ข้ามไปเนื้อหา

พระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพชร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยอดเมืองขวาง
(ขำ ยอดเพชร)
เกิดพ.ศ. 2395
เมืองนครสวรรค์ อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ถึงแก่กรรม7 เมษายน พ.ศ. 2443 (48 ปี)
เมืองนครสวรรค์ ประเทศสยาม
สาเหตุเสียชีวิตวัณโรค
สัญชาติสยาม
บิดามารดาพระยาไกรเพ็ชร์ (มิตร กฤษณมิตร)

พันตรี พระยอดเมืองขวาง (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2443) เป็นขุนนางสยามในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขาเป็นเจ้าเมืองชาวสยามคนสุดท้ายของเมืองคำม่วน ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลลาวพวน ติดกับอันนัม (รัฐในอารักขาฝรั่งเศส) เขารับราชการภายใต้การบังคับบัญชาของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวนในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระราชอนุชาต่างพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ

[แก้]

พระยอดเมืองขวาง เดิมชื่อ ขำ เป็นต้นสกุล ยอดเพ็ชร์ เกิดเมื่อปีชวด ร.ศ. 71 (พ.ศ. 2395) ที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบุตรของพระยาไกรเพ็ชร์ (มิตร กฤษณมิตร) เริ่มรับราชการเป็นข้าหลวงผู้ช่วยในกองข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์ รักษาราชการกองข้าหลวงลาวกาว ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยอดเมืองขวาง ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองคำม่วน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2428 รับผิดชอบบ้านนาเป คำเกิด คำม่วน นากาย ปากพิบูลย์ และแก่งเจ๊ก มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนาม [1]

กรณีพิพาท

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างการปักปันเขตแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสต้องการเมืองคำม่วน กองทหารนำโดยมองซิเออร์ลูซ (Luce) บังคับให้พระยอดเมืองขวางออกจากเมืองคำม่วน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 แต่พระยอดเมืองขวางไม่ยินยอม จึงเกิดการสู้รบกันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 เมื่อนายลูซ สั่งให้นายกรอสกุรัง พร้อมกับทหารญวน เข้ามาจับกุมหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวาง ที่ตำบลนาหลักหิน ปลายด่านคำม่วนต่อกับเมืองท่าอุเทนของฝั่งไทย และเกิดการต่อสู้กัน ทำให้นายกรอสกุรังเสียชีวิตพร้อมกับทหารญวน 11-12 คน บาดเจ็บ 3 คน ฝ่ายทหารไทยเสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 4 คน [2][3]

จากเหตุการณ์นี้ นายออกุสต์ ปาวีไม่พอใจ กล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางเป็นฆาตกร บุกเข้าไปทำร้ายนายกรอสกุรังขณะนอนป่วยอยู่ในที่พัก และนำเรื่องขึ้นพิจารณาคดีในศาลรับสั่งพิเศษ รัชกาลที่ 5 โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร แม่ทัพใหญ่อีสานใต้เป็นประธานคณะผู้พิพากษา ซึ่งประกอบด้วย พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ พระยาธรรมสารนิติ์ พระยาฤทธิรงค์ พระยาธรรมสารเนตติ์ มีหลวงสุนทรโกษา และนายหัสบำเรอ อัยการเป็นทนายฝ่ายโจทก์ มีนายตีเลกี (William Alfred Tilleke ต่อมารับราชการเป็น พระยาอรรถการประสิทธิ์ ต้นสกุล คุณะดิลก) และนายเวอร์นอน เพจ (Vernon Page ชาวอังกฤษ) เป็นทนายจำเลย [2]

การพิจารณา

[แก้]
พระยอดเมืองขวาง ขณะปฏิบัติราชการสนามในฐานะเจ้าเมืองคำม่วน

การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ดำเนินเป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 16 มีนาคม พ.ศ. 2437 ศาลมีคำพิพากษาว่า พระยอดเมืองขวางไม่มีความผิดตามฟ้อง และให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ สร้างความไม่พอใจให้กับนายลาเนสซัง ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน และขอให้จัดตั้งศาลผสมไทย-ฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน เดินทางมาจากไซ่ง่อน สยาม 2 คน พิจารณาคดีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2437 และตัดสินให้จำคุกพระยอดเมืองขวาง 20 ปี ด้วยเสียงข้างมาก 3 เสียงของฝ่ายฝรั่งเศส

พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกอยู่ 4 ปี ก็ได้รับอิสรภาพ จากคำร้องขอของรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 [4] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ 500 บาท เขาได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ ต่อมาได้ล้มป่วยด้วยวัณโรค และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443)[5] อายุได้ 48 ปี ขณะดำรงตำแหน่ง ปลัดเมืองนครสวรรค์ เป็นต้นสกุล "ยอดเพ็ชร์" และ "กฤษณมิตร"

ภาพลักษณ์และชื่อเสียง

[แก้]
สัญลักษณ์ของกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 ค่ายพระยอดเมืองขวาง

ชื่อของพระยอดเมืองขวาง ภายหลังได้มีการนำไปใช้เป็นชื่อค่ายทหาร 1 แห่ง และค่ายตำรวจตระเวนชายแดน 1 แห่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ ซึ่งได้แก่

  1. ค่ายพระยอดเมืองขวาง มณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) (เดิม จังหวัดทหารบกนครพนม)[6] และ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 ตั้งอยู่ที่บ้านพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม[7]
  2. ค่ายพระยอดเมืองขวาง กองกำกับการ 3 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหอย ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เขตแดนสยามกับชาติตะวันตกเมื่อครั้งอตีตกาล เก็บถาวร 2007-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2754 ปีที่ 53 ประจำวัน อังคาร ที่ 31 กรกฎาคม 2550
  2. 2.0 2.1 ส. ทรงศักดิ์ศรี. ยอดคนวรรณกรรม. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, [ม.ป.ป.]. 208 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-602-642-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  3. คดีพระยอดเมืองขวาง ร.ศ.112[ลิงก์เสีย]
  4. คดีพระยอดเมืองขวาง จาก พันทิป
  5. ราชกิจจานุเบกษา. ข่าวตายหัวเมือง. เล่ม 17, ตอน 3, วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2443, หน้า 21.
  6. เว็บไซต์ มณฑทหารบกที่ 210[ลิงก์เสีย]
  7. ประวัติค่ายพระยอดเมืองขวาง (มณฑลทหารบกที่ 210)[ลิงก์เสีย]
  8. ประวัติกองกำกับการ ๓ กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายพระยอดเมืองขวาง[ลิงก์เสีย]
  9. พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ไปหัวเมือง