ข้ามไปเนื้อหา

พระเสตังคมณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว)
ชื่อเต็มพระเสตังคมณี
ชื่อสามัญพระแก้วขาว
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย
ความกว้าง4 นิ้ว
ความสูง6 นิ้ว
วัสดุแก้วสีขาวใส
สถานที่ประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดเชียงมั่น
ความสำคัญเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์กษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย และกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระเสตังคมณี หรือ พระแก้วขาว (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นพระพุทธรูปสลักจากแก้วสีขาวใส มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 6 นิ้ว ตำนานกล่าวว่าเป็นศิลปะสกุลช่างละโว้ ปัจจุบันประดิษฐานคู่กับพระศิลาซึ่งเป็นพระปางปราบช้างนาฬาคีรี ภายในพระวิหารวัดเชียงมั่น ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

พระแก้วขาว เป็นชื่อพระพุทธรูปเรียกพระพุทธรูปที่สร้างด้วยหินสีขาว ภาษาบาลีเรียกว่า "พระเสตังคมณี" มาจากคำว่า "เสต" แปลว่า ขาว และ "มณี" แปลว่า แก้ว แปลรวมว่าพระแก้วขาว ประดิษฐานที่วิหารวัดเชียงมั่น อำเภอเมือง เชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระเศียรหุ้มด้วยทองคำประดิษฐานบนแท่นไม้จันทน์หุ้มด้วยแผ่นทองคำใต้ฐานมีข้อความจารึกว่า เมื่อ พ.ศ. 2416 พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระราชบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พร้อมด้วยเจ้าแม่ทิพยเกษรและราชบุตรราชธิดาสร้างถวายแด่พระเสตังคมณี

ตำนานพระเสตังคมณี

[แก้]

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว 700 ปี ในวันเพ็ญเดือน 7 สุเทวฤๅษีได้นำเอาดอกจำปา 5 ดอกขึ้นไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบปะสนทนาด้วยพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ได้บอกแก่สุเทวฤๅษีว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญ ที่ลวะรัฎฐจะสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วขาว ครั้นสุเทวฤๅษีกลับจากดาวดึงส์เทวโลกแล้วจึงไปสู่เมืองละโว้ ขณะนั้นพระยารามราชเจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถรเจ้าปรารภการที่จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันทเทวบุตรแล้วขอพระวิษณุกรรมมาเนรมิต สำเร็จรูปเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤๅษีและฤๅษีอื่น ๆ ก็ได้ไปประชุมช่วยในการสร้างพระด้วย เมื่อสำเร็จแล้วจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 4 องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) 1 องค์ พระนลาฏ (หน้าผาก) 1 องค์ พระอุระ (หน้าอก) 1 องค์ พระโอษฐ์ (ปาก) 1 องค์ รวม 4 แห่ง

เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระแก้วขาวจึงได้ประดิษฐานที่เมืองละโว้มาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งสุเทวฤๅษีสร้างนครหริภุญชัยขึ้นแล้ว จึงได้เชิญเสด็จพระแม่เจ้าจามเทวี พระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้มาครองนครหริภุญชัย พระแม่เจ้าจามเทวีจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงประดิษฐาน ณ นครหริภุญชัยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

พญามังรายได้ยึดครองนครหริภุญชัยได้ใน พ.ศ. 1824 และได้เผาเมือง ต่อมาพญามังรายได้เสด็จตรวจความเสียหาย พบว่าหอพระในพระราชวังไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ เมื่อทอดพระเนตรดูพบว่าพระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ ณ ที่หอพระ จึงเกิดพระราชศรัทธาและอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานยังที่ประทับของพระองค์ และบูชาเป็นพระพุทธรูปพระจำพระองค์

เมื่อพญามังรายสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานีในปี พ.ศ. 1839 จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชวัง คือบริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน จนกระทั่งในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) และพระแก้วขาวตามอย่างโลหะปราสาทของกรุงลังกาไว้ในพระอารามราชกุฎาคารเจดีย์ หรือวัดเจดีย์หลวง

ประมาณ พ.ศ. 2035 ในรัชสมัยพระยอดเชียงรายครองนครเชียงใหม่ มีคนร้ายขโมยพระแก้วขาวไปถวายกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยอดเชียงรายจึงยกทัพติดตามไปอัญเชิญพระแก้วขาวกลับมาประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ตามเดิม

พ.ศ. 2089 พระแก้วขาวตกไปอยู่กับอาณาจักรล้านช้างเป็นเวลากว่า 225 ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปปราบล้านช้างสำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น อันเป็นที่ซึ่งพญามังรายมีพระราชศรัทธาอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก

พระแก้วขาวหรือพระเสตังคมณีประดิษฐานเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครเชียงใหม่จึงได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ซ่อมแซมอยู่เสมอ ในปี พ.ศ. 2416 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้เป็นประธานในการสร้างแท่นแกะสลักด้วยไม้แก่นจันทน์หุ้มด้วยทองคำหนัก 300 บาท 3 ซีก เจ้าราชภาคินัยและเจ้าอุบลวัณณา สร้างฉัตรทองคำถวายหนัก 100 บาท พร้อมกับจารึกบนแผ่นทองคำใต้แท่นพระเป็นภาษาล้านนาไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาฉัตรทองคำได้หายไปคงเหลือแต่ที่ปักแกนก้านฉัตรเท่านั้น

ปี พ.ศ. 2539 นครเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี จึงได้มีการบูรณะฐานพระแก้วขาว เนื่องจากได้มีการอัญเชิญพระแก้วขาวออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี ทำให้เนื้อไม้แก่นจันทน์บวมขยายออก มีผลให้แผ่นทองคำที่หุ้มอยู่ปริแตก นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างฉัตรทองคำน้ำหนัก 123 บาท ประดับเพชร 9 เม็ด และพลอยอีก 37 เม็ด ถวายแด่พระแก้วขาวด้วย

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • กรมศิลปากร และวัดสังฆารามเชียงมั่น. 2539. เชียงมั่น: วัดแรกในเชียงใหม่. ที่ระลึกงานประเพณีนมัสการพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) พระศิลา ปอยหลวงพระวิหาร พระเจดีย์ถาวรวัตถุและฉลองสมโภชวัดเชียงมั่นเมืองเชียงใหม่ 700 ปี ณ วัดเชียงมั่น ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 1-5 เมษายน พ.ศ. 2539.
  • ตำนานพระแก้วขาวกับพระศิลา วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่. 2544. พิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองสมโภชอุโบสถวัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่ 700 ปี.