พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ)
พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2476 อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี สยาม (89 ปี) |
มรณภาพ | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566 โรงพยาบาลกรุงเทพ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | นักธรรมเอก |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 |
พรรษา | 70 |
ตำแหน่ง | ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร |
พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) เป็นพระราชาคณะชั้นราช ดำรงตำแหน่งตำแหน่งทางพระสังฆาธิการเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการแต่งหนังสือสวดมนต์ มนต์พิธี ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมพระพุทธมนต์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นที่นิยมสำหรับพระภิกษุและสามเณรผู้เตรียมตัวบวช ตลอดจนพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย[1]
ประวัติ
[แก้]ปฐมวัย
[แก้]พระราชวัชรรังษี มีนามเดิมว่า เอี่ยม นามสกุลสุภราช เป็นบุตรของนายกรุย สุภราช ผู้เป็นบิดา และนางแคล้ว สุภราช (ต่อมานามสกุล คำสุข) ผู้เป็นมารดา เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2476 ที่บ้านพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศสยาม (ปัจจุบันคือ ประเทศไทย) มีพี่น้อง 5 คน
โดยช่วงปฐมวัยได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดพังตรุ ขณะเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บิดาเสียชีวิต ประกอบกับมีอาการป่วย มารดาจึงอธิษฐานว่า "ถ้าหายจะให้บวช 7 วัน" แต่เมื่อถึงชั้นประถมศึกษาที่ 4 มารดาเสียชีวิต เมื่ออายุ 17 ปี ได้แจ้งความประสงค์กับยาย จึงได้บวชบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ณ วัดสาลวนาราม (ดอนตาเพชร) อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2494 สอบได้นักธรรมชั้นตรีถึงนักธรรมชั้นโท[2] สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
อุปสมบท
[แก้]โดยเมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ณ พัทธสีมาอุโบสถวัดเบ็ญพาด อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีพระครูพนมธรรมรัต (ซ้ง อินฺทสโร) วัดสาลวนาราม (ดอนตาเพชร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเพิ่ม วัดดอนงิ้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์, และพระเหลือ วัดสาลวนาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า สิริวณฺโณ ในช่วงเดียวกัน พระภิกษุเอี่ยม สิริวณฺโณ ได้เดินทางศึกษาต่อที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จนสำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอก สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
เมื่อปี พ.ศ. 2499 ได้เป็นครูสอนบาลีที่วัดคูหาสวรรค์ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2500 ย้ายอยู่วัดสุทธิวาตวราราม จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนเป็นเลขานุการเจ้าคณะตำบลที่วัดแหลมสุวรรณาราม จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมา ย้ายพำนักที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค 16 เมื่อปี พ.ศ. 2507 ดำรงตำแหน่ง 5 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2511 ย้ายพำนักที่วัดราษฎร์บำรุง จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นครูสอนวิชาสามัญศึกษาและเป็นพระเลขานุการส่วนตัวของพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)[3]
การแต่งตำรา รวบรวมบทพระคาถาทางพระพุทธศาสนา "หนังสือมนต์พิธี"
[แก้]— คำปรารถในหนังสือ มนต์พิธี โดยพระราชวัชรรังษี
เมื่อปี พ.ศ. 2513 พระเสวย พุทฺธเทโว เป็นภิกษุบวชใหม่มีความสนใจในหนังสือสวดมนต์ แต่ไม่เป็นที่น่าปราถนา จึงชักชวนพระเอี่ยมแต่งหนังสือสวดมนต์ โดยพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 1,000 เล่ม ถวายภิกษุภายในจังหวัดชลบุรี ต่อมา จึงมีรวบรวมพระพุทธมนต์ พระคาถา และคำที่ใช้ในพิธีกรรม โดยหนังสือมีชื่อว่า สวดมนต์และศาสนพิธี พิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม โดยเป็นที่นิยมในภิกษุและพุทธศาสนิกชนในจังหวัดชลบุรี
เมื่อปี พ.ศ. 2515 หนังสือเป็นที่นิยมอย่างมากในภิกษุและพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยจึงเปลี่ยนชื่อว่า มนต์พิธี โดยมีพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) เป็นผู้เขียนคำนำ เมื่อปี พ.ศ. 2520 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลหนองเหียง และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บำรุง เมื่อปี พ.ศ. 2523 ย้ายกลับพำนักที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2529 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดประดู่ในทรงธรรม
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามว่า พระครูอรุณธรรมรังษี ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
เมื่อปี พ.ศ. 2560 สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ ได้ติดต่อเพื่อขอลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์หนังสือ มนต์พิธี และหนังสือที่แต่งโดยพระครูอรุณธรรมรังษี ให้เป็นผู้ดูแลการจัดพิมพ์และเผยแพร่[4]
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์เป็น พระราชวัชรรังษี เป็นพระราชาคณะชั้นราช สถิตวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด พระครูสังฆรักษ์ พระครูสมุห์ และพระครูใบฎีกา[5]
มรณภาพ
[แก้]เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566 พระราชวัชรรังษี ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครด้วยอาการสงบ[6][7]
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และพวงมาลาส่วนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานพวงมาลาส่วนพระองค์[8] เมื่อบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวาร ต่อมา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานเมรุวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เป็นประธานในพิธี
สมณศักดิ์
[แก้]- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ พระครูสัญญาบัตร มีพัดยศประจำตำแหน่งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท (ผจล.ชท.) ในราชทินนามที่ พระครูอรุณธรรมรังษี
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โปรดให้เลื่อนชั้นสมณศักดิ์พัดยศ ตามมติมหาเถรสมาคม เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก (ผจล.ชอ.) ในราชทินนามเดิมที่ พระครูอรุณธรรมรังษี
- 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พัดยศขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชวัชรรังษี พุทธมนต์พิธีธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ มงคลข่าวสด - พระราชวัชรรังษี เจ้าตำรับ‘มนต์พิธี’ – ข่าวสด
- ↑ องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ไปถวายแด่พระราชวัชรรังษี วัดอรุณราชวราราม – ช่อง 7
- ↑ อัญเชิญสัญญาบัตร-พัดยศ ถวาย‘พระราชวัชรรังษี(เอี่ยม)’ – ข่าวสด
- ↑ ประวัติพระครูอรุณธรรมรังษี – มนต์พิธี.คอม
- ↑ โปรดเกล้าฯตั้งสมณศักดิ์ "พระครูอรุณธรรมรังษี" – "พระครูจิรวัฒนธำรง" – เดลินิวส์
- ↑ พระราชวัชรรังษี วัดอรุณราชวราราม ผู้เรียบเรียงหนังสือ มนต์พิธี มรณภาพ – คมชัดลึก
- ↑ คณะศิษย์สุดอาลัย “พระราชวัชรรังษี” เจ้าตำรับหนังสือมนต์พิธีมรณภาพ – เดลินิวส์
- ↑ วัดอรุณฯ จัดพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ “พระราชวัชรรังษี” วันที่ 12 มิ.ย. – เดลินิวส์
- ↑ โปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์หลวงปู่เอี่ยม ผู้เรียบเรียงหนังสือมนต์พิธี ที่ "พระราชวัชรรังษี" – บ้านเมือง