั้งทองเหลือง อะเนกนองกองล้น พวกหนึ่ง ตั้งหลาดชิ้น บ่อมีต้อนปาแกม
มีแต่มังสังทั้ง สุราใส่ในแสนตื้อ พวกหนึ่ง ให้แต่งตั้ง หลาดจ่ายขายปา ก็มี
ทั้งพูวัน หมากยามีพร้อม พวกหนึ่ง ขายแต่กาสา ผ้าแฮลวงลายเทศ
ทั้งแผ่นเสื้อ แพลั้วยอดตอง......

อ้างอิง

[แก้]
  1. สินไซ - “ฐานที่มั่นทางวัฒนธรรม" ของชาวลาว-อีสาน
  2. "สังข์ศิลป์ชัย วิกิซอร์ซ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-30. สืบค้นเมื่อ 2012-09-27.
  3. "สังข์ศิลป์ชัย ต้นฉบับปริวรรตเป็นอักษรไทย โดยนายปรีชา พิณทอง โรงพิมพ์ศิริธรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-09-27.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]